ผู้ชมทั้งหมด 754
ไทยออยล์ ประเมินราคาน้ำมันดิบสัปดาห์นี้ยังทรงตัวระดับสูง หลังความต้องการใช้เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่การแพร่ระบาดโควิด-19 ในจีนยังคงกดดันตลาด คาดเวสต์เท็กซัส เคลื่อนไหวที่กรอบ 113-123 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนเบรนท์ เคลื่อนไหวที่กรอบ 115-125 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
บริษัท ไทยออยล์ จำกัด(มหาชน) หรือ TOP เปิดเผยบทวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันประจำสัปดาห์ ระหว่างวันที่ 20 – 24 มิ.ย.65 พบว่า ราคาน้ำมันทรงตัวในระดับสูง หลังประธานาธิบดี โจ ไบเดน เรียกร้องให้โรงกลั่นในสหรัฐฯ เร่งปรับเพิ่มกำลังการผลิตเพื่อรองรับปริมาณความต้องการใช้น้ำมันในประเทศที่ปรับเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่ตลาดยังคงกังวลภาวะอุปทานน้ำมันดิบโลกตึงตัว เนื่องจากการผลิตน้ำมันดิบของรัสเซียในแหล่ง Sakhalin 1 ประสบปัญหาด้านการส่งออก หลังยุโรปใช้มาตรการคว่ำบาตรการประกันภัยทางเรือของรัสเซีย
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในจีนยังคงกดดันตลาด หลังจีนพบการแพร่ระบาดระลอกใหม่ในเมืองใหญ่ ได้แก่ เซี่ยงไฮ้และปักกิ่ง ส่งผลให้จีนต้องใช้มาตรการเข้มงวดและประกาศล็อกดาวน์เมืองเซี่ยงไฮ้อีกครั้ง ขณะที่สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ หรือ EIA รายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับเพิ่มขึ้นเช่นกันแตะระดับที่ 12.0 ล้านบาร์เรลต่อวัน
สำหรับปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้ ประกอบด้วย
- ปริมาณน้ำมันดิบที่ใช้ในการผลิต (crude runs) ของโรงกลั่นในสหรัฐฯ ปรับลดลง 67,000 บาร์เรลต่อวันในช่วงวันที่ 6-10 มิ.ย. 65 ที่ผ่านมา ทำให้ปธน. โจ ไบเดนเรียกร้องให้โรงกลั่นในสหรัฐฯ เร่งปรับเพิ่มกำลังการผลิต โดยเฉพาะน้ำมันเบนซินและดีเซล ที่ปริมาณความต้องการใช้ในประเทศปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องในช่วงฤดูร้อน ขณะที่ EIA รายงานปริมาณสต๊อกน้ำมันเบนซินของสหรัฐฯ ณ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 10 มิ.ย. 65 ปรับลดลงที่ 0.7 ล้านบาร์เรล แตะระดับที่ 217.5 ล้านบาร์เรล ซึ่งเป็นการปรับลดลงต่อเนื่องติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่ 11 สะท้อนถึงปริมาณความต้องการใช้น้ำมันเบนซินในประเทศที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างมาก
- การผลิตน้ำมันดิบจากแหล่ง Sakhalin-1 ของรัสเซีย ซึ่งปกติผลิตน้ำมันดิบ Sokol เพื่อส่งออกจากท่าเรือทางตะวันออกของรัสเซียไปยังประเทศหลักๆ โดยเฉพาะในแถบเอเชีย คาดว่าจะยังคงประสบปัญหาเรื่องการส่งออกต่อเนื่องไปอีก 2-3 เดือน หลังยุโรปใช้มาตรการคว่ำบาตรการประกันภัยทางเรือของรัสเซีย ปริมาณการผลิตและส่งออกน้ำมันดิบจากแหล่งดังกล่าวของรัสเซียที่ปรับลดลง ส่งผลให้ตลาดกังวลภาวะอุปทานน้ำมันดิบมีแนวโน้มตึงตัว
- สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในจีนยังคงกดดันตลาด หลังจีนพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นในเมืองเซี่ยงไฮ้ ทำให้จีนต้องใช้มาตรการเข้มงวดและประกาศล๊อกดาวน์เมืองเซี่ยงไฮ้อีกครั้ง ประกอบกับเร่งตรวจหาเชื้อประชากรกว่า 25 ล้านคน ขณะที่เมืองปักกิ่ง ได้ยกระดับการคุมเข้มด้านโควิด-19 เช่นกัน หลังจากพบการแพร่ระบาดระลอกใหม่ย่านสถานที่ให้บริการผับและบาร์แห่งหนึ่ง สถานการณ์การแพร่ระบาดดังกล่าว ส่งผลให้ตลาดกังวลความต้องการใช้น้ำมันโลกปรับลดลง
