ผู้ชมทั้งหมด 1,085
กกพ.เร่งพิจารณาอัตราให้บริการ โครงการรับ-จ่าย LNG แห่งที่ 2 (หนองแฟบ) ของ กลุ่ม ปตท.และ กฟผ. ก่อนเปิดใช้งานเชิงพาณิชย์ เฟสแรก พ.ค.นี้ รองรับนำเข้า LNG 2.5 ล้านตันต่อปี พร้อมเตรียมกำหนดเกณฑ์กำกับดูแล Terminal ทั้ง 3 แห่งในพื้นที่มาบตาพุดให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ หลังรัฐบรรจุโครงการ LNG Terminal พื้นที่ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด เฟส 3 ไว้ในแผนโครงสร้างพื้นฐานก๊าซธรรมชาติเพื่อความมั่นคงของประเทศ
แหล่งข่าวคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) เปิดเผยว่า โครงสร้างกิจการก๊าซธรรมชาติของประเทศไทย กำลังจะเปลี่ยนไปในอนาคต เพราะจะอิงสัดส่วนก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) มากขึ้น หลังจากประเทศไทยมีการเปิดใช้งานโครงการก่อสร้างคลังจัดเก็บและแปรสภาพก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG Receiving Terminal) จากการมี Terminal แห่งที่ 1(มาบตาพุด) และ Terminal แห่งที่ 2 (หนองแฟบ) เกิดขึ้น เพราะเมื่อมีการนำเข้า LNG มากขึ้นจะส่งผลกระทบต่อคุณภาพก๊าซฯในระบบ และค่าความร้อนต่างๆ จึงต้องมีการปรับปรุงระบบโครงข่ายต่างๆ เช่น ท่อเชื่อมต่อ และการปรับปรุงคุณภาพก๊าซฯในท่อ ให้เกิดประสิทธิภาพและไม่ส่งผลกระทบต่อโรงไฟฟ้า อีกทั้ง หากในอนาคต Terminal แห่งที่ 3 (มาบตาพุด เฟส 3) เกิดขึ้น จะยิ่งส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างฯ มากขึ้น
อย่างไรก็ตาม Terminal ทั้ง 3 แห่ง มีคุณลักษณะโครงสร้างที่รองรับการใช้งานแตกต่างกัน ดังนั้น หากไม่กำกับการใช้งาน หรือ ปล่อยให้ใช้งานอย่างเสรีเต็มที่ ก็อาจส่งผลให้ ผู้ใช้งาน หรือ ผู้ที่ได้รับใบอนุญาตจัดหาและนำเข้าก๊าซ (LNG Shipper) แห่ไปใช้งาน Terminal แห่งที่ 1(มาบตาพุด) ซึ่งจะทำให้ Terminal ที่ก่อสร้างขึ้นมาตามนโยบายรัฐ ไม่เกิดการใช้งานอย่างเป็นประสิทธิภาพ ฉะนั้น กกพ.จึงต้องบริหารจัดการ Terminal ที่มีอยู่ใช้มีวิธีการใช้งงานที่เกิดประโยชน์ในภาพรวม โดยจะต้องวางหลักเกณฑ์จัดสรร Terminal แต่ละแห่งให้ตอบโจทย์การใช้งาน
“ที่ผ่านมา มีเปิดให้จอง Terminal 1 และ 2 ทุกคนก็แห่ไปจอง Terminal 1 กันหมด เพราะ Terminal 1 มีทั้งโหลดใส่รถบรรทุก และเรือ แต่ Terminal 2 ต้องโหลดก๊าซผ่านท่อฯ อย่างเดียว เวลาจัดสรรการใช้ Terminal ก็ต้องดูว่า ถ้าคนนำเข้าก๊าซฯมาแล้ว จะเอาไม่ได้เอาไปขาย ไม่ได้ใส่รถ ไม่ได้ใส่เรือ ก็จะเอา Terminal 1 ไปทำไม ก็ต้องจัดสรรให้สอดรับกับการใช้งาน”
ส่วน Terminal แห่งที่ 3 หรือ โครงการ LNG Terminal พื้นที่ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 (T-3) ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) จ.ระยอง นั้น ขณะนี้ ยังไม่ทราบรายละเอียดโครงการว่าจะรองรับก๊าซฯ ในลักษณะใด แต่หากโครงการนี้เกิดขึ้น ก็จะเกิดปัญหาลักษณะเดียวกับ Terminal 1 และ 2 เช่นกัน ฉะนั้น กกพ.จะต้องมากำหนดลักษณะเพื่อกำกับดูแลการใช้งานของ Terminal ทั้ง 3 แห่ง ให้เกิดประโยชน์ เพราะหากผู้นำเข้าก๊าซฯทุกรายแห่งไปจองใช้บริการ Terminal เพียงแห่งเดียว ก็จะส่งผลให้เกิดปัญหาคุณภาพก๊าซฯ
ส่วน อัตราบริการของ Terminal แต่ละแห่ง ก็จะต้องพิจารณาให้เกิดการใช้บริการได้จริง ซึ่งราคาก็จะต้องคำนึง 2 ส่วนหลัก ทั้งการเก็บรักษาและแปรสภาพก๊าซฯ ซึ่งยอมรับว่า Terminal ที่เกิดขึ้นก่อนจะสามารถกดราคาเพื่อจูงใจให้เกิดการใช้บริการได้ดีกว่า ดังนั้น กกพ.ก็จะต้องพิจารณาอัตราค่าใช้บริการ Terminal ทั้ง 3 แห่งด้วย
