ผู้ชมทั้งหมด 548
ปตท.ชี้ ผลการดำเนินงานไตรมาส 2 มีหลายปัจจัยบวก ทั้งราคาน้ำมัน ก๊าซ ปิโตรเคมี ยังทรงตัวระดับสูง พร้อมบุ๊กกำไรธุรกิจยาหลังซื้อหุ้นเพิ่มใน “โลตัส ฟาร์มาซูติคอล” ตั้งแต่ไตรมาส2 ขณะที่อากาศร้อนหนุนวอลุ่มธุรกิจก๊าซฯ ไตรมาส2 เป็นช่วงพีค คาดการณ์ ปีนี้ ราคาดูไบแตะ 98-103 ดอลลาร์ฯบาร์เรล ค่าการกลั่น 10.5-11.5 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ลุยตัดสินใจลงทุนขั้นสุดท้าย เม.ย.65 จับมือ “ฟ็อกซ์คอนน์” ตั้งโรงงาน OEM วางแพลตฟอร์มผลิตรถอีวี นำร่อง 50,000 คัน ในปี67 ก่อนแตะ 1 แสนคัน ปี73
นายธนพล ประภาพันธ์ ผู้จัดการฝ่ายผู้ลงทุนสัมพันธ์ บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) หรือ PTT เปิดเผยในงาน Oppday Q1/2022 บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) PTT เมื่อวันที่ 30 พ.ค.2565 โดยระบุว่า แนวโน้มการดำเนินงานในไตรมาส 2 ของบริษัท พบว่า มีหลายปัจจัยบวกที่จะเข้ามาขับเคลื่อนธุรกิจ ทั้งราคาน้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ ปิโตรเคมี ที่ปรับเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 1 ที่ผ่านมา ซึ่งอาจจะส่งผลดีต่อธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม(E&P) แต่ในส่วนอขงธุรกิจไฟฟ้าก็อาจจะได้รับผลกระทบจากต้นทุนวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม คาดว่าในส่วนของความต้องการใช้ก๊าซฯ จะเพิ่มขึ้นในไตรมาส 2 เนื่องจากเป็นช่วงที่มีความต้องการใช้สูงสุด(พีค)ในแต่ละปี เพราะเข้าสู่ฤดูร้อนทำให้มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงขึ้น จากใช้ก๊าซฯจึงปรับขึ้นตาม
นอกจากนี้ ในไตรมาส 2 ปีนี้ ปตท.ยังเตรียมรับรู้กำไรจากธุรกกิจยา หลังจาก อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ ปตท. ถือหุ้น 100% ได้เพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นใน บริษัท โลตัส ฟาร์มาซูติคอล ที่บริษัทผู้ผลิตยาสามัญชั้นนำจากไต้หวัน ที่จะเริ่มรับรู้ผลตอบแทนเข้ามาตั้งแต่ไตรมาส 2 เป็นต้นไป
รวมถึง ในปีนี้ ยังมีความคืบหน้าโครงการต่างๆ ที่จะแล้วเสร็จตามแผน ได้แก่ ท่อส่งก๊าซธรรมชาติบนบกเส้นที่ 5 จะเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์(COD) ในเดือนธ.ค. นี้ , โครงการก่อสร้างคลังจัดเก็บและแปรสภาพก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG Receiving Terminal) แห่งที่ 2 ต.หนองแฟบ จ.ระยอง จะเสร็จสมบูรณ์ภายในปีนี้ และการพัฒนาแพลตฟอร์มผลิตยานยนต์ไฟฟ้า(อีวี) ที่ ปตท.มีความร่วมมือบริษัท หงไห่ พริซิชั่น อินดัสทรี จำกัด (Hon Hai Precision Industry Co., Ltd.) หรือ ฟ็อกซ์คอนน์ กรุ๊ป (Foxconn Technology Group) ล่าสุด ในเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา ได้ตัดสินใจลงทุนขั้นสุดท้าย (FID) ที่จะเดินหน้าจัดตั้งโรงงานรับจ้างผลิตรถอีวี ในประเทศไทย กำลังผลิตเริ่มต้น 50,000 คัน ภายในปี 2567 และจะเพิ่มขึ้นเป็น 1 แสนคันภายในปี 2573
