“จีเอฟอี” เตรียม COD โรงไฟฟ้าขยะชุมชนพลังงานสะอาด 9.6 เมกะวัตต์ ต.ค. นี้

ผู้ชมทั้งหมด 1,733 

“จีเอฟอี” แย้มโรงไฟฟ้าขยะชุมชนพลังงานสะอาด 9.6 เมกะวัตต์ จ.อุดรธานี ใหญ่ที่สุดในอาเซียนที่ใช้เทคโนโลยีไพโรไลซิส เตรียม COD ต.ค. 65 พร้อมลงทุนอีก 2 โครงการ

นายกิติพัฒน์ ตัณฑพงศ์ กรรมการบริหาร บริษัท จีเอฟอี เอเนอร์ยี่ บาลานซ์ จำกัด เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะไพโรไลซิสออยล์ ที่จังหวัดอุดรธานี ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 9.6 เมกะวัตต์ ว่า โรงไฟฟ้าขยะไพโรไลซิสออยล์แห่งนี้เป็นโครงการที่อยู่ภายใต้โครงการกำจัดขยะมูลฝอยเพื่อผลิตไฟฟ้าขององค์กรปกครองส่วนท้อนถิ่น (Quick Win Projects) หรือเป็นโครงการนำร่องโรงไฟฟ้าขยะชุมชนฯ มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) จำนวน 8 เมกะวัตต์ สัญญาซื้อขายไฟฟ้า 25 ปี อัตรารับซื้อไฟฟ้า Feed-in Tariff  (Fit) 5 บาทต่อหน่วย ในขณะนี้มีความคืบหน้ากว่า 60% คาดว่าจะจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ได้ในเดือนตุลาคม 2565

โรงไฟฟ้าขยะไพโรไลซิสออยล์แห่งนี้ยังเป็นโรงไฟฟ้าขยะพลังงานสะอาดแห่งแรกที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียนที่ใช้ด้วยเทคโนโลยีไพโรไลซิส สามารถแก้ปัญหาขยะในเมืองอุดรธานีได้ 300 ตันต่อวัน หรือประมาณ 109,500 ตันต่อปีจะช่วยลดคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 300,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี ระยะเวลาการคืนทุน ประมาณ 5-7 ปี

สำหรับแผนการลงทุนในปีนี้ “จีเอฟอี เอเนอร์ยี่ บาลานซ์” มีแผนขยายการลงทุนโรงไฟฟ้าขยะเพิ่มอีก 2 แห่ง ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษาศักยภาพพื้นที่ที่เหมาะสม โดยในเบื้อต้นนั้นมีความสนใจขยายการลงทุนจังหวัดในพื้นที่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมถึงให้ความสนใจเข้าไปลงทุนตามเกาะต่างๆ เนื่องจากว่าตามเกาะเป็นพื้นที่ขนาดเล็กบริหารจัดการได้ง่าย โดยแผนขยายการลงทุนโรงไฟฟ้าขยะของบริษัทฯ ก็ยังจะใช้เทคโนโลยีไพโรไลซิสออยล์กับโรงไฟฟ้าขยะแห่งอื่นด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตามโรงไฟฟ้าขยะไพโรไลซิสออยล์ที่จังหวัดอุดรฯ นั้น “จีเอฟอี เอเนอร์ยี่ บาลานซ์” มีแผนที่จะดำเนินการให้ความรู้การคัดแยกขยะพลาสติกพร้อมทั้งรับซื้อขยะกับชุมชนรอบโรงไฟฟ้า เพื่อส่งเสริมให้ชุมชนมีรายได้จากการคัดแยกขยะ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เทคโนโลยีไพโรไลซิส (Pyrolysis Technology) คือ กระบวนการทางเคมีความร้อนที่ เปลี่ยนรูปพลาสติก ที่เป็นเชื้อเพลิงที่มี ค่าทางความร้อนสูงขึ้นในสภาวะที่ไม่มีออกซิเจน โดยทางโครงการ มีการนำขยะพลาสติกที่ผ่านการคัดแยกสู่ระบบเตาให้ความร้อนแบบควบคุมอากาศ โดยใช้ระบบเทคโนโลยีไพโรไรซิส (Pyrolysis) ที่ใช้อุณหภูมิอยู่ระหว่าง 300 C – 350 C เพื่อเปลี่ยนสถานะจากของแข็ง เป็นของเหลวหรือน้ำมัน (Pyrolysis Oil) และก๊าซสังเคราะห์ (Synthetic Gas) หลังจากผ่านกระบวนการควบแน่น น้ำมันที่เกิดขึ้นจากกระบวนการนี้จะถูกกลั่นแยกให้คุณสมบัติเหมาะสมกับ การใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าเพื่อส่งเข้าสู่ระบบสายส่งของการไฟฟ้าฝ่ายภูมิภาค