ปตท. ดัน “ธุรกิจก๊าซฯ” Transition Fuel สู่พลังงานสะอาด มั่นใจโลกยังต้องการใช้อีกไม่ต่ำกว่า 20ปี

ผู้ชมทั้งหมด 1,064 

“โลก” กำลังอยู่ในช่วงของการเปลี่ยนผ่านการใช้พลังงาน จากที่เคยใช้พลังงานดั้งเดิม หรือ เชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น น้ำมัน ถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติ เพื่อเป็นเชื้อเพลิงหลัก จะปรับเปลี่ยนไปสู่การใช้เชื้อเพลิงที่สะอาดมากขึ้น เช่น พลังงานหมุนเวียน เป็นต้น เพื่อผลักดันไปสู่เป้าหมายการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ (Carbon Neutrality) และเป้าหมายการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (net zero) ตามที่แต่ละประเทศได้ประกาศเป้าหมายไว้ เพื่อหวังเป็นส่วนหนึ่งภายใต้ความร่วมมือลดภาวะโลกร้อน

“ก๊าซธรรมชาติ” แม้จะถูกจัดอยู่ในประเภทเชื้อเพลิงฟอสซิล แต่ก็เป็น เชื้อเพลิงสะอาดที่สุดเมื่อเทียบกับเชื้อเพลิงฟอสซิลชนิดอื่นๆ ขณะเดียวกันหลายประเทศทั่วโลกได้ลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับความต้องการใช้ก๊าซฯไปพอสมควร ดังนั้น ก๊าซฯ ยังอยู่ถูกเลือกให้เป็นเชื้อเพลิงหลักในช่วงเปลี่ยนผ่านการใช้พลังงานของโลก

บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT ยักษ์ใหญ่ที่เป็นผู้ผลิตและจัดหาพลังงานรองรับความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศไทย ได้เกาะติดเทรนด์การใช้พลังงานทั่วโลก พบว่า ปัจจุบัน การใช้พลังงานของโลก ราว 70% ยังเป็นเชื้อเพลิงฟอสซิล คือ น้ำมัน ถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติ ซึ่งมีการประเมินกันว่า ความต้องการใช้เชื้อเพลิงถ่านหิน ได้ผ่านจุดสูงสุด (peak) ไปแล้วเมื่อปี ค.ศ.2015 ดังนั้น ในส่วนของธุรกิจถ่านหินที่เหลืออยู่ ปตท.ตั้งเป้าหมายจะขายกิจการที่เกี่ยวข้องทิ้งให้หมดภายในปี 2565 ส่วนน้ำมัน คาดการณ์ว่า จะผ่านจุดความต้องการใช้สูงสุด (peak) ในปี ค.ศ.2032 ฉะนั้นในส่วนนี้ จะไม่มีการซื้อกิจการเพิ่มเติม แต่จะเป็นการลงทุนเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพให้ดีขึ้น โดยกำหนดหมายว่าจะเป็นคนสุดท้ายที่อยู่ในธุรกิจนี้ (last man standing) และก๊าซฯ จะยังเป็นเชื้อเพลิงที่มีความต้องการใช้ต่อเนื่องไปอีกอย่างน้อยไม่ต่ำกว่าปี ค.ศ.2040

อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) มองว่า การเปลี่ยนผ่านพลังงาน เป็นเรื่องท้าทายและเป็นโอกาส โดยการใช้พลังงานของโลกในอนาคตจะมุ่งไปใน 2 เทรนด์หลัก คือ GO GREEN และ GO ELECTRIC ดังนั้น กลยุทธ์การขับเคลื่อนธุรกิจของปตท.จะดำเนินไปภายใต้ 2 เทรนด์ดังกล่าว ซึ่งจะสอดรับกับวิสัยทัศน์ “Powering Life with Future Energy and Beyond ขับเคลื่อนทุกชีวิต ด้วยพลังแห่งอนาคต” 

“ธุรกิจก๊าซธรรมชาติ” จึงยังเป็นหนึ่งในธุรกิจหลักของ ปตท.ที่จะขับเคลื่อนการเติบโตในอนาคต โดยตั้งเป้าหมายภายใต้ปี 2573 จะมีการจัดหาก๊าซฯ ในรูปแบบของก๊าซธรรมชาติเหลว(LPG) อยู่ที่ 9 ล้านตันต่อปี

“Portfolio Transformation ด้วยการขับเคลื่อนธุรกิจตามวิสัยทัศน์ Future Energy and Beyond ของปตท.ตั้งเป้าหมายจะมีสัดส่วนกำไรมาจากธุรกิจใหม่ถึง 30% ในปี 2573 และเพิ่มสัดส่วน Green Portfolio ซึ่งธุรกิจก๊าซฯ ยังเป็นส่วนสำคัญของการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด”

