ผู้ชมทั้งหมด 1,072
ผู้ว่า กฟผ.เล็งเสนอรัฐเพิ่มลงทุนโซลาร์ลอยน้ำไฮบริดมากกว่า 1 หมื่นเมกะวัตต์ หนุนบรรลุเป้าหมาย Carbon Neutrality ในปี ค.ศ. 2050 ยันระบบไฟฟ้ามีความพร้อมรองรับชาร์จรถอีวีแตะ 1 ล้านคันในปี 2567 ด้าน จีพีเอสซี ลั่นลุยเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนอีก 3,000 เมกะวัตต์ในอีก 3 ปี
นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) เปิดเผยในงานเสวนา IEEE PES DAY 2022 ในหัวข้อ พลังขับเคลื่อนสู่อนาคตที่ยั่งยืน (Powering a Sustainable Future) โดยระบุว่า ขณะนี้ โลกและประเทศไทยกำลังเผชิญกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น โดย กฟผ. พร้อมร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันเป้าหมายของประเทศไทยที่มุ่งสู่พลังงานสะอาดและตั้งเป้าลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี ค.ศ. 2065 – 2070 โดย กฟผ. ได้กำหนดนโยบายและตั้งเป้าหมายของ กฟผ. เพื่อมุ่งสู่ “EGAT Carbon Neutrality” ภายในปี ค.ศ. 2050 ภายใต้หลักการสร้างสมดุลระหว่างต้นทุนในการผลิตไฟฟ้า ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และความมั่นคงระบบไฟฟ้าของประเทศ
ทั้งนี้ กฟผ.ได้กำหนดทิศทางการดำเนินการเพื่อมุ่งสู่ EGAT Carbon Neutrality ภายใต้การเติบโตร่วมกันของสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม สู่สังคมคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืน ภายใต้กลยุทธ์ “Triple S” ประกอบด้วย
1.S – Sources Transformation เป็นการจัดการตั้งแต่ต้นกำเนิด ด้วยการกำหนดสัดส่วนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน โดยบูรณาการนวัตกรรมด้านพลังงานหมุนเวียนให้สามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่องและมีเสถียรภาพ โดยมีโครงการหลัก ได้แก่ โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำร่วมกับเขื่อนพลังน้ำและระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ มีกำลังผลิตไฟฟ้ารวม 5,325 เมกะวัตต์ ในปี ค.ศ. 2036 รวมถึง กฟผ. ยังได้วางแนวทางการลงทุนพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าให้มีความทันสมัย (Grid Modernization) เพื่อให้สามารถนำพลังงานหมุนเวียนมาปรับใช้ได้อย่างเหมาะสม โดยไม่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของระบบผลิตไฟฟ้าในภาพรวม นอกจากนี้ยังเตรียมนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยและพลังงานทางเลือกที่สะอาดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มาใช้ในการผลิตพลังงานไฟฟ้าในอนาคต รวมถึงการใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจนในการผลิตพลังงานไฟฟ้าในปี ค.ศ. 2044 โดยตั้งเป้าผลิตพลังงานไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงไฮโดรเจนที่ 66,000 ล้านหน่วย ภายในปี ค.ศ. 2050
“เดิม ตามแผน PDP กฟผ.ได้รับอนุมัติผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์ลอยน้ำ 2,725 เมกะวัตต์ ซึ่งจะสถานการณ์ปัจจุบันถือว่าน้อยเกินไป กฟผ.จึงเสนอขอทำมกกว่า 10,000 เมกะวัตต์ และเทคโนโลยีโซลาร์ฯในอนาคตก็จะมีประสิทธิภาพสูงขึ้นและมีแนวโน้มถูกลงด้วย”
2. S – Sink Co-creation เป็นการดูดซับเก็บกักคาร์บอนอย่างมีส่วนร่วม โดยโครงการปลูกป่า 1 ล้านไร่อย่างมีส่วนร่วม กฟผ. พร้อมพันธมิตรได้มุ่งเน้นไปที่การปลูกป่าอนุรักษ์ ป่าชายเลน ป่าชุมชน และป่าเศรษฐกิจ ระหว่างปี ค.ศ. 2022 – 2031 ปีละประมาณ 100,000 ไร่ โดย กฟผ. ยังได้วางแนวทางการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture Utilization and Storage : CCUS) ในปี ค.ศ. 2045 เพื่อกักเก็บคาร์บอนปริมาณ 3.5 – 7 ล้านตัน อีกด้วย
3.S – Support Measures Mechanism เป็นกลไกการสนับสนุนโครงการชดเชยและหลีกเลี่ยงการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นรูปธรรม โดย กฟผ. ดำเนินโครงการส่งเสริมให้เกิดการใช้พลังงานไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1994 เพื่อลดความต้องการใช้ไฟฟ้าและช่วยหลีกเลี่ยงการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการผลิตไฟฟ้า อาทิ โครงการฉลากเบอร์ 5 การให้คำปรึกษาด้านพลังงาน การส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า การเสริมสร้างทัศนคติภายใต้โครงการห้องเรียนสีเขียวกว่า 400 โรงเรียนทั่วประเทศ รวมถึงการดำเนินการและวางกลไกสนับสนุนโครงการเสริมสร้างเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว ที่ช่วยลดการปลดปล่อยคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศ
