ผู้ชมทั้งหมด 1,016
“โฮปเวลล์” ตั้งโต๊ะทวงคมนาคม+รฟท. ขอคืนเงิน 2.7 หมื่นล้าน ชี้โดนภาครัฐกลั่นแกล้งยื้อคดี ขู่เตรียมฟ้องปปช. ศาลอาญา เอาผิดนักการเมือง ผู้บริหารรฟท. ยันห่วงภาพลักษณ์ประเทศไทยในสายตานักลงทุนต่างชาติ
นายคอลลิน เวียร์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด แถลงข่าวทวงถามความเป็นธรรมจากกระทรวงคมนาคม และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ซึ่งเคยเป็นคู่สัญญาในสัญญาสัมปทานโครงการระบบการขนส่งทางรถไฟยกระดับในกรุงเทพมหานคร (Bangkok Elevated Road and Train System-BERTS) มูลค่า80,000 ล้านบาท โดยกล่าวว่า นับจากรัฐบาลไทย โดยกระทรวงคมนาคมและ รฟท. ได้บอกเลิกสัญญาเมื่อปี 2541 และบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้ร้องขอความเป็นธรรมต่อคณะอนุญาโตตุลาการ โดยขอให้คณะอนุญาโตตุลาการ มีคำวินิจฉัยให้คู่สัญญาทั้ง 2 ฝ่ายคือ รฟท. และบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัดคืนสู่สถานะเดิม พร้อมกับคืนเงินตอบแทน และเงินลงทุนที่ได้ลงทุนไปแล้ว ซึ่งคณะอนุญาโตตุลาการได้มีคำวินิจฉัยชี้ขาดตามที่บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ร้องขอออกมาเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2551 แต่ทั้งกระทรวงคมนาคม และ รฟท. กลับยังมิได้มีการปฏิบัติให้เป็นไปตามคำวินิจฉัยชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ
“สาระสำคัญในคำวินิจฉัยชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2551 ระบุให้คืนสถานะเดิมแก่คู่สัญญาทั้ง 2 ฝ่าย และให้ รฟท.คืนเงินตอบแทน เงินลงทุน รวมทั้งหนังสือค้ำประกันสัญญาสัมปทานและค่าธรรมเนียมแก่บริษัทโฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด รวมทั้งสิ้น 11,888 ล้านบาท ซึ่งหากนับรวมดอกเบี้ยก็จะคิดเป็นเงิน 27,000 ล้านบาทจากดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี”
นายเวียร์ กล่าวว่านับจากบัดนั้น กระทั่งทุกวันนี้ ทั้งกระทรวงคมนาคม และ รฟท. ยังมิได้ดำเนินการใด ๆ ให้เป็นไปตามคำวินิจฉัยชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ทั้งที่เป็นคำวินิจฉัยที่เป็นไปตามสัญญาสัมปทาน ซึ่งได้มีการลงนามร่วมกันตั้งแต่วันที่ 9 พฤศจิกายน 2533 ยิ่งไปกว่านั้นทั้งกระทรวงคมนาคม และ รฟท. ยังแสดงท่าทีที่จะไม่ปฏิบัติ
ตามคำวินิจฉัยชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการอย่างชัดเจน โดยการพยายามใช้กลไกทางกฎหมาย ประวิงการปฏิบัติตามคำวินิจฉัยชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ และไม่เคารพคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุดที่ได้วางบรรทัดฐานการวินิจฉัยคดีในลักษณะเดียวกันมามากกว่า 50 คดี รวมถึงความพยายามทำให้บริษัท โฮปเวลล์(ประเทศไทย) จำกัด เป็นโมฆะหรือสิ้นสภาพ
“ความพยายามของกระทรวงคมนาคม และ รฟท. มุ่งหวังเพียงเพื่อจะไม่ต้องคืนเงินให้แก่โฮปเวลล์ฯ โดยไม่คำนึงถึงความเสียหายต่อภาพลักษณ์การลงทุนของประเทศไทย ต่อความเชื่อมั่นการลงทุนในประเทศไทยของนักลงทุนนานาชาติ รวมทั้งไม่คำนึงถึงเกียรติยศ ศักดิ์ศรี และความซื่อสัตย์สุจริตในฐานะหน่วยงานภาครัฐ ที่พึงต้องให้ความเคารพและปฏิบัติตามคำพิพากษาอย่างเคร่งครัด โดยปราศจากข้อยกเว้นหรือข้ออ้างใดๆ”
นายเวียร์ ยังกล่าวด้วยว่า หากหน่วยงานภาครัฐไม่เคารพในคำพิพากษา ในที่สุดคำพิพากษาถึงที่สุดของทุกศาลจะไร้ความหมาย และเป็นข้ออ้างสำหรับคนไม่สุจริตในการรื้อฟื้นให้มีการพิจารณาคดีใหม่อย่างไม่มีที่สิ้นสุด กระทั่งก่อให้เกิดความระส่ำระสายในกระบวนการยุติธรรม แล้วการปกครองบ้านเมืองตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ เพื่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองจะดำเนินต่อไปได้อย่างไร
