ผู้ชมทั้งหมด 1,051
ก.พลังงานคิกออฟแผนพัฒนาด้านพลังงานของประเทศใหม่รองรับพลังงานในยุค Digital Disruption ยันไม่มีบรรจุโรงไฟฟ้าถ่านหิน ปลดโรงไฟฟ้าเก่าเร็วขึ้น เล็งปรับสัดส่วนพลังงานทดแทนเป็น 35% พร้อมประเมินความต้องการไฟฟ้าจากรถยนต์ไฟฟ้า รถไฟฟ้า 13 สาย คาดแผนแล้วเสร็จเม.ย.64
นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยภายหลังประชุมเวิร์กช็อปเปิดโอกาส “คนพลังงานร่วมใจ สู่ทิศทางไทยในอนาคต” ว่า หลังจากที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 20 ต.ค. 63 เห็นชอบแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561-2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 แล้วให้นำแผนทั้งหมดที่เสนอไปรวมให้เป็นแผนเดียวกันนั้นในวันนี้เป็นวันแรกที่กระทรวงพลังงานเริ่มต้นนับหนึ่งเดินหน้าจัดทำแผนพัฒนาด้านพลังงานของประเทศแบบบูรณาการ หรือ Thai Integrated Energy Blueprint (TEIB) ที่มีเป้าหมายจัดทำแผนระยะสั้น 5 ปี (2565-2570 ) ระยะปานกลาง 5-10 ปีและยาว 20 ปี
โดยการดำเนินการจัดทำแผน TEIB ต้องบูรณาการในหลายด้านพลังงานรวมกันไม่ว่าจะเป็นพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิล น้ำมัน LPG LNG NGV พลังงานทางเลือกอย่าง เอทานอล ไบโอดีเซล พลังงานหมุนเวียนรวมทั้งจะต้องนำข้อมูลสถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบัน และการคาดการณ์การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ การพยากรณ์การใช้พลังงานของโลกและทิศทางการใช้พลังงานของไทยในอนาคต
นอกจากนี้แผน TEIB นั้นจะต้องพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าของรถไฟฟ้าจำนวน 13 สายในกรุงเทพฯ และปริมณฑลตามแผนพัฒนาโครงสร้างพื้เนฐานของรัฐบาลด้วย รวมถึงต้องนำความต้องการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (รถยนต์ EV) ในอนาคตมาพยากรณ์ด้วย เพื่อสร้างความเข้าใจและกำหนดกรอบภาพอนาคตของพลังงานในยุค Digital Disruption ทั้งในด้านสภาวะโลกร้อนและพลังงานสะอาดที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้
ขณะเดียวกันการจัดทำแผน TEIB นั้นจะไม่มีการพิจารณาเพิ่มสัดส่วนของโรงไฟฟ้าถ่านหินจากที่กำหนดไว้ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (พีดีพี) ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 แต่อย่างใด และจะพิจารณาปลดระวางโรงไฟฟ้าเก่าที่ไม่มีประสิทธิภาพเร็วขึ้นก่อนกำหนด ซึ่งจะมีส่วนการลดสำรองไฟฟ้าที่มีสูงขึ้นถึง 30-40%
สำหรับแผน TEIB นั้นคาดว่าจะดำเนินการจัดทำรายละเอียดแล้วเสร็จพร้อมจัดทำประชาพิจารณ์ต่อประชาชนได้ในเดือน มี.ค. 64 และคาดว่าจะจัดทำแผนแล้วเสร็จสมบูรณ์ในเดือน เม.ย. 64 โดยแผนจะต้องนำไปสู่เป้าหมายลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์หรือ Net-Zero Carbon Emissions ซึ่งไทยจำเป็นต้องปักหมุดว่าจะเป็นปีใดหลังจากสหรัฐฯ และยุโรปกำหนดไว้ปี 2050 (ปีพ.ศ.2593) จีนปี 2060 เป็นต้น ขณะเดียวกันแผนที่จัดทำจะต้องสอดรับกับนโยบายของอาเซียนที่ได้กำหนดเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทนเป็น 35% ในปี 2573