ผู้ชมทั้งหมด 742
ครม. ตีกลับ! แผนบริหาร 3 สนามบิน อุดรฯ บุรีรัมย์ กระบี่ AOT เร่งจัดหาข้อมูลเพิ่มคาดส่งครม.อีกครั้งได้ภายในเดือนนี้
แหล่งข่าวจาก บริษัท ท่าอากาศยานไทยจำกัด (มหาชน) หรือ AOT เปิดเผยว่า แผนบริหารท่าอากาศยาน 3 แห่งของกรมท่าอากาศยาน (ทย.) ประกอบด้วย ท่าอากาศยานอุดรธานี, บุรีรัมย์ และกระบี่ล่าสุดทางกระทรวงคมนาคมได้เสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว แต่ครม. ให้ไปจัดหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเปิดรับฟังความคิดเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งในขณะนี้ AOT อยู่ระหว่างเตรียมดำเนินการจัดทำข้อมูลเพิ่มเติม คาดว่าจะส่งข้อมูลและแผนกลับไปที่ ครม.อีกครั้งภายในเดือนนี้
อย่างไรก็ตามผ่านมาท่าอากาศยานทั้ง 3 แห่งได้มีการขอใบอนุญาตกรมท่าอากาศยานแล้ว หากที่ประชุมครม.พิจารณาเห็นชอบจะเข้าสู่กระบวนการในการถ่ายโอนใบอนุญาต ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการเจรจาของทั้ง 2 ฝ่ายเพื่อดำเนินการพิจารณาเงินชดเชยให้แก่กรมท่าอากาศยาน คาดว่าจะดำเนินการเจรจาแล้วเสร็จภายในปี 2565 โดยAOT มีระยะเวลา 3 เดือนในการเตรียมความพร้อมเข้าไปบริหารท่าอากาศยานทั้ง 3 แห่ง และให้พนักงานของ AOT เข้าไปทำงานทันที
ส่วนขั้นตอนการโยกย้ายพนักงานของกรมท่าอากาศยานมาอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ AOT นั้นขั้นตอนนี้พนักงานที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกรมท่าอากาศยานจะต้องลาออกก่อน แล้วมาสมัครเป็นพนักงานของ AOT ซึ่ง AOT จะพิจารณาเป็นอันดับแรกภายใต้ข้อกำหนดและเงื่อนไขของทอท.
สำหรับวิธีดำเนินการบริหารท่าอากาศยานที่อยู่ในความดูแลของ AOT จะดำเนินการในรูปแบบ DUO Airport ซึ่งจะเห็นได้จากการประสบความสำเร็จของท่าอากาศยานหลายแห่ง โดยเป็นการจับคู่ท่าอากาศยาน เช่น ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและท่าอากาศยานดอนเมือง ,ท่าอากาศยานเชียงใหม่และท่าอากาศยานเชียงราย,ท่าอากาศยานบุรีรัมย์และท่าอากาศยานอุดรธานี และนี่คือสาเหตุที่ AOT อยากได้ท่าอากาศยานกระบี่เพื่อจับคู่ร่วมกับท่าอากาศยานภูเก็ต
ขณะที่งบลงทุนในระยะแรกนั้นในเบื้องต้นคาดว่าไม่ต้องใช้งบลงทุนอะไรมากเพราะจะเป็นการลงทุนปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีให้ได้ตามมาตรฐาน TSA และ EASA เช่น การเปลี่ยนเครื่องตรวจจับโลหะ เครื่องตรวจอาวุธ แต่การลงทุนในระยะยาวจะเป็นการลงทุนพัฒนาปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานของท่าอากาศยานอุดรธานี บุรีรัมย์ กระบี่ ใหม่ เพื่อรองรับการเติบโตของผู้โดยสารในอนาคต ซึ่งอาจจะต้องใช้งบลงทุนในระดับสูง
ทั้งนี้ AOT มั่นใจว่าการเข้าไปบริหารท่าอากาศยานทั้ง 3 แห่งเพิ่มนั้นจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้รายได้เติบโตอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากท่าอากาศยานอุดรฯ บุรีรัมย์ กระบี่ มีศักยภาพที่จะพัฒนาเป็นศูนย์กลางทางการบินในภูมิภาค(Aviation Hub) โดยท่าอากาศยานอุดรธานีจะเป็นประตูเมือง (Gateway) ไปยังสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) และอีสานใต้คือ ท่าอากาศยานบุรีรัมย์ให้เป็น Gateway เชื่อมต่อไปยังราชอาณาจักรกัมพูชา จึงทำให้ทั้ง 2 สนามบินนี้ เหมาะสมที่จะพัฒนายกระดับขึ้นเป็น Hub ขณะที่ท่าอากาศยานกระบี่ก็จะช่วยเพิ่มความแข็งแกร่งในการเป็น Hub ทางภาคใต้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปัจจุบัน AOT มีท่าอากาศยาน ภายใต้การกำกับดูแลอยู่ 6 แห่ง ประกอบด้วย ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานดอนเมือง ท่าอากาศยานเชียงใหม่ ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง ท่าอากาศยานภูเก็ต และท่าอากาศยานหาดใหญ่ หากรวมกับท่าอากาศยานอุดรฯ บุรีรัมย์ กระบี่ ก็จะทำให้ AOT บริหารเพิ่มเป็น 9 แห่ง ส่วนจะให้ AOT ไปบริหารท่าอากาศยานแห่งอื่นเพิ่มนั้นก็ขึ้นอยู่กับนโยบายของภาครัฐ