“รัฐ” ลุยเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนผลิตไฟฟ้าแตะ 50% ช่วยโลกลดปล่อยคาร์บอน

ผู้ชมทั้งหมด 1,237 

“พลังงาน” ลั่น พร้อมผลักดันผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ลุยเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนแตะ 50% ใน 20 ปี หวังลดปล่อยคาร์บอน หนุนผลิตไฟโซลาร์เพิ่ม 4,500 เมกะวัตต์ ผนึก กกพ.เตรียมคลอดกลไก Green Tariff รองรับซื้อขายไฟฟ้า RE 100

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวเสวนาหัวข้อ “สิ่งแวดล้อมยุคใหม่เติบโตไปพร้อมกับเศรษฐกิจ” ในการจัดงาน “ถามมา – ตอบไป เพื่อประเทศไทยที่ดีกว่าเดิม” (Better Thailand Open Dialogue)โดยระบุว่า ในปี 2564 ประเทศไทยมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ อยู่ที่ 247 ล้านตัน และ 2 ใน3 หรือ ประมาณ 157 ล้านตัน มาจากภาคการผลิตไฟฟ้าถึง 36% ภาคขนส่ง 28% ขณะที่ภาคอุตสาหกรรม ปล่อยอยู่ที่ 30% และภาคเกษตรกรร ปล่อยอยู่ที่ 5% โดยสาเหตุที่ ภาคไฟฟ้าและขนส่ง ปล่อยคาร์บอนฯ รวมกันสูงถึง 64% เนื่องจากมีการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลทั้งน้ำมัน,ถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติในปริมาณมาก

โดยภาคพลังงาน แม้ว่า ก๊าซฯจะเป็นเชื้อเพลิงสะอาดแต่ก็ยังจัดอยู่ในกลุ่มเชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งประเทศไทยเอง มีการใช้ก๊าซฯ ผลิตไฟฟ้าในสัดส่วนถึง 70% ถ่านหิน 17% น้ำมัน 0.3% พลังน้ำ 2% และพลังงานหมุนเวียน 11% ขณะที่ภาคขนส่ง แม้ว่าจะมีเรื่องของยานยนต์ไฟฟ้า(อีวี) แต่ก็มีการใช้รถอีวี อยู่ที่ 10,000 คัน ซึ่ง 69% ยังใช้น้ำมันเบนซินและดีเซล

ขณะเดียวกัน ในช่วงที่ผ่านมา ภาคพลังงาน ยังเผชิญกับวิกฤตราคาน้ำมัน จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้ราคาน้ำมันดิบลดลงไปเหลือ 20 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่งผลให้ประเทศผู้ผลิตน้ำมันปิดกิจการหรือลดการผลิตน้ำมันลง ทำให้น้ำมันขาดแคลน ก่อนที่เศรษฐกิจจะเริ่มฟื้นตัวและส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันกลับมาเพิ่มขึ้นทำให้ราคาขึ้นไปแตะ 80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในช่วงปลายปีที่ผ่านมา จากนั้นความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน ก็เข้ามาซ้ำเติม ทำให้ราคาพุ่งขึ้นไปแตะ 150 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ก่อนอ่อนตัวลงมาล่าสุดวันนี้ อยู่ที่ 105 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาดีเซลโลก กลับสวนทางราคาน้ำมันดิบ พุ่งไปแตะ 180 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และล่าสุดวันนี้ อยู่ที่ประมาณ 140 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

ส่วนก๊าซฯ ที่ไทยใช้ในสัดส่วน 70% ของการผลิตไฟฟ้านั้น ราคาอยู่ที่ 7-8 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียูเมื่อปี 2563 แต่เมื่อเกิดปัญหารัสเซียและยูเครน ทำให้ราคาขึ้นไปแตะ 85 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู ก่อนทยอยลดลงมาอยู่ที่ 20.7 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู อีกทั้ง ก๊าซปิโตรเลียมเหลว(LPG) ที่ไทยตรึงไว้อยู่ 318 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม ต่ำกว่าราคาตลาดโลก มาเป็นเวลา 2 ปีแล้ว โดยใช้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เข้าไปอุดหนุน รวมกับการดูแลราคาขายปลีกดีเซล ทำให้กองทุนฯที่เคยมีเงิน ระดับ 30,000-40,000 ล้านบาท กลายเป็นติดลบระดับกว่า 72,000 ล้านบาท และสถานการณ์วิกฤตพลังงานดังกล่าวยังมีแนวโน้มจะยืดเยื้อต่อไป

ดังนั้น ภาครัฐต้องบริหารจัดการการใช้เชื้อเพลิง โดยจะลดการใช้ฟอสซิล และหันไปเพิ่มพลังงานหมุนเวียนให้มากขึ้น ซึ่งแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ(PDP) ระยะ 20 ปีข้างหน้า จะเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนเป็น 50% ภายในปี 2583 และตามนโยบาย 30@30 ภาครัฐได้ตั้งเป้าหมาย เพิ่มรถอีวี 30% ในปี 2573 รวมถึงตั้งเป้าหมายเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานให้ได้ 30%