ขณะที่แนวโน้มความต้องการใช้ก๊าซฯ ระยะสั้นในปี 2565 ปตท.ประเมินว่า จะเติบโตขึ้นจากปี2564 หลังช่วงไตรมาส 1 ปี65 พบว่า ความต้องการใช้ก๊าซฯ เฉลี่ยอยู่ที่ 4,420 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่งเติบโตขึ้น 5-6% เมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี2564 โดยความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้น มาจากความต้องการใช้ในภาคการผลิตไฟฟ้า หลังมีการเปิดประเทศและเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว

วุฒิกร สติฐิต รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) หรือ PTT ประเมินว่า ปี 2565 คาดว่า ประเทศไทยจะต้องนำเข้า LNG รวมประมาณ 10 ล้านตัน ในส่วนนี้จะเป็นสัญญา LNG ระยะยาวของ ปตท. ประมาณ 5 ล้านตัน และอีก 5 ล้านตัน จะเป็นการนำเข้าภายใต้สัญญาระยะสั้น หรือ ตลาดจร(Spot LNG) ที่จะได้รับการจัดสรรให้กับผู้ได้รับใบอนุญาตจัดหาและนำเข้าก๊าซฯ(Shipper) แต่ละราย ตามการพิจารณาของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.)

โดยก่อนหน้านี้ ภาครัฐ ประเมินเบื้องต้นว่า ปี65 จะมีการนำเข้า LNG ประมาณ 4.5 ล้านตัน ซึ่งในส่วนนี้ ปตท.จะต้องนำเข้า 1.8 ล้านตัน เพื่อมาชดเชยกับกำลังการผลิตก๊าซฯจากแหล่งเอราวัณที่ลดลง ส่วนที่เหลือ ยังต้องรอว่าภาครัฐจะจัดสรรให้ Shipper LNG แต่ละนำเข้าอย่างไร ต่อไป

“ปตท.อยู่ระหว่างหารือกับ กกพ.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดซื้อ LNG ช่วงราคาตลาดโลกอ่อนตัว มาเก็บกักไว้ตามนโยบายของกระทรวงพลังงาน ที่ต้องการลดภาระต้นทุนค่าไฟฟ้า คาดว่าจะมีความชัดเจนในช่วงเดือน มิ.ย.-ก.ค.นี้ เพื่อให้สามารถดำเนินการได้ทันก่อนเข้าสู่ฤดูหนาวในต่างประเทศที่จะผลักดันให้ความต้องการใช้ LNG เพิ่มขึ้น และกดดันให้ราคา LNG ปรับสูงขึ้นอีกครั้ง ฉะนั้น การล็อควอลุ่ม LNG ทั้งระยะสั้น และระยะกลางไว้ ในราคาที่รับได้ ก็จะเป็นประโยชน์ โดยจะต้องนำเสนอ กกพ.พิจารณาต่อไป”

สำหรับสัดส่วนการใช้ก๊าซฯ ที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทย ปตท.มองว่า ควรเป็นการจัดหาภายใต้สัญญาระยะยาว 70% และสัญญาระยะสั้น 30% จากก่อนหน้านี้ ในช่วงเกิดการระบาดของโควิด-19 ทำให้สัดส่วนการใช้ก๊าซฯ ทั้งสัญญาระยะยาวและระยะสั้นใกล้เคียงกัน หรือ อยู่ที่ 50:50

ขณะที่ราคาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) รูปแบบ Spot ปตท.คาดจะอยู่ที่ 33.8 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู จากล่าสุดเดือน พ.ค.65 อยู่ที่ราว 21-25 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู เทียบกับปีก่อนอยู่ที่ 15 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู

อย่างไรก็ตาม ปตท. ได้เตรียมความพร้อมรองรับการนำเข้า LNG เพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ โดยในส่วนของโครงการก่อสร้างคลังจัดเก็บและแปรสภาพก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG Receiving Terminal) แห่งที่ 2 จังหวัดระยอง [T-2] ระยะแรก จะแล้วเสร็จและเปิดดำเนินการในช่วงปลายเดือนมิ.ย.หรือ ต้น ก.ค.นี้ ซึ่งจะรองรับการนำเข้า LNG ได้ 2.5 ล้านตัน และสิ้นปี65 จะแล้วเสร็จสมบูรณ์ พร้อมรองรับนำเข้า LNG ได้ถึง 7.5 ล้านตัน

ดังนั้น เมื่อรวมกับ Terminal แห่งที่ 1 ที่รองรับได้ 11.5 ล้านตันต่อปี จะส่งผลให้ตั้งแต่สิ้นปี 2565 เป็นต้นไป ประเทศไทยจะมีคลังรับ-จ่ายก๊าซฯ ที่พร้อมรองรับการนำเข้า LNG ได้ถึง 19 ล้านตันต่อปี นับเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศ