กกพ. ส่งสัญญาณปรับค่าเอฟที กระทบกฟผ.แบกรับภาระตรึงค่าไฟฟ้า 1.09 แสนล้าน

ผู้ชมทั้งหมด 1,025 

กกพ. ส่งสัญญาณทุกภาคส่วนรับมือค่าไฟฟ้า มิ.ย. 65 เตรียมพิจารณาปรับขึ้นค่าเอฟที งวดเดือน ก.ย.-ธ.ค. 65 เป็น 4.40 บาท กระทบกฟผ.แบกรับภาระตรึงค่าไฟฟ้า 109,000 ล้านบาท

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แนวโน้มราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ราคาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) จะยังคงทรงตัวอยู่ในระดับสูง ซึ่งในระยะยาวยังคงส่งผลกระทบต่อต้นทุนสำหรับเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า โดยจะส่งผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าแพงขึ้นไปด้วย ดังนั้นผู้ประกอบการ ภาคประชาชนต้องเตรียมหามาตรการรับมือกับค่าไฟฟ้าที่จะปรับเพิ่มขึ้น เพื่อสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง

ขณะเดียวกัน คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ล่าสุดก็มีมติปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่าเอฟที) สำหรับการเรียกเก็บค่าไฟฟ้าในรอบเดือนพฤษภาคม – สิงหาคม 2565 โดยให้เรียกเก็บที่ 24.77 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลให้อัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 23.38 สตางค์ต่อหน่วย เป็น 4.00 บาทต่อหน่วย นั้นยังไม่สะท้อนต้นทุนเชื้อเพลิงที่แท้จริง แต่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ยังต้องแบกรับภาระค่าเอฟทีแทนประชาชนอยู่ราว 83,000 ล้านบาท

แหล่งข่าวจากวงการอุตสาหกรรมพลังงาน เปิดเผยว่า ในเดือนมิถุนายน 2565 กกพ. เตรียมที่จะเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการ กกพ. เพื่อพิจารณาปรับขึ้นค่าเอฟทีอีก 40 สตางค์ต่อหนวย ซึ่งก็จะส่งผลให้ค่าไฟฟ้าจะจัดเก็บในบิลค่าไฟฟ้างวดเดือนกันยายน – ธันวาคม 2565 อยู่ที่ประมาณ 4.40 บาทต่อหน่วย เนื่องจากต้องนำเข้า LNG มาผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้น หลังจากปริมาณก๊าซจากแหล่งในอ่าวไทยที่ส่งป้อนโรงไฟฟ้านั้นลดลง จากราคา LNG อยู่ในระดับจึงกระทบต่อต้นทุนค่าไฟฟ้า

แหล่งข่าวระบุว่า แม้จะปรับเพิ่มขึ้นค่าไฟฟ้าในระดับ 4.40 บาทต่อหน่วยก็ยังไม่สะท้อนต้นทุนค่าไฟฟ้าที่แท้จริง ซึ่งกฟผ. ยังต้องแบกรับภาระค่าเอฟทีเพิ่มขึ้นเป็น 109,000 ล้านบาท ส่งผลต่อให้ กฟผ.ประสบปัญหาการขาดสภาพคล่องเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตามต้นทุนค่าไฟฟ้าที่แท้จริงนั้นกกพ.ต้องปรับเพิ่มขึ้นค่าไฟฟ้าไปอยู่ในระดับ 5.40 บาทต่อหน่วย นั้นหมายความว่า กกพ. จะต้องปรับค่าเอฟที อีก 1 บาท ถึงจะสะท้อนต้นทุนเชื้อเพลิงที่แท้จริง ซึ่งจะทำให้กฟผ. หมดภาระค่าเอฟที

ทั้งนี้ที่ผ่านมา กฟผ.ช่วยแบกภาระค่าเอฟทีแทนประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้า ในงวด ก.ย.-ธ.ค.64 เป็นวงเงินประมาณ 39,000 ล้านบาท และเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 60,000 ล้านบาทในงวดเดือน ม.ค.-เม.ย. 65 โดยการแบกภาระหนี้ค่าเอฟทีที่มากเกินไปทำให้ กฟผ.ประสบปัญหาการขาดสภาพคล่อง และปตท.ต้องเข้ามาช่วยขยายเวลาจ่ายหนี้ค่าก๊าซเดือนพ.ค.มูลค่า 13,000 ล้านบาทให้เป็นระยะเวลา 4 เดือน กฟผ.พร้อมยกเว้นดอกเบี้ยผิดนัดอีก 340 ล้านบาทให้ กฟผ.