ผู้ชมทั้งหมด 1,069
“การบินไทย” ยันเดินหน้าจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการต้องทำอย่างละเอียดรอบคอบสอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ขอขยายระยะเวลาการส่งแผนฟื้นฟูให้ศาลล้มละลายกลาง ออกไปเป็นเดือน ก.พ. 64 วางเป้าทำการบินเพิ่ม 45-55 เมือง
นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร กรรมการบริษัท และรักษาการแทนกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวภายในงานจัด Meet the Press ว่า ความคืบหน้าในการจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการของการบินไทยนั้น ขณะนี้บุคคลที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายกำลังจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการอย่างเต็มที่ ซึ่งนอกจากจะต้องจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการเพื่อเตรียมเสนอต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แล้ว การบินไทยยังจัดทำแผนส่วนอื่นควบคู่ไปกับการจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นการจัดทำแผนธุรกิจ การกำหนดแผนการบิน ตลอดจนการปรับโครงสร้างองค์กรให้เหมาะสมเพื่อเตรียมความพร้อมที่จะให้บริการและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในตลาดอุตสาหกรรมการบิน เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 (COVID-19) คลี่คลายลง
ทั้งนี้การดำเนินงานทั้งหมดมีรายละเอียดปลีกย่อยเป็นจำนวนมาก จึงต้องเป็นไปโดยละเอียดรอบคอบ สำหรับการจัดกลุ่มเจ้าหนี้และการกำหนดเงื่อนไขในการได้รับชำระหนี้ของเจ้าหนี้นั้นจะถูกพิจารณาอย่างเป็นธรรมและเป็นไปตามกฎหมาย ซึ่งเจ้าหนี้จะได้รับชำระหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการมากกว่ากรณีที่การบินไทยต้องล้มละลายอย่างแน่นอน โดยผู้ทำแผนจะรับฟังข้อคิดเห็นต่างๆ ของเจ้าหนี้ให้มากที่สุด เพื่อนำมาใช้ประกอบการจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการ ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา การบินไทยได้ประชุมหารือเพื่อรับฟังความเห็นของเจ้าหนี้ประเภทต่างๆ และหากแผนฟื้นฟูกิจการถูกจัดทำขึ้นจนสมบูรณ์แล้ว บริษัทฯ จะเปิดเผยข้อมูลและชี้แจงรายละเอียดให้เจ้าหนี้ได้ทราบต่อไป
อย่างไรก็ตามในปัจจุบันการบินไทยยังไม่สามารถกลับมาทำการบินได้ตามปกติ หลังจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 แต่การบินไทยมีความพยายามอย่างเต็มที่ที่จะลดค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการดำเนินธุรกิจ รวมทั้งจะพยายามเสนอแผนฟื้นฟูกิจการที่มีเนื้อหาสอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคดังกล่าวรวมถึงสภาวะทางเศรษฐกิจ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการของการบินไทย
โดยการบินไทยจะดำเนินการยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายกลาง และขอขยายระยะเวลาการส่งแผนฟื้นฟูให้ศาลล้มละลายกลาง ออกไปเป็นเดือน ก.พ. 64 จากเดิมที่กฎหมายกำหนดให้ต้องยื่นในเดือน ม.ค. 64 จากนั้นข่วงกลางเดือนมีค จะมีการเรียกประชุมเจ้าหนี้เพื่อให้ความเห็นชอบแผนฟื้นฟู ได้ และหากเห็นชอบ คาดว่าจะส่งแผนให้ศาลล้มละลายพิจารณาเห็นชอบได้ในช่วง เม.ย.-พ.ค.64 ได้อย่างแน่นอน ทั้งนี้ตามกฎหมายกำหนดให้ต้องดำเนินการตามแผนให้แล้วเสร็จภายใน 5 ปี และขยายได้อีก 2ครั้ง หรือทั้งสิ้นไม่เกิน7ปี แต่อาจจะเร็วกว่านั้น
สำหรับการปรับลดค่าใช้จ่ายการบินไทยได้ดำเนินโครงการเออร์ลี่รีไทร์ คาดว่าในปี 64 จะสามารถลดค่าใช้จ่ายพนักงานลงได้ 30% หรือลดลงเหลือปีละ 9,000 ล้านบาท จากปกติการบินไทยมีค่าใช้จ่ายพนักงานปีละประมาณ 13,000 ล้านบาท ทั้งนี้การบินไทยได้เตรียมดำเนิน 3 กลยุทธ์หลักเพื่อเร่งฟื้นฟูบริษัท คือ 1.เร่งหารายได้เพิ่ม ปรับลดฝูงบิน ปรับราคาขาย ปรับช่องทางจำหน่ายตั๋ว เร่งหารายได้เสริมที่นอกเหนือจากการบิน เช่น ครัวการบิน บริการภาคพื้น ซ่อมบำรุง 2.เร่งเจรจากับผู้ให้เช่าเครื่องบิน เพื่อขอลดค่าเช่า และขยายธุรกิจฝ่ายช่างโดยตั้งเป้าที่ให้บริการซ่อมบำรุงสายการบินในประเทศอินโดไชน่าเพิ่มเติม และ3.ปรับการทำงานให้สากล โดยนำระบบดิจิตัลมาใช้
นายนนท์ กลินทะ รักษาการ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่สายกลยุทธ์องค์กรและพัฒนาอย่างยั่งยืน กล่าวว่า ส่วนแผนที่จะกลับมาเปิดทำการบินเส้นทางระหว่างประเทศนั้นตามแผนบริษัทตั้งเป้าจะกลับมาเปิดทำการบินระหว่างประเทศในช่วงไตรมาส 1/64 และเตรียมแผนบินต่อเนื่องช่วงไตรมาส 2/64 ขณะที่การทำการบินภายในประเทศนั้นเริ่มเปิดทำการบินได้กว่า 60% แล้ว โดยในปี 64 การบินไทยมีเป้าหมายจะทำการบินเพิ่มขึ้นเป็น 45-55 เมือง จากที่ปี 63 ทำการบินอยู่ 25-35 เมือง โดยคาดว่าจะใช้เครื่องบิน 37-45 ลำ มีแต่รายได้รวมตะลดลงเหลือ 15000-25000 ล้านบาท และในปี 68 จะทำการบินเพิ่มเป็น 70-80 เมือง ใช้เครื่องบิน รวม 75ลำ คาดว่าจะทำรายได้รวม 125000-135000 ล้านบาท