- EIA รายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้นกว่า 100,000 บาร์เรลต่อวันในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา สู่ระดับที่ 12.0 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนเม.ย. 63 ด้าน EIA (เดือน พ.ค. 65) คาดการณ์ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นเฉลี่ยที่ 11.9 ล้านบาร์เรลต่อวันในปี 2565 และ 12.8 ล้านบาร์เรลต่อวันในปี 2566 ซึ่งเกินกว่าปริมาณการผลิตในปี 2562 ที่ระดับ 12.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน
- การประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ในวันที่ 15 มิ.ย. 65 ที่ผ่านมา มีมติเป็นเอกฉันท์ในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.75% สู่ระดับที่ 1.5-1.75% ซึ่งเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยติดต่อกันเร็วที่สุดนับตั้งแต่ปี 1994 ขณะที่ตลาดคาดการณ์ว่า FED อาจมีแนวโน้มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.50-0.75% ในการประชุมครั้งถัดไป และ FED จะปรับลดขนาดงบดุลถึง 2 เท่าเป็นจำนวนเงิน 9.5 หมื่นล้านเหรียญต่อเดือน โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. 65 เป็นต้นไป ขณะเดียวกัน FED คาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปี 2565 มีแนวโน้มปรับลดลงที่ระดับ 1.7% จากเดิมที่ระดับ 2.8% การใช้นโยบายเข้มงวดทางการเงินของสหรัฐฯ ครั้งนี้ เพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อ ที่คาดการณ์ว่าจะมีแนวโน้มปรับเพิ่มสูงขึ้นถึงระดับที่ 5.2% จากก่อนหน้าที่คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 4.3% และรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และเศรษฐกิจโลก
- เศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต (PMI) เดือนมิ.ย. 65 ของยุโรป ตลาดคาดการณ์ว่าจะแตะระดับที่ 54.9 มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 54.6 และ ดัชนี PMI เดือนมิ.ย. 65 ของสหรัฐฯ ซึ่งตลาดคาดว่าจะแตะระดับที่ 57.5 มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 57.0
ทั้งนี้ ไทยออยล์ คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 113-123 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 115-125 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ส่วนสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา ระหว่างวันที่ 13 – 17 มิ.ย. 65 พบว่า ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลดลง 11.37 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 109.56 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล เช่นเดียวกันกับราคาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ปรับลดลง 9.15 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 113.12 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 116.1 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หลัง EIA รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ณ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 10 มิ.ย. ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.9 ล้านบาร์เรล สู่ระดับที่ 418.7 ล้านบาร์เรล สวนทางกับที่ตลาดคาดการณ์ไว้ ขณะที่ตลาดยังคงกังวลภาวะอุปทานน้ำมันดิบโลกตึงตัว หลังยุโรปมีข้อสรุปยุติการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซีย ขณะที่การปรับเพิ่มการผลิตจากกลุ่มโอเปกพลัสเพื่อชดเชยน้ำมันที่หายไปจากส่วนของรัสเซียยังมีความไม่แน่นอนสูง