“พลังงาน” เร่งดูข้อกฎหมาย-ขอความร่วมมือลด “ค่าการกลั่น”

ผู้ชมทั้งหมด 858 

“สุพัฒนพงษ์” เล็งบี้ลด “ค่าการกลั่น” เร่งถกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูข้อกฎหมาย พร้อมขอความร่วมมือผู้ประกอบการ หวังกดราคาขายปลีก “ดีเซล-แก๊สโซฮอล์” เตรียมหารือร่วม “ธปท.-ก.คลัง-สศช.” คลอดมาตรการดูแลราคาพลังงานขาขึ้น สกัดเงินเฟ้อ  ยันช่วยคนใช้ไฟไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือนถึงสิ้นปีนี้  

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า กระทรวงพลังงาน อยู่ระหว่างหามาตรการเพิ่มเติมในการดูแลผลกระทบจากต้นทุนราคาพลังงานที่ปรับสูงขึ้น แม้ว่าที่ผ่านมา คนไทยจะเริ่มตระหนักถึงผลกระทบจากราคาพลังงานที่แพงขึ้น และภาครัฐก็ได้ช่วยเหลือด้านต้นทุนราคาโดยเฉพาะการประคับประคองราคาขายปลีกดีเซล จนทำให้เกิดผลกระทบ เนื่องจากราคาน้ำมันในประเทศเพื่อนบ้านแพงกว่าไทยและเกิดการไหลเข้ามาเติมน้ำมันในประเทศไทย ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ภาครัฐจะต้องระมัดระวัง และก็เฝ้าติดตามสถานการณ์ต่างๆอย่างใกล้ชิด

ขณะเดียวกัน จากการติดตามสถานการณ์ราคาพลังงานในช่วงที่ผ่านมา ก็พบข้อน่าสังเกตว่า เกิดส่วนต่างระหว่างราคาน้ำมันดิบกับน้ำมันสุกเป็นระยะเวลานาน จากอดีตเคยเกิดส่วนต่างแค่ระยะสั้นๆ ซึ่งเบื้องต้นก็ได้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปแล้ว และน่าจะผลักดันให้เกิดการปรับลดราคาค่าการกลั่นได้ แต่ก็ต้องเป็นไปตามกลไกเสรี  

อย่างไรก็ตาม กระทรวงพลังงาน จะดำเนินการทั้งขอความร่วมมือโรงกลั่นน้ำมัน ให้พิจารณาปรับลดค่าการกลั่น ควบคู่กับการใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องเข้ามาดูแลว่าจะทำให้ลดค่าการกลั่นได้หรือไม่ โดยจะต้องดูข้อกฎหมายเช่น กฎหมายของกระทรวงพาณิชย์ กฎหมายสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค และกฎหมายของกระทรวงพลังงาน เพื่อให้เกิดการปรับลดราคาขายปลีกกลุ่มดีเซลและแก๊สโซฮอล์ คาดว่า จะมีความชัดเจนในเดือนมิ.ย.นี้

นอกจากนี้ภาครัฐ กำลังหารือทุกภาคส่วน เพื่อออกแพกเกจลดผลกระทบจากต้นทุนราคาพลังงานแพง และส่งผลให้เงินเฟ้อของไทยสูงสุดในรอบ 13 ปี แตะร้อยละ 7.1 ในเดือน พ.ค.65 ซึ่งมาตรการดูแลราคาพลังงานเดิมบางส่วนจะสิ้นสุดในเดือน มิ.ย.นี้ โดยในส่วนของค่าไฟฟ้า  แม้ว่า ต้นทุนค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (เอฟที) ในงวดสุดท้ายของปีนี้ (ก.ย.-ธ.ค.65 ) จะต้องปรับเพิ่มขึ้น แต่ก็จะพยายามให้เป็นการปรับขึ้นเป็นครั้งสุดท้าย ขณะเดียวกันในส่วนของประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน จะไม่ขยับขึ้น โดยคงจ่ายเท่ากับงวดที่ 1/2565 (ม.ค.-เม.ย.) ซึ่งเป็นนโยบายต่อเนื่องจากที่งวดที่ 2/2565 (พ.ค.-ส.ค.) ซึ่งจะดูแลให้อยู่ในอัตราดังกล่าวไปจนถึงสิ้นปีนี้ ทั้งนี้ คาดว่า แพจเกจช่วยเหลือต้นทุนพลังงานรอบใหม่จะสรุปได้ก่อนสิ้นเดือนมิ.ย.นี้ 

ส่วนกรณีที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ร่วมแบกรับภาระค่าไฟฟ้า FT เป็นมูลค่าสูงหลายหมื่นล้านบาท ในขณะที่ ครม. อนุมัติให้ กฟผ.กู้เงินเสริมสภาพคล่องเพียง 2.5 หมื่นล้านบาทนั้น กฟผ.ยังสามารถขอขยายกรอบเงินกู้เพิ่มเติมได้หากจำเป็น และก็สามารถเสนอ ครม.พิจารณา ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ดำเนินการได้เพราะภายใต้สถานการณ์ในปัจจุบัน ถือเป็นหน้าที่ที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันแบ่งเบาภาระของประชาชน