ผู้ชมทั้งหมด 905
“บี.กริม เพาเวอร์” ชี้มีหลายปัจจัยบวกหนุนผลประกอบการช่วงที่เหลือของปีนี้ จ่อปิดดีล M&A กิจการโรงไฟฟ้าก๊าซฯและพลังงานหมุนเวียน ทั้งในเวียดนาม มาเลเซีย และเกาหลีใต้ ดันกำลังผลิตใหม่เข้าเป้า 1,000 เมกะวัตต์ปีนี้ เตรียมนำเข้า LNG ลำแรกเดือน ม.ค.ปี66 ลดต้นทุนค่าก๊าซฯ พร้อมเล็กออกหุ้นกู้ 5,000-8,000 ล้านบาท เสริมแกร่งทางการเงิน
นายนพเดช กรรณสูต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน รองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส – การเงินและบัญชี บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM เปิดเผยในงาน Oppday Q1/2022 บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) BGRIM เมื่อวันที่ 27 พ.ค.2565 โดยระบุว่า แนวโน้มผลการดำเนินงานในช่วงที่เหลือของปีนี้ มีหลายปัจจัยบวกที่จะเข้ามาสนับสนุนเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ที่ผ่านมา ได้แก่ การรับรู้กำลังการผลิตเพิ่มจากการเข้าซื้อโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์รวม 88 เมกะวัตต์ ของกลุ่ม reNIKOLA ประเทศมาเลเซีย จะเสร็จสมบูรณ์ภายในปี 2565 การที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) มีมติปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ(Ft) ในรอบเดือนพ.ค.-ก.ย. อีก 23.38 สตางค์ต่อหน่อย ซึ่งจะเสริมรายได้อัตราค่าไฟฟ้าให้กับบริษัท
และโครงการ SPP Replacement จำนวน 5 โครงการ กำลังผลิตรวม 700 เมกะวัตต์ ที่จะทยอยจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบทดแทนโรงไฟฟ้าเดิม ซึ่งจะมีอัตราไฟฟ้าส่วนเพิ่มเข้ามาจากเดิมอีก 135 เมกะวัตต์ แถมยังช่วยประหยัดต้นทุนเชื้อเพลิงก๊าซฯลงได้ 15% ตลอดจนโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (PV Solar Farm) ตามการพัฒนาพื้นที่ท่าอากาศยานอู่ตะเภา เฟส 1 กำลังผลิต 18 เมกะวัตต์ จะเข้าระบบในปีนี้
รวมถึงยังมีโอกาสจากแผนควบรวมหรือซื้อกิจการ(M&A) โครงการโรงไฟฟ้าก๊าซฯและพลังงานหมุนเวียน ที่อยู่ระหว่างเจรจา เช่น เวียดนาม มาเลเซีย และเกาหลีใต้ ที่น่าจะปิดดีลได้ภายในปีนี้ ซึ่งจะหนุนให้ปีนี้ มีกำลังผลิตใหม่เป็นไปตามเป้าหมาย 1,000 เมกะวัตต์
“บี.กริม ยังเดินหน้าศึกษาความเป็นไปได้ในการหาโอกาสเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้า เพื่อไปสู่เป้าหมาย 7,200 เมกะวัตต์ภายในปี 68 และ 10,000 เมกะวัตต์ภายในปี 73 ซึ่งศึกษาโอกาสทั้งในไทย แถบเอเชียแปซิฟิก และภูมิภาคอื่นๆ”
สำหรับโครงการ LNG-to-Power ในเวียดนาม ปัจจุบันยังรอแผนแม่บทการพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าฉบับที่ 8 ของเวียดนามออกมาก่อน คาดว่าจะประกาศเร็วๆนี้ โดยมีโครงการ LNG-to-Power ที่อยู่ระหว่างการศึกษา 2-3 โครงการ กำลังการผลิต 2,000-3,000 เมกะวัตต์ต่อแห่ง
ส่วนสถานการณ์ราคาก๊าซธรรมชาติที่ปรับสูงขึ้นนั้น บริษัท อยู่ระหว่างติดตามทิศทางราคาก๊าซฯอย่างใกล้ชิด ซึ่งจะเห็นว่าทางหน่วยงานภาครัฐได้เข้ามาบริหารจัดการ โดยปรับสูตรคำนวณราคาเชื้อเพลิงเป็น Energy Pool Price เพื่อช่วยลดผลกระทบด้านต้นทุน ขณะเดียวกันบริษัททก็พยายามบริหารจัดการผลกระทบที่เกิดขึ้น ทั้งการหาโอกาสธุรกิจใหม่เพิ่ม เพิ่มฐานลูกค้าอุตสาหกรรม และหาโอกาสจากการทำดีลM&A เข้ามาเสริมรายได้ การจัดการด้านประสิทธิภาพ การใช้เทคโนโลยีใหม่เข้ามาเสริมเป็นต้น
อีกทั้ง บริษัท ยังเตรียมนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) หลังจากได้ทำสัญญาระยะยาวไว้แล้ว ซึ่งจะเริ่มนำเข้ามาใช้กับโรงไฟฟ้าของบริษัท ในเดือนม.ค.ปี 2566 เป็นต้นไป โดยคาดว่าจะช่วยควบคุมความสามารถในการดำเนินงานและจัดการต้นทุนได้ดีขึ้น
นายนพเดช กล่าวอีกว่า บริษัทมีความมั่นใจในการเตรียมความพร้อมด้านการเงินและการรักษาสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง เพื่อเตรียมความพร้อมเดินหน้าขยายการลงทุนตามแผน 5 ปี(2565-2569) ที่จะใช้เงิน 140,000 ล้านบาท โดยในส่วนนี้จะต้องจัดหาเงินทุน ประมาณ 45,000 ล้านบาท ซึ่งจะต้องเตรียมพร้อมจัดหาเงินทั้งจากการที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2565 อนุมัติขยายวงเงินหุ้นกู้เป็นไม่เกิน 100,000 ล้านบาท เพื่อเตรียมความพร้อมและความคล่องตัวในการบริหารด้านการเงิน รองรับการเติบโตของธุรกิจ และโอกาสในการลงทุนที่จะเข้ามาในอนาคต ทั้งในรูปแบบการออกหุ้นกู้ ให้มีต้นทุนการเงินที่แข่งขันได้ และปิดความเสี่ยงอัตราดอกเบี้ย รวมถึงการระดมทุนในรูปแบบอื่นๆด้วย ทั้งตราสารหนี้และตราสารทุน เป็นต้น เพื่อบริหารจัดการทางการเงินที่เหมาะสมในส่วนของอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน(D/E) ให้อยู่ในกรอบ 1.5-2 เท่า ใน 5 ปี
อย่างไรก็ตาม บริษัท อยู่ระหว่างการศึกษารูปแบบการจัดหาเงินทุนที่เหมาะสม ทั้งเรื่องของการออกใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้น หรือ วอร์แรนต์ และแผนการจัดซื้อหุ้นคืน ซึ่งเรื่องนี้จะต้องนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการบริษัท โดยหากมีรูปแบบที่ชัดเจนแล้วจะแจ้งให้นักลงทุนรับทราบต่อไป ขณะเดียวกันบริษัท มีแผนออกหุ้นกู้ เพื่อเตรียมระดมทุนเพิ่มเติม วงเงินประมาณ 5,000-8,000 ล้านบาท เพื่อตอบโจทย์การเติบโตของบริษัทและรักษาอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม