ผู้ชมทั้งหมด 637
พลังงาน จับมือ กฟผ. จัดเสวนาลดโลกร้อน สร้างความตระหนัก มุ่งเป้า Carbon Neutral ในปี 2050 และ Net Zero Emission ในปี 2065
วันนี้ (12 กรกฎาคม 2565) ศ.ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า การจัดเสวนาในวันนี้สืบเนื่องมาจากสถานการณ์วิกฤตพลังงานในปัจจุบัน ซึ่งถือว่าเป็นวิกฤตซ้อนวิกฤตที่เกิดขึ้นทั่วโลก โดยเกิดจากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ การเปลี่ยนแปลงของความเชื่อมโยงของโลกที่ต่างจากในอดีต วิกฤตที่เกิดขึ้นนี้ได้ส่งผลกระทบต่อราคาพลังงานและอาจจะกระทบต่อการผลิตอาหารของโลก การจัดเสวนาในครั้งนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี และได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ ทั้ง กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก และ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งทั้งหมดล้วนมีเป้าหมายเดียวกันคือการใช้พลังงานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดไปพร้อมกับการรักษาสิ่งแวดล้อม
“ผมต้องการให้ทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นประชาชน ผู้ประกอบการ โรงงานอุตสาหกรรม ช่วยกันลดการใช้ไฟฟ้า เพราะการลดไฟฟ้าได้ 10% นั้น จะเกิดประโยชน์ได้ถึง 3 มุมหลักๆ ได้แก่ 1. ได้รักษาทรัพยากรธรรมชาติที่สามารถเก็บไว้ให้รุ่นลูกรุ่นหลานในวันข้างหน้า 2. สามารถลดงบประมาณในภาพรวมของประเทศได้ ก็ทำให้สามารถนำเงินงบประมาณที่ประหยัดได้กลับมาพัฒนาประเทศ 3. ทำให้ประเทศไทยสามารถประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย Carbon Neutral ที่ได้กำหนดไว้ ซึ่งทั้งหมดล้วนทำให้เกิดประโยชน์กับประเทศ จึงขอให้ประชาชนหันมาสนใจรวมทั้งถ่ายทอดประโยชน์ของการประหยัดพลังงานและการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยเริ่มต้นจากตัวเองสู่ครอบครัว และขยายสู่ระดับสังคม และสามารถเริ่มทำได้ทันที ” ศ.ดร.พิสุทธิ์ กล่าว
น.ส. อโณทัย สังข์ทอง ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก ได้แสดงความคิดในการเสวนาครั้งนี้ว่า ปัจจุบันหลายประเทศทั่วโลกมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากเกินสมดุล จึงได้สร้างกรอบความร่วมมือในการร่วมกันลดก๊าซเรือนกระจก ซึ่งสำหรับประเทศไทยก็ได้ให้ความสำคัญเพื่อบรรลุเป้าหมาย ความเป็นกลางทางคาร์บอน 2050 หรือ Carbon Neutrality และตั้งเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกทั้ง 7 ชนิด (Net Zero Emission)ภายใน 2065 รวมทั้งการส่งเสริมและพัฒนาการใช้เทคโนโลยีการกักเก็บคาร์บอนที่จะมีการใช้ในอนาคต
ด้านนายวัชรินทร์ บุญฤทธิ์ ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และแผนงาน กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กล่าวเสริมว่า การประหยัดพลังงานเป็นส่วนสำคัญในการช่วยการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ประชาชนทั่วไปสามารถร่วมมือกันเพียงแค่ ปิด ปรับ ปลด เปลี่ยน การใช้พลังงาน ตัวอย่างเช่นการ ปรับแอร์ขึ้น 1 องศา ก็จะสามารถประหยัดพลังงานได้ 10% ซึ่งในภาคครัวเรือนก็สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับเครื่องใช้อื่นๆ ได้ ส่วนภาคอุตสาหกรรม ทาง พพ. ก็จะมีการออกมาตรการร่วมกับสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคพลังงาน โดยมีแผนอนุรักษ์พลังงานและแผนพลังงานทดแทนมาเป็นกรอบในการดำเนินงาน
ส่วนนายชัยวุฒิ หลักเมือง ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารด้านการใช้ไฟฟ้าและกิจการเพื่อสังคม การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ทาง กฟผ. ก็ตระหนักถึงการปล่อย co2 จากภาคพลังงาน จึงได้คิดแผนงานและดำเนินโครงการต่างๆ โดยมีหลัก Triple S หรือ 3S ประกอบด้วย 1. Sources Tranformation คือการเปลี่ยนมาใช้พลังงานทดแทนในการผลิตไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น 2. Sink Co-Creation คือการปลูกป่าเพื่อดักจับและกักเก็บคาร์บอน และ 3. Support Measures Mechanism คือการสร้างเครื่องมือหรือกลไกต่างๆ ผ่านโครงการอนุรักษ์ต่างๆ เข่น ฉลากประหยัดไฟเบอร์ 5 โครงการ BCG Model รวมทั้งการส่งเสริมการประยุกต์ใช้ IoT ในเครื่องใช้ไฟฟ้า
และในส่วนของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นายอาทิตย์ เวชกิจ กรรมการสถาบันพลังงานเพื่ออุตสาหกรรม ได้กล่าวว่า ทางสภาอุตสาหกรรมฯ ได้ส่งเสริมการลดใช้พลังงานและลดการปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ในภาคอุตสาหกรรม มาอย่างต่อเนื่อง และต้องยอมรับว่า Carbon Neutrality เป็นเทรนของโลก การดำเนินธุรกิจกับบริษัทระหว่างประเทศ ก็จะมีการกำหนดการใช้พลังงานที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ขัดเจน และในบางประเทศมีกำหนดเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายใน 2030 ซึ่งเร็วกว่าประเทศอื่นๆ ดังนั้น ไทยควรเป็นประเทศที่มีความมุ่งมั่นในการเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ไม่ใช่ทำเพราะเป็นไปตามประชาคมโลก และที่สำคัญ หากประเทศไทยยังไม่มีมาตรการหรือนโยบายที่เท่าทันต่อสถานการณ์ในภาคอุตสาหกรรม อาจส่งกระทบต่อเศรษฐกิจและ GDP ของประเทศได้ เนื่องจากบริษัทต่างชาติที่คำนึงถึงการใช้ไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานสะอาด ก็จะไม่เข้ามาลงทุนในประเทศ หรือย้ายฐานการผลิตออกนอกประเทศ