ผู้ชมทั้งหมด 1,333
สิ้นสุดระบบสัมปทานแหล่งเอราวัณ-บงกช 50 ปี “กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ” แจงการเปลี่ยนผ่านการดำเนินงานราบรื่น เดินหน้าสร้างความมั่นคงด้านพลังงานต่อเนื่อง ชี้อัตราส่งก๊าซฯ สิ้นสุดสัมปทานของกลุ่มเอราวัณอยู่ที่ 399 ล้านลูกบาศก์ฟุต ส่วนอัตราการส่งก๊าซธรรมชาติ ของกลุ่มบงกชอยู่ที่ 938 ล้านลูกบาศก์ฟุต
นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เปิดเผยว่า การดำเนินงานช่วงเปลี่ยนผ่านของแหล่งก๊าซธรรมชาติเอราวัณ (แปลง G1/61) และแหล่งก๊าซธรรมชาติบงกช (แปลง G2/61) เมื่อวันที่ 23-24 เมษายน 2565 ที่ผ่านมา เป็นไปอย่างราบรื่น โดยสามารถผลิตก๊าซธรรมชาติจากทั้ง 2 แปลง ได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติได้เตรียมพร้อมเพื่อรับมือการดำเนินงานช่วงเปลี่ยนผ่านของแหล่งก๊าซธรรมชาติ แปลง G1/61 และแปลง G2/61 โดยได้จัดตั้งวอร์รูม (War Room) เพื่อรองรับการบริหารจัดการสถานการณ์ฉุกเฉินในลักษณะบูรณาการ ร่วมกับผู้รับสัมปทานรายเดิม ผู้รับสัญญารายใหม่ และผู้รับซื้อปิโตรเลียม
โดยมีผู้บริหารของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติบัญชาการที่ห้องวอร์รูม รวมทั้งมีทีมเฉพาะกิจภาคสนามจำนวน 8 ทีม คอยติดตาม ควบคุมสถานการณ์อย่างใกล้ชิดบนแท่นผลิตในทะเลอ่าวไทย โดยประจำที่แปลง G1/61 และแปลง G2/61 จำนวน 5 จุด และประจำในเรือกักเก็บปิโตรเลียมอีก 3 จุด เพื่อตรวจสอบปริมาณการผลิตปิโตรเลียมรอบสุดท้ายในช่วงเวลาก่อนหมดอายุสัมปทาน รวมทั้งวัดปริมาณปิโตรเลียมที่คงค้างในเรือกักเก็บของทุกแหล่ง ก่อนที่จะมีการส่งมอบให้กับผู้รับสัญญารายใหม่อย่างเป็นทางการ
ก่อนหน้านี้ กรมฯ ได้เตรียมความพร้อมโดยได้ตรวจติดตามสภาพความแข็งแรง ปลอดภัยของสิ่งติดตั้งและทรัพย์สินที่ใช้ในการประกอบกิจการปิโตรเลียมของทั้ง 2 แปลง รวมทั้งมีการปรับโครงสร้างหน่วยงาน และบรรจุบุคลากรเพิ่มเพื่อรองรับภารกิจดังกล่าวภายใต้ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิตด้วย
ทั้งนี้ หลังจากมีการลงนามในสัญญาแบ่งปันผลผลิต โดยคณะรัฐมนตรีอนุมัติให้บริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (ปตท.สผ.อีดี) เป็นผู้ได้รับสิทธิเป็นผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิตแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข G1/61 และ G2/61 เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2561 ที่ผ่านมา กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติในฐานะคู่สัญญาได้ดำเนินการต่างๆ เพื่อให้การผลิตก๊าซธรรมชาติเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้
อย่างไรก็ตาม จากกรณีการเข้าพื้นที่เพื่อเตรียมการดำเนินการต่างๆ ในช่วงเปลี่ยนผ่าน (Transition period) ระหว่างผู้รับสัมปทานรายเดิม กับผู้รับสัญญารายใหม่ของแปลง G1/61 ไม่เป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้นั้นกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแลการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศได้พยายามประสานการเจรจาในการเข้าพื้นที่ระหว่างผู้รับสัมปทานรายเดิม กับผู้รับสัญญารายใหม่มาอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งทั้ง 2 ฝ่ายบรรลุข้อตกลงความร่วมมือต่างๆ เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา เพื่อให้ผู้รับสัญญารายใหม่สามารถเข้าพื้นที่ในแปลงดังกล่าวได้
สำหรับในวันที่ 24 เมษายนนี้ ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของประเทศไทยที่จะมีการใช้ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิตในกิจการปิโตรเลียม จากที่ใช้ระบบสัมปทานมากว่า 50 ปี ซึ่งกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบการดำเนินงานได้มีการเตรียมความพร้อมทุกด้าน และเตรียมแผนรับมือในทุกๆ จุดที่จะทำให้การเปลี่ยนผ่านครั้งนี้เป็นไปอย่างราบรื่น ไม่มีการสะดุด และทำให้กระบวนการผลิตก๊าซธรรมชาติเป็นไปอย่างต่อเนื่อง
ส่วนอัตราการส่งก๊าซธรรมชาติ ณ วันสิ้นสุดสัมปทานของกลุ่มเอราวัณอยู่ที่ 399 ล้านลูกบาศก์ฟุต ประกอบด้วย ก๊าซธรรมชาติจากโครงการ G1/61 จำนวน 376 ล้านลูกบาศก์ฟุต และแหล่งข้างเคียงที่ผลิตร่วมกัน จำนวน 23 ล้านลูกบาศก์ฟุต ส่วนอัตราการส่งก๊าซธรรมชาติ ณ วันสิ้นสุดสัมปทานของกลุ่มบงกชอยู่ที่ 938 ล้านลูกบาศก์ฟุต ประกอบด้วยก๊าซธรรมชาติจากโครงการ G2/61 รวมแหล่งบงกชเหนือและแหล่งบงกชใต้ โดยกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติจะเร่งผลักดันให้บริษัท ปตท.สผ.อีดี เข้าดำเนินการพัฒนาแหล่ง และเพิ่มการผลิตก๊าซธรรมชาติจากแปลง G1/61 โดยเร็วที่สุดเพื่อความเป็นอยู่ของประชาชน และความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศเป็นสำคัญ