กทท. ทบทวน แผนสมาร์ทคอมมูนิตี้คลองเตย 9.8 พันล้านบาท  

ผู้ชมทั้งหมด 790 

กทททบทวน แผนสมาร์ทคอมมูนิตี้คลองเตย 9.8 พันล้านบาท ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันและความต้องการของประชาชนในพื้นที่ คาดแล้วเสร็จภายในปีนี้ เดินหน้ายกระดับท่าเรือกรุงเทพสู่สมาร์ทพอร์ต 

นายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการพัฒนาพื้นที่เพื่อการอยู่อาศัยในชุมชนคลองเตย Smart Community โดยระบุว่า ก่อนหน้านั้น กทท. ได้กำหนดแผนเป็นทางเลือกให้กับชุมชนคลองเตยแล้วที่จะรองรับต่อการเปลี่ยนแปลงด้านที่อยู่อาศัย จากการพัฒนาโครงการสมาร์ทคอมมูนิตี้ แต่ก็พบว่าอาจจะเป็นแผนที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน จึงต้องนำมาแผนทั้งหมดมาปรับปรุงใหม่

ซึ่งในขณะนี้ กทท.อยู่ระหว่างทบทวนแผนพัฒนาโครงการดังกล่าว เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันและความต้องการของประชาชนในพื้นที่ชุมชนคลองเตย โดยปัจจุบัน กทท. อยู่ในขั้นตอนของการสำรวจความต้องการของประชาชน  เบื้องต้นคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปีนี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โครงการลงทุนพัฒนาที่อยู่อาศัยแห่งใหม่ Smart Community ก่อนหน้านี้ กทท. มีการประมาณการณ์วงเงินอยู่ที่ 9,856 ล้านบาท บนพื้นที่ 58 ไร่ โดยจะก่อสร้างเป็นอาคารพักอาศัยสูง รวมประมาณ 6,048 ยูนิตโดยจะทยอยดำเนินการระหว่างปี 2562 – 2581 แบ่งการดำเนินงานออกเป็น 4 ระยะ คือ ระยะที่ 1 เดิมคาดว่าเริ่มงานก่อสร้างได้ในปี 2566 ใช้เวลาก่อสร้าง 2 ปี แล้วเสร็จในปี 2568 หลังจากนั้นจะเริ่มดำเนินการระยะถัดไป คาดว่าจะก่อสร้างครบทั้งโครงการในปี 2578 ซึ่ง กทท.มีทางเลือกให้กับประชาชนในชุมชนคลองเตยต่อการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว 3 ทางเลือก ประกอบด้วย 1.การย้ายขึ้นอาคารสูงในพื้นที่องค์การฟองหนัง (เดิม) ในรูปแบบของอาคารชุด2.การย้ายไปพื้นที่ว่างเปล่า ย่านหนองจอก และ 3.การรับเงินชดเชยเพื่อกลับภูมิลำเนา โดยจะให้ได้รับมูลค่าหรือสิทธิประโยชน์ในวงเงินที่เหมาะสมและเสมอภาคกัน

ขณะที่แผนพัฒนา Smart Community ก่อนหน้านี้ กทท. ได้ว่าจ้างที่ปรึกษา คือ กลุ่มนิติบุคคลร่วมทำงาน AAhoa เพื่อดำเนินการออกแบบงานสถาปัตยกรรม วิศวกรรมโครงสร้าง งานระบบประกอบอาคาร (Detail Design) และจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เพื่อพัฒนาโครงการระยะที่ 1 วงเงินลงทุน 2,351 ล้านบาท ซึ่งเป้าหมายเดิมคาดว่าจะเสนอขอรับจัดสรรงบประมาณปี 2565 สามารถเปิดประมูลก่อสร้างได้ในช่วงปลายปี 2565 แต่เนื่องจากติดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้แผนงานล่าช้า 

โดยแผนพัฒนาพื้นที่เพื่อการอยู่อาศัยในชุมชนคลองเตย ระยะที่ 1 จะก่อสร้างอาคารที่อยู่อาศัยประมาณ 10 ชั้นจำนวนประมาณ 6 – 8 อาคาร บนพื้นที่ 58 ไร่ ก่อสร้างเป็นอาคารที่พักอาศัย รวมประมาณ 6,048 ยูนิต พร้อมด้วยอาคารส่วนกลางเพื่อรองรับอาคารสำนักงาน หน่วยงานราชการ สถานบริการสาธารณสุข องค์กรหรือมูลนิธิภายในชุมชน อาคารที่จอดรถ พื้นที่ตลาด พร้อมทั้งพื้นที่สำหรับโรงเรียน ศูนย์เด็กเล็ก และพื้นที่สีเขียวเพื่ออำนวยความสะดวกในแก่ประชาชนภายในโครงการ