สกนช. จ่อเสนอรัฐยืดเวลาลดชดเชยเชื้อเพลิงชีวภาพอีก 2 ปี

ผู้ชมทั้งหมด 597 

สกนช.เยี่ยมชมกระบวนการผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพเอทานอลของบริษัท มิตรผล ไบโอฟูเอล จ.กาฬสินธุ์ ก่อนนำข้อมูลจัดทำแผนเสนอบอร์ด กบน.ยืดเวลายกเลิกชดเชยอีก 2 ปี หวังรักษาเสถียรภาพราคาสินค้าเกษตร ให้เวลาเกษตรกรและผู้ผลิตเอทานอลปรับตัว ด้าน “มิตรผลฯ” หวังรัฐสนับสนุนธุรกิจเอทานอล ตอบโจทย์ลดโลกร้อน 

นายวิศักดิ์ วัฒนศัพท์ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เปิดเผยว่า สกนช. พร้อมคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่เยี่ยมชมกระบวนการผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพจากเอทานอล ที่จังหวัดกาฬสินธุ์ ระหว่างวันที่ 28 – 29 เมษายน 2565 เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความสำคัญของเชื้อเพลิงเอทานอลที่เป็นส่วนผสมในน้ำมันเบนซินเป็นน้ำมันแก๊สโซฮอล 91 แก๊สโซฮอล 95 E20 และ E85 ในปัจจุบัน ซึ่งเอทานอลผลิตจากวัตถุดิบจากพืชเกษตร อ้อยและมันสำปะหลัง 

โดยกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงได้สนับสนุนและมีส่วนช่วยในการพัฒนาเชื้อเพลิงชีวภาพมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลดีต่อการลดการนำเข้าเชื้อเพลิงฟอสซิล ช่วยสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร และอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพกระจายสู่ภูมิภาค และมีส่วนช่วยลดปัญหาโลกร้อน ซึ่งในการลงพื้นที่ครั้งนี้ ได้มีโอกาสเยี่ยมชมกระบวนการผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพจากเอทานอลของบริษัท มิตรผล ไบโอฟูเอล จำกัด ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้ผลิตเอทานอลที่มีศักยภาพของประเทศ

อย่างไรก็ดี แม้ว่าบทบาทของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงตามพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562 จะต้องทยอยลดการจ่ายเงินชดเชยน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพ โดยลดการอุดหนุนการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพลงภายใน 3 ปี ก็ตาม แต่ก็ต้องคำนึงถึงการปรับตัวของภาคเกษตรกร ผู้ประกอบการเอทานอล และสถานการณ์ของการระบาดของโควิด-19 ประกอบด้วย สกนช. จึงเตรียมขยายการชดเชยออกไปก่อน ซึ่งตามกฎหมายดังกล่าวสามารถขยายเวลาการลดการชดเชยได้ 2 ครั้งๆ ละ 2 ปี ซึ่งการศึกษาดูงานครั้งนี้จะนำข้อมูลที่ได้รับมาปรับใช้และเตรียมจัดทำแผนขอขยายการชดเชยให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบันต่อไป

“เท่าที่ศึกษาข้อมูลในเบื้องต้น มีแนวโน้มที่จะขยายระยะเวลายกเลิกการชดเชยเชื้อเพลิงชีวภาพออกไปก่อน เพื่อสร้างเสถียรภาพราคาสินค้าเกษตร และให้เวลาผู้ผลิตเอทานอล และเกษตรกร มีเวลาปรับตัว”

ทั้งนี้ จากการรับฟังข้อมูล พบว่า ในส่วนของผู้ประกอบการได้เตรียมพร้อมบางแล้ว หากในอนาคตภาครัฐต้องยกเลิกการชดเชยลง เพราะตามกฎหมายชัดเจนว่าในปี 2569 ต้องเลิกชดเชยเชื้อเพลิงชีวภาพ ซึ่งผู้ประกอบการเอทานอล ก็อาจหันไปผลิตกระแสไฟฟ้ามากขึ้น เพื่อรับกับเทรนด์การใช้รถยนต์ไฟฟ้า(อีวี) ที่จะเข้ามาแทนที่รถใช้น้ำมันมากขึ้น รวมถึงศึกษาวิจัยที่จะนำผลผลิตจากอ้อย และมันสำปะหลังไปต่อยอดสู่พลาสติกชีวภาพ และการสร้างมูลค่าเพิ่ม เช่น ผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์เป็นต้น

ส่วนการขยายระยะเวลายกเลิกชดเชยเชื้อเพลิงชีวภาพออกไปนั้น จะไม่ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเพราะปัจจุบันราคาเอทานอลต่ำกว่าราคาน้ำมัน อยู่ที่ประมาณ 26 บาทต่อลิตร 

นายผรินทร์ อมาตยกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มงานการตลาด กลุ่มมิตรผล เปิดเผยว่า เอทานอลเป็นพลังงานทดแทนที่ผลิตได้จากอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลในประเทศไทย ซึ่งมีการพัฒนาและยกระดับขั้นตอนการผลิตตั้งแต่การปลูก การเก็บเกี่ยว และแปรรูป ที่ช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในทุกกระบวนการผลิต รวมทั้งยังมีความเกี่ยวข้องกับรายได้ของเกษตรกร

โดยตลอดระยะเวลากว่า 17 ปี ที่ประเทศไทยมีการส่งเสริมและใช้เอทานอลเป็นพลังงานทดแทนนั้น สามารถกระจายรายได้สู่เกษตรกรชาวไร่อ้อยจำนวน 2 ล้านราย กว่า 120,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 10,000 ล้านบาท จากการเพิ่มมูลค่าให้กับกากน้ำตาล (โมลาส) ซึ่งเป็นผลพลอยได้จากกระบวนการผลิตน้ำตาลสร้างความมั่นคงทางพลังงานและลดการนำเข้าน้ำมันดิบ 12,000 ล้านลิตร มูลค่า 175,000 ล้านบาท ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้กว่า 35 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า โดยบริษัทฯ มีโรงงานผลิตเอทานอลตั้งอยู่ใน 4 จังหวัด มีกำลังการผลิตรวม 1.5 ล้านลิตรต่อวัน หรือ 500 ล้านลิตรต่อปี ใช้วัตถุดิบจากน้ำอ้อยและกากน้ำตาล (โมลาส) 

ทั้งนี้ เมื่อประเทศไทยมีเป้าหมายในการขับเคลื่อนความยั่งยืน มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ในปี 2065 การสนับสนุนการผลิตและการใช้เอทานอล ซึ่งเป็นพลังงานทดแทนจากพืชที่ปลูกได้ในประเทศไทยและมีกระบวนการผลิตที่ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จึงเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่จะช่วยผลักดันให้ประเทศไทยก้าวสู่เป้าหมายดังกล่าว