นอกจากนี้ กฟผ.ยังมุ่งเรื่องการพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าให้มีความทันสมัย (Grid modernization) เพื่อรับมือกับการเติบโตของพลังงานหมุนเวียนที่จะเข้าสูงระบบมากขึ้นและทำให้ระบบไฟฟ้ามีความซับซ้อน เนื่องจากความไม่แน่นอนของปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานหมุนเวียน แต่ก็สร้างโอกาสในการพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าให้มีความทันสมัย (Grid Modernization) ซึ่งจะช่วยรองรับการเติบโตของพลังงานหมุนเวียนและช่วยยกระดับความมั่นคงของระบบไฟฟ้า โดย กฟผ. มีแผนพัฒนาศูนย์พยากรณ์การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน, การปรับปรุงโรงไฟฟ้าให้มีความยืดหยุ่น, สถานีไฟฟ้าแรงสูงดิจิทัล, ศูนย์ควบคุมสั่งการตอบสนองด้านโหลด, ระบบกักเก็บพลังงานจากแบตเตอรี่ และโรงไฟฟ้าเสมือน เพื่อให้พลังงานหมุนเวียนมีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้น
อีกทั้ง ยังการสร้างการเชื่อมโยงระบบไฟฟ้าข้ามพรมแดน เป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยสนับสนุนการนำพลังงานหมุนเวียนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของระบบไฟฟ้า และเป็นภารกิจลำดับต้น ๆ ของ กฟผ. ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า เพื่อจะก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางซื้อขายไฟฟ้าในภูมิภาค และเพื่อสนับสนุนการเติบโตของตลาดพลังงานหมุนเวียน
นายบุญญนิตย์ กล่าวอีกว่า สถานการณ์ราคาพลังงานที่สูงขึ้นจากวิกฤตโควิด-19 และสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลให้ราคาพลังงานสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ ทำให้ประชาชนที่ใช้รถยนต์หันไปสูงการใช้รถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้ามากขึ้น ซึ่งจากข้อมูลในปี 2563 พบว่า ประเทศไทย มีการใช้รถไฟฟ้า(อีวี) เพิ่มขึ้น 30% ซึ่งน่าจะสอดรับกับเป้าหมายส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าของภาครัฐตามนโยบาย 30@30 ที่จะมีการใช้รถไฟฟ้า 30%ในปี ค.ศ.2030 ดังนั้น หากระบบไฟฟ้าไม่เตรียมให้รองรับกับการใช้งานของรถอีวีที่จะมากขึ้น จะกลายเป็นปัญหาของประเทศที่จะต้องมาลงทุนโครงสร้างพื้นฐานรองรับและสร้างภาระให้กับประชาชน
โดยในส่วนของ กฟผ. ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ทั้งการติดตั้งสถานีชาร์จไฟฟ้าในแบบ Fast charging และ Normal charging ซึ่งในปี 2567 จะมีความพร้อมรองรับการชาร์จพร้อมกันถึง 6 แสนคัน และหากจัดสรรการชาร์จให้ดี เช่น ช่วงกลางวันชาร์จ 50% และแบ่งชาร์จกลางคืน 50% จะทำให้สามารถรองรับการชาร์จได้กว่า 1 ล้านคัน
อีกทั้ง หากในอนาคตจำนวนรถอีวี เพิ่มขึ้นมาก กฟผ.ยังได้จัดทำเรื่องของ EGAT ‘s Smart Charging Platform เพื่อเข้ามาจัดคิวการชาร์จรถอีวีและช่วยลดการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในอนาคต
ด้าน นายวรวัฒน์ พิทยศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC เปิดเผยว่า เอกชนภาคธุรกิจพลังงาน ต่างวางแนการเติบโตทางธุรกิจสอดรับกับเทรนด์ของโลกที่มุ่งพลังงานสะอาดมากขึ้น และหลีกเลี่ยงการลงทุนที่ใช้เชื้อเพลิงที่ก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ เช่น ถ่านหิน จะลดลงอย่างมีนัยยสำคัญ
ดังนั้น การลงทุนของ GPSC ก็จะเติบโตไปบนพื้นฐาน 4 ด้านหลัก คือ การเติบโตในธุรกิจโรงไฟฟ้าและไอน้ำ เพื่อป้อนให้กับลูกค้าในนิคมอุตสาหกรรม(IU) ,การเติบโตในธุรกิจพลังงานหมุนเวียน โดยยังรอความชัดเจนแผน PDP 2022 ซึ่งบริษัทดูโอกาสในการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนในประเทศไทยเพิ่มขึ้น ,การเติบโตในธุรกิจแบตเตอรี่(ESS) และการเติบโตในธุรกิจติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา(Solar Rooftop)
“บริษัทตั้งเป้าขยาย จะมีกำลังผลิตไฟฟ้ารวมอยู่ที่ 10,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 2568 โดยจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เพิ่มเป็นระดับ 5,000 เมกะวัตต์ จากปัจจุบันอยู่ที่ 2,000 เมกะวัตต์ และมีโรงไฟฟ้าคอนเวนชั่นนอล ประมาณ 5,000 เมกะวัตต์”
ทั้งนี้ การเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในอนาคต ยังเน้นการขยายลงทุนในประเทศอินเดีย เนื่องจากอินเดียเป็นประเทศที่มีนโยบายการส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนสูงมาก รวมถึงยังรอโอกาสในแผนพีดีพี หากภาครัฐเปิดรับซื้อไฟฟ้าในอนาคต