ผู้ชมทั้งหมด 1,557
การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จัดกิจกรรมวันคัดเลือกไอเดีย (Mini-Hackathon Day) โดยให้บุคลากรของ รฟม. เข้าร่วมประกวดไอเดียทางออก (Initial Solution Idea) เพื่อคัดเลือกมาพัฒนาและบ่มเพาะให้เป็นนวัตกรต้นแบบของ รฟม. และสร้างโครงการนวัตกรรมนำร่อง (Innovation Pilot Project) ภายใต้โครงการพัฒนานวัตกรต้นแบบ (MRTA Academy & MRTA Innovator) โดยมี นายสาโรจน์ ต.สุวรรณ ผู้ช่วยผู้ว่าการ รฟม. เป็นประธานในพิธีเปิดการจัดกิจกรรม ณ ห้องประชุม 2 ชั้น 9 อาคารสำนักงาน รฟม.
รฟม. ได้ร่วมกับคณะที่ปรึกษาโครงการฯ จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ดำเนินโครงการพัฒนานวัตกรต้นแบบต้นแบบ (MRTA Academy & MRTA Innovator) ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2565 เป็นต้นมา โดยที่ผ่านมาที่ปรึกษาฯ ได้จัดฝึกอบรมด้านการจัดการนวัตกรรมและการสร้างนวัตกรรม เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับพื้นฐานกระบวนการสร้างนวัตกรรมในองค์กรให้กับบุคลากร รฟม. จากนั้นจึงจัดฝึกอบรมหลักสูตรโครงการนวัตกรรมนำร่องเป็นเวลาต่อมา เพื่อให้ผู้เข้าร่วมได้นำความรู้ความเข้าใจจากการฝึกอบรมมาร่วมกันพัฒนาโครงการนวัตกรรมนำร่องและกลายเป็นนวัตกรต้นแบบของ รฟม.
สำหรับกิจกรรมวันคัดเลือกไอเดีย (Mini-Hackathon Day) เป็นกิจกรรมต่อเนื่องจากการฝึกอบรมหลักสูตรโครงการนวัตกรรมนำร่อง (Innovation Pilot Project) โดยบุคลากรของ รฟม. จำนวน 12 ทีม ได้เข้าร่วมระดมความคิดเห็นเป็นเวลา 6 ชั่วโมงต่อเนื่องกันเพื่อร่วมหาไอเดียทางออก (Initial Solution Idea) ให้กับ รฟม. ด้วยกระบวนการคิดเชิงออกแบบผ่านการวิเคราะห์บริบทที่กำหนดให้ (Provided Context) เพื่อนำมาสู่การระบุปัญหาที่ต้องการหาทางออก(Problem Statement) และนำเสนอให้กับคณะกรรมการตัดสิน ซึ่งทีมที่ได้รับการคัดเลือก จะได้รับทุนเพื่อนำไปวิจัยและพัฒนานวัตกรรมนำร่อง (Innovative Pilot Project) และนำผลงานมาเสนอคณะกรรมการอีกครั้งในวันนำเสนอผลงาน (Pitching Day) โดยทีมที่ได้รับการคัดเลือกมีดังนี้
• เหรียญทอง 1 รางวัล ได้แก่ “ทีมสาย 8 (กลุ่ม 8) ได้รับทุนในการสร้างนวัตกรรมนำร่อง 100,000 บาท
• เหรียญเงิน 2 รางวัล ได้แก่ “ทีมสายลับนวัตกร (กลุ่ม 1)” และ “ทีม TransInnovation (กลุ่ม 5)” ได้รับทุนในการสร้างนวัตกรรมนำร่อง 75,000 บาท
• เหรียญทองแดง 2 รางวัล ได้แก่ “ทีมกลุ่ม 9 (กลุ่ม 9)” และ “ทีมโคอะล่ามาร์ช (กลุ่ม 10)” ได้ทุนในการสร้างนวัตกรรมนำร่อง 50,000 บาท
ทีมที่ได้รับการคัดเลือกทั้ง 5 ทีมจะได้รับพัฒนาต่อยอดเพื่อเป็นนวัตกรต้นแบบ รุ่นแรกของ รฟม. ผ่านกิจกรรมต่าง ๆทั้งกิจกรรมการให้คำปรึกษา (Coaching) จากที่ปรึกษาประจำทีม (Mentor) โดยจะได้รับคำแนะนำในการสร้างนวัตกรรมนำร่องจากผู้เชี่ยวชาญการ รวมถึงกิจกรรมศึกษาดูงาน (Field Trip) เพื่อเรียนรู้ประสบการณ์จากหน่วยงานที่ประสบความสำเร็จในการนำนวัตกรรมมาใช้พัฒนาหน่วยงานเพื่อนำมาปรับใช้สำหรับการพัฒนาโครงการนวัตกรรมนำร่อง (Innovation Pilot Project) ของแต่ละทีม และในวันที่ 7 กรกฎาคม 2565 ซึ่งเป็นวันนำเสนอผลงาน หรือPitching Day ทีมนวัตกรต้นแบบจะได้นำเสนอผลการพัฒนาไอเดียนวัตกรรมนำร่องให้กับคณะกรรมการ ซึ่งประกอบด้วย ที่ปรึกษา ผู้เชี่ยวชาญ และผู้บริหารของ รฟม. เพื่อค้นหาทีมงานที่มีผลงานยอดเยี่ยมที่สุดจำนวน 1 ทีม โดยผู้ชนะจะได้รับเงินรางวัล 100,000 บาท
โครงการนวัตกรรมนำร่อง (Innovation Pilot Project) มีวัตถุประสงค์หลักในการจัดกิจกรรมเพื่อต้องการฝึกอบรมและพัฒนาบุคลากรของ รฟม. ให้มีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับนวัตกรรมและกระบวนการสร้างนวัตกรรม รวมทั้งมีทักษะและความชำนาญด้านนวัตกรรม เพื่อก้าวไปสู่การเป็นนวัตกรต้นแบบของ รฟม. และสามารถสร้างโครงการนวัตกรรมที่จะเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินกิจการของ รฟม. ได้ อีกทั้งยังช่วยฝึกฝนให้บุคลากรของ รฟม. สามารถคิดค้นนวัตกรรมจากปัญหาที่เกิดขึ้นจริงภายในองค์กร โดยนำการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) มาประยุกต์ใช้ในการคิดค้นนวัตกรรม เรียนรู้วิธีการทำงานเป็นทีมอย่างเป็นระบบภายใต้เงื่อนไขข้อจำกัดต่างๆ และสามารถนำเสนอผลงานให้กับผู้บริหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่องค์กร และบุคลากร รฟม. เป็นอย่างมากติดตามข้อมูลข่าวสาร รฟม. ได้ที่เว็บไซต์ รฟม. www.mrta.co.th เฟซบุ๊กแฟนเพจการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยหรือ Call Center รฟม. โทร.0 2716 4044 “30 ปี รฟม. เชื่อมต่อเส้นทางสู่ความยั่งยืน Completing Connection, Mission for All”