ผู้ชมทั้งหมด 1,829
บางจากฯ ในฐานะ Communication Partner ของ APEC 2022 Thailand ร่วมเสวนา “APEC and Business Sustainability” ที่มหาวิทยาลัยมหิดล หนุนใช้ BCG Model ขับเคลื่อนธุรกิจสู่ความยั่งยืน
นางกลอยตา ณ ถลาง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานสื่อสารองค์กรและกิจการเพื่อความยั่งยืน บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ในนามบางจากฯ ร่วมเสวนาในการประชุมวิชาการระดับนานาชาติและกิจกรรมระดมสมอง APEC Media Focus Group ครั้งที่ 5 ภายใต้หัวข้อ “APEC and Business Sustainability” จัดโดยกระทรวงการต่างประเทศ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยมหิดล ณ มหิดลสิทธาคาร ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือในฐานะ Communication Partner ของ APEC 2022 Thailand เพื่อสนับสนุนการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค (APEC 2022) และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ตลอดปี 2565 ของประเทศไทย
โดยได้รับเกียรติจากนายธานี ทองภักดี ปลัดกระทรวงการต่างประเทศและประธานเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปค เป็นผู้กล่าวปาฐกถา ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวเปิดกิจกรรม และนายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ เป็นผู้ดำเนินการเสวนาอภิปรายเกี่ยวกับโมเดลเศรษฐกิจ BCG ของไทยและการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน ทั้งในด้านการแพทย์ สุขภาวะ และพลังงาน โดยนำเสนอตัวอย่างของอุตสาหกรรมที่ขับเคลื่อนด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG รวมถึงการใช้นวัตกรรมเพื่อมุ่งสู่อนาคตที่ยั่งยืน โดยนำเทคโนโลยีมาช่วยพัฒนาและอำนวยความสะดวก
นางกลอยตา กล่าวว่า แนวทางความยั่งยืนที่กลุ่มบางจากฯ ได้ดำเนินงานมาโดยตลอด โดยน้อมนำแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นพื้นฐาน และมีการทำธุรกิจซึ่งทั้งสอดรับกับ BCG Model ผ่านหลากหลายผลิตภัณฑ์และโครงการ ทั้งการต่อยอดธุรกิจเชื้อเพลิงชีวภาพสู่ Synthetic Biology การใช้น้ำในโรงกลั่นบางจากให้มีประสิทธิภาพสูงสุด โดยโรงกลั่นบางจากเป็นโรงกลั่นรายแรกในประเทศไทยที่ได้รับใบรับรอง Water Footprint โครงการรีไซเคิลต่าง ๆ ที่เชิญชวนผู้บริโภคเข้าร่วม เช่น แก้วเพาะกล้า รักษ์ ปัน สุข ฯลฯ ธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด และแพลตฟอร์มให้บริการรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า Winnonie รวมถึงธุรกิจผลิตน้ำมันเครื่องบินจากน้ำมันพืชใช้แล้วหรือ SAF (Sustainable Aviation Fuel – ผลิตภัณฑ์เชื้อเพลิงอากาศยานชีวภาพ) ที่บางจากฯ จะเป็นผู้ผลิตรายแรกของไทย และแผนงาน BCP NET ของกลุ่มบางจากฯ เพื่อสนองตอบต่อเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net zero) ในปี ค.ศ. 2050
อย่างไรก็ตาม การประชุมครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมการประชุมเป็นคณะทูตานุทูต ข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศ คณาจารย์ นักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล APEC Communication Partners ภาคเอกชน ภาครัฐ และสื่อมวลชน รวมถึงแขกผู้มีเกียรติจำนวนรวมมากกว่า 100 คน