ผู้ชมทั้งหมด 1,462
ประเทศไต้หวันเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพในการพัฒนาโครงการพลังงานสะอาดสูง ขณะเดียวกันรัฐบาลไต้หวันยังให้การส่งเสริมการลงทุนด้านพลังงานสะอาด เพื่อลดการพึ่งพาการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ โดยมีการกำหนดเป้าหมายการพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์กว่า 15,000 เมกะวัตต์ภายใน 5 ปี ซึ่งบริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) หรือ BCPG ก็เป็นบริษัทฯ หนึ่งที่มองเห็นโอกาสขยายการลงทุนพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในไต้หวัน
นายภูวดล สุนทรวิภาต ผู้จัดการใหญ่ และรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานปฏิบัติการ BCPG เปิดเผยว่า ในช่วงครึ่งปีหลัง 2565 บริษัทฯ ยังคงเดินหน้าลงทุนตามแผน 5 ปี (2565-2569) ภายใต้งบลงทุน 9.5 หมื่นล้านบาท มีเป้าหมายขยายกำลังการผลิตเพิ่มเป็น 2,000 เมกะวัตต์ จากปัจจุบันมีกำลังการผลิตในมืออยู่ 1,108.9 เมกะวัตต์ โดยแผนการลงทุน 5 ปีจะเน้นขยายการลงทุนพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนทั้งพลังงานแสงอาทิตย์ หรือ โซลาร์ฟาร์ม และพลังงานลม ซึ่งจะเน้นขยายการลงทุนในภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะในประเทศไต้หวัน บริษัทฯ มีเป้าหมายในการพัฒนาพลังงานแสงอาทิตย์ในไต้หวันไม่ต่ำกว่า 1,000 เมกะวัตต์ภายใน 5 ปีข้างหน้า และยังมองโอกาสการขยายการลงทุนในญี่ปุ่น และสปป.ลาวด้วย
“ไต้หวันเป็นประเทศที่มีศักยภาพในการลงทุนพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนทั้งพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม โดยรัฐบาลไต้หวันมีแผนให้การส่งเสริมการลงทุนในช่วง 5 ปี ปีละ 3,000 เมกะวัตต์ เพื่อลดการพึ่งพาการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์และเชื้อเพลิงฟอสซิล BCPG จึงได้จัดตั้งบริษัท บีซีพีจี ฟอร์โมซ่า จำกัด ที่บริษัทฯ ถือหุ้น100% เพื่อดำเนินการลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในไต้หวัน”
ทั้งนี้ปัจจุบัน BCPG อยู่ระหว่างการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์มในประเทศไต้หวัน 469 เมกะวัตต์ คาดว่าจะเริ่มทยอยจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชณ์ (COD) ได้ช่วงปลายปีนี้ราว 10 เมกะวัตต์ โดยคาดว่าจะทยอย COD ได้ครบทั้งหมดในปี 2568 สำหรับอัตราการรับซื้อไฟฟ้าจากโซลาร์ฟาร์มอยู่ที่ 5.20-5.60บาทต่อหน่วย ระยะเวลาการคืนทุน 8-9 ปี
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในไต้หวันเป็นหนึ่งในแผนกลยุทธ์ที่สำคัญของ BCPG ซึ่งสามารถต่อยอดจากการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศญี่ปุ่น ทั้งนี้เมื่อรวมกับโครงการในประเทศญี่ปุ่นที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้วและอยู่ระหว่างการก่อสร้างอีก 117 เมกะวัตต์ จะทำให้บริษัทฯ มีโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกรวม 586 เมกะวัตต์ คิดเป็นเงินลงทุนทั้งสิ้นประมาณ 45,000 ล้านบาท
อย่างไรก็ตามการขยายการลงทุนของ BCPG นั้นยังมองหาโอกาสการลงทุนในประเทศในแถบยุโรปด้วย เช่น สเปน อิตาลี ตุรเคีย เนื่องจากประเทศในยุโรปมีศักยภาพในการลงทุน และยังได้ให้ความสำคัญกับการลงทุนพลังงานหมุนเวียน ขณะในประเทศไทย BCPG ก็พร้อมที่จะลงทุนตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561 – 2580 ฉบับปรับปรุง ครั้งที่ 1 (PDP2018 Rev.1) ในช่วงปี พ.ศ. 2564 – 2573 (ปรับปรุงเพิ่มเติม) โดยมีกำลังผลิตตามสัญญาจากพลังงานสะอาดรวมทั้งสิ้น 9,996 เมกะวัตต์
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ปัจจุบัน BCPG นั้นมีกำลังการผลิตไฟฟ้าในมือราว 1,108.9 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นโครงการที่ COD 390.6 เมกะวัตต์ และอยู่ระหว่างการพัฒนา 718 เมกะวัตต์ มีการลงทุนใน 5 ประเทศ ไทย, สปป.ลาว, ไต้หวัน, ญี่ปุ่น, และฟิลิปปินส์ ซึ่งการขยายการลงทุนใน 5 ปี กับเป้าหมาย 2,000 เมกะวัตต์ก็มีโอกาสเป็นไปได้ที่จะได้ตามเป้าหมายก่อน 5 ปี