PTT เร่งผลักดันไทยเป็นฮับ LNG ปี 73 วางเป้าขาย LNG 9 ล้านตัน

ผู้ชมทั้งหมด 796 

PTT เร่งผลักดันไทยเป็นฮับ LNG ปี 73 วางเป้าขาย LNG 9 ล้านตัน เริ่มทดลองส่งออกจีน ญี่ปุ่น ลาว กัมพูชา ชี้ LNG เป็นพลังงานสะอาดยังมีบทบาทสำคัญในอนาคต ขณะในปีนี้คาดต้องการใช้อยู่ในระดับ 8 ล้านตัน

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน)(PTT) เปิดเผยในงาน “ฟิวเจอร์ เอนเนอร์ยี เอเชีย” (Future Energy Asia) และ “ฟิวเจอร์ โมบิลิตี้ เอเชีย” (Future Mobility Asia) ประจำปี 2565 ว่า แนวโน้มการใช้พลังงานแบบเดิมกำลังเปลี่ยนแปลงในอนาคต กลุ่มปตท.จึงเร่งปรับตัวภายใต้วิสัยทัศน์ใหม่ “ Powering life with Future Energy and Beyond “ หรือการขับเคลื่อนทุกชีวิตด้วยพลังงานแห่งอนาคต

โดยได้มีการปรับเปลี่ยนแนวทางการลงทุนที่เน้นขยายการลงทุนในพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น โดยร่วมลงทุนในบริษัท โกลบอล รีนิวเอเบิล เพาเวอร์ จำกัด หรือ GRP เป็นบริษัทย่อยของบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC เพื่อขยายการลงทุนพลังงานหมุนเวียนในต่างประเทศ ส่วน GPSC จะเน้นการลงทุนภายในประเทศ

นอกจากนี้ยังขยายการลงทุนสู่ EV Value Chain โดยร่วมมือกับพันธมิตรอย่าง Foxconn ในการตั้งโรงงานรับจ้างผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ซึ่งตั้งเป้าครึ่งปีแรกของปี 2567 จะผลิตรถยนต์ไฟฟ้า พร้อมกับลงทุนในธุรกิจแบตเตอรี่ และเร่งขยายสถานีชาร์จยานยนต์ไฟฟ้า(EV Charging Station) ทั้งในและนอกสถานีบริการน้ำมัน รวมทั้งขยายสู่ธุรกิจที่นอกเหนือจากพลังงาน ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจ Life Sciences โดยมีสัดส่วนการลงทุนราว 30% ภายในปี 2573 และกำหนดบทบาทด้านพลังงานยั่งยืนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยก๊าซธรรมชาติถือเป็นเชื้อเพลิงฟอสซิลที่สะอาดและเป็นพลังงานในช่วงเปลี่ยนผ่านที่มีบทบาทสำคัญ

ดังนั้นแผนการลงทุนธุรกิจก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ของปตท.จึงได้วางเป้าหมายให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการซื้อขาย LNG หรือ Regional LNG Hub ของภูมิภาคอาเซียน และตั้งเป้ามีปริมาณการค้าขาย LNG ในปี 2573 อยู่ที่ 9 ล้านตัน ซึ่งตนเชื่อมั่นว่าไทยมีศักยภาพเพียงพอที่จะเป็น Regional LNG Hub ของภูมิภาคอาเซียนได้ เนื่องจากไทยมีจุดแข็งที่เป็นประเทศศูนย์กลางของภูมิภาค มีโครงสร้างพื้นฐานรองรับทั้งระบบท่อส่งก๊าซที่ครอบคลุม ระบบการขนส่งที่ดี คลังจัดเก็บและแปรสภาพก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG Receiving Terminal) รองรับการนำเข้า LNG ได้ถึง 19 ล้านตันต่อปีนับว่าใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน ขณะที่ความต้องการใช้ LNG ในปีนี้อยู่ที่ 8 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มีความต้องการใช้ LNG อยู่ที่ 5.9 ล้านตัน โดยตนมั่นใจว่าความต้องการใช้ LNG จะยังเติบโตอย่างมีนัยสำคัญในระยะยาว

ทั้งนี้เพื่อผลักดันให้ไทยเป็น Regional LNG Hub ของภูมิภาคนั้นที่ผ่านมา ปตท.ได้ทดลองนำเข้าส่งออก LNG ไปยังประเทศจีนตอนใต้ สปป.ลาว กัมพูชา โดยการขนส่งด้วยวิธีใหม่ ISO-Container ผ่านทางรถบรรทุก และได้ส่งออกแบบรีเอ็กซ์ปอร์ตไปยังประเทศญี่ปุ่น และมีแผนที่จะส่งออกไปยังประเทศอื่นเพิ่มเติมอีก แต่อย่างไรก็ตามก็คงต้องเน้นขายในประเทศเป็นหลักเพราะความต้องการยังมีสูง

นายวุฒิกร สติฐิต รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปตท.ได้เริ่มทยอยนำเข้า LNG ในสัดส่วนที่เพิ่มเติม 4.5 ล้านตันแล้วตามมติของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ซึ่งเป็นส่วนเพิ่มที่นอกเหนือจากสัญญาซื้อขาย LNG ระยะยาว 5.2 ล้านตัน 

อย่างไรก็ตามในครึ่งหลังปี 2565 คาดว่า ปริมาณการนำเข้าLNG ส่วนเพิ่มได้น้อยกว่า 2 ล้านตัน ก็จะทำให้การนำเข้า LNG ส่วนเพิ่มเติมได้ไม่เกิน 4 ล้านตัน เนื่องจากราคา LNG ตลาดจร (Spot) มีราคาผันผวนมากส่งผลให้ล่าสุดราคา LNG Spot ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงอยู่ที่ 40 เหรียญสหรัฐ/ล้านบีทียู ส่งผลให้โรงไฟฟ้าบางแห่งได้ปรับไปใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าแทน LNG

นอกจากนี้แล้ว ปตท. ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาเพื่อจัดหา LNG ระยะยาวเพิ่มอีก 1 ล้านตันต่อปี เพิ่มเติมจากสัญญาระยะยาวที่มีการลงนามแล้ว 5.2 ล้านตัน ตามมติ กพช. ที่ให้เริ่มส่งมอบ LNG ตั้งแต่เดือนมกราคม 2569 เป็นระยะเวลา 15-20 ปี