ผู้ชมทั้งหมด 1,078
ทีม PRISM Experts กลุ่ม ปตท. แนะอุตสาหกรรมปิโตรเคมี เร่งปรับพอร์ตผลิต-การขาย รวดเร็วรับทิศทางตลาดเปลี่ยน เล็งหาช่องทางเพิ่มโอกาสธุรกิจ ชี้ ความต้องการใช้พลาสติกชนิด โพลีโพรพิลีน (PP) และ โพลีเอทิลีน (PE) ยังเติบโต ขณะที่ อะโรเมติกส์ ถูกกดดันจากซัพพลาย
การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เกิดขึ้นในช่วงเกือบ 3 ปี หรือตั้งแต่ปลายปี 2562 ที่ผ่านมาส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนบนโลกเปลี่ยนแปลงไปจากอดีต หรือ ชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) ประกอบกับปัญหาสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ที่สร้างความผันผวนต่อราคาพลังงานโลกในทิศทางขาขึ้น สร้างผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อเร่งตัวสูงขึ้น และฉุดการเติบโตของเศรษฐกิจทั่วโลก ทำให้ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมต่างต้องเร่งปรับตัวให้ทันต่อสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
ทีม PRISM Experts ของกลุ่ม ปตท. จึงได้งานสัมมนาออนไลน์ “2022 PTT Group The Petrochemical Outlook Forum” ในหัวข้อ “Moving forward in the Post-COVID era” เพื่อประเมินทิศทางและโอกาสของอุตสาหกรรมปิโตรเคมี
นายเดชาธร ฐิสิฐสกร Marketing Strategy and Data Science บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC ระบุว่า ปี2564 ประเทศไทยมีความต้องการใช้พลาสติก อยู่ที่ 4.9 ล้านตัน โดย 80% เป็นการใช้ในอุตสาหกรรมหลัก คือ แพคเกจจิ้ง อิเล็กทรอนิกส์ รถยนต์ และก่อสร้าง ซึ่งคาดการณ์ว่า ใน 7 ปีข้างหน้า ความต้องการใช้พลาสติกทั้ง โพลีโพรพิลีน (PP) และ โพลีเอทิลีน (PE) จะยังเติบโตสูงขึ้น ขณะที่การเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรโลก ทำให้คาดการณ์ว่า หากมีการบริโภคในอัตราที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจะส่งผลให้ทรัพยากรธรรมชาติจะหมดลงภายใน 20 ปีข้างหน้า
ดังนั้น การนำเรื่องของรีไซเคิลเข้ามาใช้จะช่วยยืดอายุทรัพยกรต่างๆ ส่งผลให้ เม็ดพลาสติกรีไซเคิล จะมีความต้องการใช้เติบโตขึ้น โดยประมาณการณ์ว่า ในปี 2583 เม็ดพลาสติกรีไซเคิล จะเติบโต 9% ของปริมาณการใช้พลาสติกทั่วโลก
อย่างไรก็ตาม การเติบโตของเม็ดพลาสติก จะควบคู่ไปกับ 2 ทิศทางหลัก คือ เรื่องของสิ่งแวดล้อม ที่จะให้ความสำคัญกับ เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และ อุตสาหกรรมใหม่ (s-curve) ซึ่งจะมีเรื่องของยายยนต์ไฟฟ้า(EV) ที่จะเข้ามามีบทบาทกับการรักษาสิ่งแวดล้อม การใช้หุ่นยนต์ และเทคโนโลยีใหม่ๆ เป็นต้น
นายธีรัช ศฤงคารินทร์ Marketing Analyst บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC กล่าวว่า ปัจจุบัน ทั่วโลกมีความต้องการใช้ พลาสติกชนิด โพลีเอทิลีน (PE) สัดส่วนประมาณ 38% ของพลาสติก โดยประเทศไทยเองก็มีความต้องการใช้ โพลีเอทิลีน (PE) อยู่ที่ประมาณ 40% และอุตสาหกรรมแพคเกจจิ้ง มีความต้องการใช้มากที่สุด ขณะเดียวกัน คาดการณ์ว่า ปี 2569 ทั่วโลกจะมีความต้องการใช้โพลีเอทิลีน (PE) อยู่ที่ 12 ล้านตันต่อปี จากปี2564 มีการใช้อยู่ที่ 7 ล้านตันต่อปี
น.ส.นิรมล วุฒิพฤกษ์ Manager,Business Planning and Risk Management บริษัท เอ็ชเอ็มซี โปลีเมอส์ จำกัดกล่าวว่า ในปี2565 อุตสาหกรรมปิโตรเคมี ยังต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงทางธุรกิจทั้งการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังไม่สิ้นสุดลง ประเทศจีน กำลังกลับมาเผชิญกับปัญหาโควิด-19 เกิดการปิดประเทศ กระทบต่อการขนส่ง และปัญหารัสเซียกับยูเครน ที่ยังซ้ำเติมราคาพลังงานปรับตัวสูงขึ้น จนกระทบต่อต้นทุนปิโตรเคมี
ดังนั้น อุตสาหกรรมปิโตรเคมีจะต้องเร่งปรับพอร์ตการผลิตและการขาย ให้สอดคล้องกับทิศทางตลาดที่จะเปลี่ยนแปลง และต้องปรับตัวอย่างรวดเร็ว พร้อมมองหาโอกาสทางธุรกิจ
โดยในส่วนของ โพลีโพรพิลีน (PP) ความต้องการใช้ยังเติบโตต่อเนื่อง ตามเทรนด์ของผู้บริโภคที่ยังมีความจำเป็นต้องใช้บรรจุภัณฑ์ที่สะอาด และการเติบโตของสังคมผู้สูงอายุ เป็นต้น
นายสิรวิชญ์ สมรัตนกุล นักวิเคราะห์การพาณิชย์ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP กล่าวว่า แนวโน้มความต้องการใช้สารอะโรเมติกส์ (Aromatics) จะถูกกดดันจากซัพพลายพาราไซลีน (Paraxylene) ที่จะเข้าสู่ตลาดมากขึ้น และเทรนด์เรื่องของรีไซเคิล และ Bio ที่จะมีความต้องการเพิ่มขึ้น แต่ก็ยังมีข้อจำกัดของกำลังการผลิตและราคาที่อยู่ในระดับสูง ขณะที่สายเบนซีน(Benzene) ยังเติบโตได้จากกระแสของยายนต์ไฟฟ้า(EV) ที่จะมีความต้องการใช้มากขึ้น