นายสุภัทร ติระชูศักดิ์ ฝ่ายกฎหมาย บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ยืนยันว่าการจัดตั้งบริษัท โฮปเวลส์ฯ นั้นถูกตามกฎหมาย และการประกวดราคาโครงการลงทุนก่อสร้างทางรถไฟ รถไฟฟ้า พร้อมทางด่วนในครั้งนั้นดำเนินตามขั้นตอนของรัฐบาลในขณะ (2533) ตามกฎหมาย ซึ่งมี 3 บริษัท เข้ายื่นประกวดราคาแข่งขัน โดยรัฐบาลในขณะนั้นเลือกบริษัท โฮปเวลส์ฯ โดยหลังจากลงนามในสัญญาทางโฮปเวลส์ ได้ลงทุนดำเนินการก่อสร้างเองทั้งหมด 100% ดังนั้นเมื่อรัฐบาลยกเลิกสัญญาก็ต้องคืนเงินค่าเสียหายให้กับโฮปเวลส์ด้วย โดยรัฐบาลได้ยกเลิกสัญญาในปี 2541 โฮปเวลส์จึงต้องฟ้องต่อศาลฯ เรียกร้องขอค่าเสียหาย
โดยในปี 2551 อนุญาโตตุลาการได้วินิจฉัยให้กระทรวงคมนาคม และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) คืนเงินค่าตอบแทนจำนวน 2,850 ล้านบาท คืนเงินที่บริษัทฯได้จ่ายไปแล้วบางส่วน จำนวน 9,000 ล้านบาท คืนหนังสือค้ำประกันสัญญา และคืนค่าธรรมเนียมการออกหนังสือค้ำประกัน จำนวน 38,749,800 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี รวมเป็น 18,888 ล้านบาท จนถึงปัจจุบันค่าเสียหายที่รวมดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นเป็น 27,000 ล้านบาท
ทั้งนี้จะมีการเจรจาต่อรองกับภาครัฐอีกหรือไม่นั้นก็ขึ้นอยู่กับภาครัฐเองว่าจะเปิดรับการเจรจาหรือไม่อย่างไร ซึ่งหากเปิดให้เจรจา โฮปเวลส์ก็พร้อมเจรจา แต่การเจรจาต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขตัวเลขค่าเสียหายปัจจุบันที่ 27,000 ล้านบาท แม้จะมีคำสั่งศาลปกครองสูงสุด ระงับการบังคับคดีอนุญาโตตุลาการ แต่ไม่ได้ลบล้างคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการดังนั้น ดอกเบี้ยยังคงเพิ่มทุกวันนับตั้งแต่ปี 2551 ยอดค่าเสียหายจึงเพิ่ม
อย่างไรก็ตามภายหลังศาลปกครองสูงสุด มีคำพิพากษาเป็นที่สุด เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2562 ให้กระทรวงคมนาคมและรฟท. ปฎิบัติตามคำวินิจฉัยชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ทางโฮปเวลส์ได้มีการเจรจากับทางกระทรวงคมนาคมและรฟท. มาแล้ว 3 ครั้ง เพื่อหาข้อยุติ และให้ภาครัฐชดใช้ค่าเสียหาย ซึ่งในขณะนั้นโฮปเวลส์เรียกร้องค่าเสียหายเพียง 18,888
ล้านบาท จากยอดเงินค่าเสียหาย 22,000 ล้านบาท แต่ไม่มีการตอบรับจากภาครัฐเลย แต่ภาครัฐกลับขอชะลอคดีพร้อมฟ้องร้องโฮปเวลส์ในหลายคดี ซึ่งดูไม่เป็นธรรม
ดังนั้นโฮปเวลส์จะหารือภายในที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทอีกทีเพื่อหาแนวทางดำเนินการที่จะฟ้องคดีนี้ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ และศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง การร้องเรียนต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)ในเรื่องการกระทำผิดจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่สร้างความไม่เป็นธรรม ความเสียหายต่อบริษัท และทำให้ค่าเสียหายเพิ่มขึ้น
นายวัฒนชัย คุ้มสิน วิศวกร บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ในช่วงของการก่อสร้างโครงการ ปัญหาที่ทำให้ไม่สามารถก่อสร้างได้ตามกำหนด เกิดจาก ร.ฟ.ท.ส่งมอบพื้นที่ล่าช้า นอกจากนี้ยังมีปัญหาจุดตัดกับโครงการอื่นอีก 10 จุด ปัญหาเรื่องการอนุมัติแบบล่าช้าและบางส่วนไม่ได้รับการอนุมัติ รวมไปถึงปัญหาเรื่องแนวเขตทางที่ยังไม่ได้มีการแก้ไข จนกระทั่งฝ่ายรัฐบอกเลิกสัญญาสัมปทานก็ยังแก้ไขปัญหาเหล่านี้ไม่หมด โดยบริษัทฯ ยืนยันว่ามีความพร้อมในการก่อสร้าง ได้เตรียมเครื่องจักรขนาดใหญ่เข้าพื้นที่แต่ก็ไม่สามารถดำเนินการได้