“ตอนนี้ Terminal 1 และ 2 กกพ.กำลังพิจารณาอยู่ว่า ควรเป็นอัตราเดียวกันไหม หากต่างกันมาก ต้นทุนที่ส่งไปถึงแต่ละโรงไฟฟ้าก็จะไม่เท่ากัน ซึ่ง กกพ.ต้องดูภาพรวมให้เกิดการ Utilize สูงสุดต่อประเทศ และต้องมาเป็นอุปสรรคต่อการผลิตไฟฟ้าในภาพรวม ซึ่ง Terminal แห่งที่ 2 จะเปิดใช้งานเชิงพาณิชย์ เฟสแรก เดือน พ.ค.นี้ และใช้งานเต็มรูปแบบสิ้นปีนี้ ดังนั้น กติกาต่างๆ ทาง กกพ.จะประกาศออกมาก่อนใช้งานในเดือน พ.ค.นี้อย่างแน่นอน”
ทั้งนี้ โครงการคลังแอลเอ็นจี(T-1) แห่งที่ 1 มาบตาพุด จาก 10 ล้านตันต่อปี ภาครัฐมอบหมายให้ กลุ่ม ปตท. เป็นผู้ลงทุน ต่อมาขยายเพิ่มอีก 1.5 ล้านตันต่อปี เสร็จปี 2562 รองรับนำเข้า LNG ได้ถึง 11.5 ล้านตันต่อปี
และโครงการคลังแอลเอ็นจี(T-2) แห่งที่ 2 บ้านหนองแฟบ จ.ระยอง ขนาด 7.5 ล้านตันต่อปี เสร็จปี 2565 เดิม ภาครัฐ มอบหมายให้ กลุ่ม ปตท.เป็นผู้ลงทุน ต่อมาการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2564 เห็นชอบแนวทางการส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติ ระยะที่ 2 และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานก๊าซธรรมชาติเพื่อรองรับโครงการโรงไฟฟ้าตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า PDP 2018 (Rev.1) ระบบท่อส่งก๊าซฯ และ LNG Terminal โดยมอบให้ กฟผ. ปรับรูปแบบการลงทุนจากโครงการ FSRU ในพื้นที่อ่าวไทยตอนบน (F-1) เป็นการร่วมลงทุน กับ ปตท. สัดส่วน 50 : 50 ในโครงการคลังแอลเอ็นจี(T-2) แห่งที่ 2
ขณะที่โครงการคลังแอลเอ็นจี(T-3) อยู่ภายใต้ โครงการก่อสร้างท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ช่วงที่ 1 รวมสถานีรับ-จ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG Receiving Terminal) ซึ่งมีกำลังการแปรสภาพ LNG เป็นก๊าซ 10.8 ล้านตัน ต่อปี (ขยายได้ถึง 16 ล้านตันต่อปี) ดำเนินการโดย บริษัท กัลฟ์ เอ็มทีพี แอลเอ็นจี เทอร์มินอล จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) ถือหุ้น 70% และบริษัท พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด(PTT Tank) ซึ่งถือหุ้นโดย ปตท. ร่วมถือหุ้น 30% ในโครงการนี้
ล่าสุด การประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ครั้งที่ 2/2565 (ครั้งที่ 157) เมื่อวันที่ 9 มี.ค.2565 ได้เห็นชอบให้ปรับเพิ่มวงเงินลงทุนโครงการก่อสร้างคลังจัดเก็บและแปรสภาพก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG Receiving Terminal) แห่งที่ 2 จังหวัดระยอง ในแผนระบบรับส่งและโครงสร้างพื้นฐานก๊าซธรรมชาติเพื่อความมั่นคง ที่มอบหมายให้ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ดำเนินการ จากเดิมวงเงิน 38,500 ล้านบาท เป็นวงเงินไม่เกิน 41,400 ล้านบาท เพื่อเร่งดำเนินโครงการให้แล้วเสร็จเร็วกว่าแผนเดิมจากเดือนพฤศจิกายน 2565 มาเป็นเดือนพฤษภาคม 2565 ทำให้สามารถรองรับการนำเข้า LNG ได้เพิ่มขึ้น 2.5 ล้านตันต่อปี เพื่อลดความเสี่ยงจากการขาดแคลนก๊าซธรรมชาติจากการเปลี่ยนผ่านผู้รับสัมปทานแหล่งก๊าซธรรมชาติเอราวัณ รวมถึงความเสี่ยงจากสถานการณ์ในประเทศเมียนมาร์
โดยที่ประชุมได้ให้ กกพ. พิจารณาการส่งผ่านภาระการลงทุน โครงการที่เพิ่มขึ้นซึ่งส่งผลกระทบต่ออัตราค่าบริการไฟฟ้าและค่าบริการก๊าซธรรมชาติในอนาคต ไปยังผู้ใช้พลังงานได้เท่าที่จำเป็นและสอดคล้องกับเหตุผลของการปรับเพิ่มวงเงินลงทุน