ขณะที่ ธุรกิจทางการแพทย์ผลิตเม็ดพลาสติก พีพี เกรด เมลต์โบลน ตั้งแต่ต้นน้ำเป็นวัตถุดิบ เพื่อผลิตหน้ากากอนามัย N95 ชุด PPE ครบวงถึงปลายน้ำรายแรกของไทย จะCOD ในไตรมาสที่2 และโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานโซลาร์ฟาร์ม ในอินเดีย ที่บริษัทเข้าถือหุ้น ในบริษัท Avaada Energy Private Limited (Avaada)ของกลุ่ม GPCS จะทยอยจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์(COD)และเริ่มทยอยรับรู้รายได้ตั้งแต่ปีนี้ เป็นต้น
สำหรับแผนการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) ในปีนี้ ยังขึ้นอยู่กับการประเมินความต้องการใช้ก๊าซฯของภาครัฐ แต่ในช่วงไตรมาส 1 ที่ผ่านมา ปตท. มีการนำเข้าก๊าซฯ อยู่ที่ 2.3 ล้านตัน แบ่งเป็น Spot LNG อยู่ที่ 1.1 ล้านตัน ขณะเดียวกัน ปตท. จะมีนำเข้า LNG ภายใต้สัญญาระยะยาว มีอยู่ 5.2 ล้านตันต่อปี ขณะที่เบื้องต้น ภาครัฐ ประเมินว่า ปีนี้ จะมีการนำเข้า LNG ประมาณ 4.5 ล้านตัน ซึ่งในส่วนนี้ ปตท.จะต้องนำเข้า 1.8 ล้านตัน เพื่อมาชดเชยกับกำลังการผลิตก๊าซฯจากแหล่งเอราวัณที่ลดลง ส่วนที่เหลือ ยังต้องรอว่าภาครัฐจะจัดสรรให้ Shipper LNG แต่ละนำเข้าอย่างไร ต่อไป
นายธนพล กล่าวอีกว่า สำหรับภาพรวมธุรกิจปีนี้ ปตท. คาดการณ์ว่า ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ย จะอยู่ที่ 98-103 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล สูงขึ้นจากปีก่อน ขณะที่ค่าการกลั่นสิงคโปร์(GRM) คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 10.5-11.5 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล สูงขึ้นจากปีก่อนอยู่ที่ 3.4 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) รูปแบบ Spot คาดจะอยู่ที่ 33.8 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู จากปัจจุบัน อยู่ที่ 21-25 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู เทียบกับปีก่อนอยู่ที่ 15 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู
สำหรับแนวโน้มธุรกิจปิโตเคมีปีนี้ คาดว่าจะมีราคาสูงขึ้นทุกผลิตภัณฑ์ มาจากราคาต้นทุนที่สูงขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากราคาน้ำมันดิบและแนฟทาที่ยังคงอยู่ในระดับสูง ท่ามกลางสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยังคงยืดเยื้อ ประกอบกับมาตรการคว่ำบาตรที่เพิ่มมากขึ้น โดยราคากลุ่มผลิตภัณฑ์โอเลฟินส์ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่วนราคากลุ่มผลิตภัณฑ์อะโรเมติกส์ก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเช่นกัน
ส่วนธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม (E&P) ของ ปตท.สผ. คาดว่า ปริมาณการขายจะปรับเพิ่มขึ้น 12% จากปีก่อน ขณะที่ธุรกิจโรงกลั่นน้ำมัน จะมีค่าการกลั่นที่สูงขึ้น แต่กำลังการกลั่นฯ จะลดลงเล็กน้อย เนื่องจากมีการปิดซ่อมบำรุงตามแผนของ IRPC และGC ในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้