อย่างไรก็ตาม เพื่อไปสู่เป้าหมายส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนนั้น กระทรวงพลังงาน ได้วางนโยบาย 4D คือ 1.DECARBONIZATION ลดการปล่อยคาร์บอนในการผลิตไฟฟ้า โดยเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียน ตามแผน PDP 2022 ตั้งเป้าหมายผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ 4,500 เมกะวัตต์ ใน 20 ปี โดยมาจากโซลาร์ลอยน้ำ 9 เขื่อนของ กฟผ. 1,000-2,700 เมกะวัตต์ โซลาร์รูฟท็อป 200 เมกะวัตต์ โซลาร์ฟาร์ม 3,300 เมกะวัตต์ พลังงานลม เพิ่มจาก 300 เป็น 1,500 เมกะวัตต์ ขยะชุมชน และขยะอุตสาหกรรม จะเพิ่มเป็น 800 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าชุมชน 800 เมกะวัตต์ ซึ่งมีโครงการนำร่องแล้ว 150 เมกะวัตต์ รวมถึงรับซื้อไฟฟ้าพลังน้ำจากประเทศเพื่อนบ้าน

นอกจากเพิ่มสัดส่วนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนแล้ว ยังต้องดำเนินการเรื่องการกักเก็บคาร์บอน ปัจจุบัน ปตท.สผ.ได้ทดลองดำเนินการกับแท่นผลิตปิโตรเลียมในแหล่งอาทิตย์แล้ว และบนบกทดลองที่แหล่งสินภูฮ่อม โรงงาน BLCP จะเปลี่ยนคาร์บอนให้เป็นเมทานอล และเรื่องของไฮโดรเจนสีเขียว (Green Hydrogen) ที่จะต้องดำเนินการด้วย

2.DIGITALIZATION คือ การนำเรื่องของ Internet of Things (IoT) เข้ามาใช้ในภาคพลังงาน หรือ Internet of Energy ที่เป็นการใช้ AI ในการจัดเก็บข้อมูลการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ทำเรื่องของสมาร์ทมิเตอร์ การทำเรื่อง Digital Twin เข้ามาใช้คำนวณเรื่องการสร้างโรงไฟฟ้าในโลกเสมือนจริง และต้องมีระบบกักเก็บพลังงาน (ESS) เข้ามาเสริมให้ระบบไฟฟ้ามีความเสถียร

 3.DECENTRALIZATION คือ การสร้างโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก ด้วยระบบโครงข่ายไมโครกริด เพื่อรองรับพลังงานหมุนเวียนเข้าระบบ และขายผ่านระบบออนไลน์ได้

และ 4.DE-REGULATION  ซึ่งจะต้องปรับปรุงเรื่องของกฎระเบียบต่าง ให้รองรับการผลิตไฟฟ้าด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆ

นายกุลิศ กล่าวอีกว่า เพื่อให้แนวทางดังกล่าวเกิดขึ้นได้นั้น ภาครัฐจะต้องดำเนินการดังนี้ 1. โครงสร้างพื้นฐาน จะต้องมีการปรับโครงสร้างพื้นฐาน ขยายแรงดันระบบส่งไฟฟ้าเป็น 500 เควี และ800 เควี ให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ เพื่อรองรับพลังงานหมุนเวียน ซึ่งกระทรวงพลังงาน ได้จัดตั้งคณะกรรมการบูรณาการระบบไฟฟ้าร่วมกับ 3 การไฟฟ้า(กฟผ.,กฟภ.,กฟน.) โดยมีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน

2. เพิ่มการวิจัยและพัฒนา รวมถึงการจัดทำ Venture Capital (กองทุนร่วมลงทุน) ร่วมกับสตาร์ทอัพในด้านพลังงานใหม่ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ  ที่ยังขาดเงินทุน ก็จะต้องเข้าไปร่วม อีกทั้ง ทางกฟผ.ยังได้จัดตั้ง บริษัท อินโนพาวเวอร์ เพื่อเป็นเครื่องมือแสวงหาการร่วมทุนกับสตาร์ทอัพ เพื่อให้นวัตกรรมต่างๆเกิดขึ้นได้จริง

3.เรื่องกฎหมาย ปัจจุบัน กระทรวงพลังงาน กำลังร่วมกับคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) ออกเรื่องของ Green Tariff เพื่อรองรับความต้องการของนักลงทุนที่จะเข้ามาลงทุนในพื้นที่อีอีซี ที่มีความต้องการใช้พลังงานสะอาด หรือ RE 100 เพื่อผลิตสินค้า ป้องกันการกีดกันการส่งออกสินค้า จึงจำเป็นต้องออกมาตรฐานมารองรับการซื้อขายไฟฟ้าตรงจากผู้ซื้อและผู้ขายพลังงานสะอาด

“ทั้ง 3 เรื่องนี้ เป็นสิ่งที่กระทรวงพลังงาน ต้องลงมือปฏิบัติ เพื่อให้แผนการต่างๆเกิดขึ้นได้จริง” นายกุลิศ กล่าว