ผู้ชมทั้งหมด 642
ไทยออยล์ ประเมิน สัปดาห์นี้ราคาน้ำมันดิบทรงตัวระดับสูงหลังจากปริมาณส่งออกน้ำมันจากรัสเซีย ได้รับผลกระทบจากมาตรการคว่ำบาตรคาดเวสต์เท็กซัส เคลื่อนไหวที่กรอบ 105 – 115 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนเบรนท์ เคลื่อนไหวที่กรอบ 110 – 120 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
บริษัท ไทยออยล์ จำกัด(มหาชน) หรือ TOP เปิดเผยบทวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันประจำสัปดาห์ ระหว่างวันที่ 18 – 22 เม.ย. 65 พบว่า ราคาน้ำมันดิบมีทรงตัวระดับสูง หลังสหภาพยุโรปพิจารณายกเลิกการนำเข้าน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียเนื่องจากเหตุบุกยูเครน ประกอบกับอุปทานที่ได้รับผลกระทบจากปริมาณส่งออกน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปจากรัสเซียลดลงเนื่องจากผู้ซื้อหลายรายหลีกเลี่ยงเพราะกังวลผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากมาตรการคว่ำบาตร อย่างไรก็ตาม ราคาได้รับแรงกดดันจากมาตรการล็อคดาวน์ในเมืองเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีนตามมาตรการการควบคุมการแพร่ระบาด และแผนการปล่อยน้ำมันจากคลังสำรองยุทธศาตร์ (SPRs) เพิ่มเติม ของสหรัฐฯ และประเทศสมาชิก IEA เพื่อช่วยบรรเทาภาวะอุปทานน้ำมันที่ตึงตัว
สำหรับ ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้ ประกอบด้วย
- ในสัปดาห์ที่ผ่านมา สหภาพยุโรปกำลังพิจารณามาตรการคว่ำบาตรรัสเซียเพิ่มเติม โดยมีมาตรการจะยุติการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซีย เป็นหนึ่งในมาตรการสำคัญ อย่างไรก็ตามสมาชิกหลายประเทศแสดงความไม่เห็นด้วยที่จะยุติการนำเข้า เช่น ฮังการี เยอรมัน เนื่องจากหลายประเทศยังพึ่งพาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียในปริมาณสูง
- IEA คาดว่า ผลกระทบจากมาตรการคว่ำบาตรต่อรัสเซีย จะส่งผลกระทบต่อปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปของรัสเซียในเดือน เม.ย. เนื่องจากปริมาณน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปจะหายไปจากตลาด ราว 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน และในเดือน พ.ค. จะหายไปอีกเป็น 3 ล้านบาร์เรลต่อวัน หลังผู้ซื้อน้ำมันจะหลีกเลี่ยงการซื้อน้ำมันจากรัสเซียเพราะกังวลผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น ทำให้ตลาดกังวลอุปทานน้ำมันดิบอาจมีแนวโน้มตึงตัวเพิ่มขึ้นในช่วงไตรมาส 2 ซึ่งสอดคล้องกับ Vitol ที่คาดว่าผู้ซื้อจะหยุดซื้อน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปจากรัสเซียทั้งหมดภายในสิ้นปี 2022 โดยล่าสุดปริมาณการผลิตน้ำมันดิบและคอนเดนเสทรัสเซียปรับลดลงอยู่ที่ 10.52 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในช่วง 1-6 เม.ย. เมื่อเทียบกับปริมาณการผลิตเฉลี่ยเดือนมี.ค. ที่ 11.01 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยหลายฝ่ายคาดว่าปริมาณการผลิตของรัสเซียอาจลดลงอีก หลังรัสเซียประสบปัญหาในการส่งออก
- กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันดิบและพันธมิตรหรือ กลุ่มโอเปกพลัส คาดว่าปริมาณน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปรัสเซีย มีแนวโน้มจะหายไปจากตลาดราว 7 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งกลุ่มโอเปกพลัสปฏิเสธที่จะเพิ่มกำลังการผลิตเพื่อชดเชยปริมาณดังกล่าว ตามข้อร้องเรียกของสหภาพยุโรปและสหรัฐฯ โดยทางกลุ่มจะเพิ่มกำลังการผลิต 0.43 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในเดือน พ.ค. ตามข้อตกลงเดิมที่จะค่อยๆ เพิ่มกำลังการผลิต เพื่อตอบสนองปริมาณความต้องการใช้ที่จะเพิ่มขึ้น หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดเริ่มคลี่คลาย
- สหรัฐฯ และประเทศสมาชิกของ IEA ประกาศปล่อยน้ำมันจากคลังสำรองยุทธศาสตร์ (SPRs) จำนวน 180 ล้านบาร์เรล ขณะที่สหรัฐฯ ประกาศจะปล่อยเพิ่มอีก 60 ล้านบาร์เรล รวมปริมาณทั้งหมด 240 ล้านบาร์เรล ในช่วงเวลา 6 เดือน อย่างไรก็ตาม ตลาดคาดว่าปริมาณ SPRs สามารถช่วยทดแทนน้ำมันดิบที่หายไปจากรัสเซียและบรรเทาอุปทานน้ำมันดิบที่ตึงตัวได้ในระยะสั้น
- ประธานาธิบดีจีน สี จิ้น ผิง ยังคงบังคับใช้นโยบาย zero-tolerance ต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 แม้ว่าจะส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจ ทำให้มีล็อคดาวน์เซี่ยงไฮ้นานกว่า 2 สัปดาห์ เพื่อตรวจหาผู้ติดเชื้อและควบคุมการแพร่ระบาด ล่าสุดทางการเซี่ยงไฮ้เริ่มผ่อนคลายมาตรล็อคดาวน์ในพื้นที่เสี่ยงต่ำ แต่โรงงานอุตสาหกกรรมและธุรกิจส่วนใหญ่ ยังคงปิดดำเนินการอยู่ ทำให้การนำเข้าน้ำมันดิบจีนในเดือน มี.ค. ลดลง 14% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า แตะระดับ 10.06 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยการนำเข้าน้ำมันดิบจีนในไตรมาส 1 ปีนี้อยู่ที่ระดับ 10.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งลดลง 8% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
- สำนักงานพลังงานสากล หรือ IEA ปรับคาดการณ์ความต้องการใช้น้ำมันโลกในปี 65 ลงแตะระดับ 99.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในรายงานเดือน เม.ย. ซึ่งเป็นการปรับลด 0.26 ล้านบาร์เรลต่อวัน เมื่อเทียบกับรายงานเดือนก่อนหน้า เนื่องจากปริมาณความต้องการใช้น้ำมันถูกกดดันจากการบังคับใช้มาตรการล็อคดาวน์ในจีน ประกอบกับการเติบโตทางเศรษฐกิจที่น้อยกว่าคาดในกลุ่มประเทศ OECD ทำให้ IEA คาดว่าปริมาความต้องการใช้น้ำมันโลกเฉลี่ยจะกลับไปสู่ระดับก่อนเกิดการแพร่ระบาดที่ราว 100 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในไตรมาส 3 จากเดิมที่คาดไว้ว่าในไตรมาส 2
- เศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ผลผลิตอุตสาหกรรมจีนเดือน มี.ค 65 ซึ่งมีแนวโน้มลดลง จากปีก่อนหน้า จีดีพีจีนไตรมาส 1/65 ซึ่งมีแนวโน้มทรงตัว เมื่อเทียบกับไตรมาส 4/64 การตัดสินใจอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางจีน
ทั้งนี้ ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 105 – 115 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 110 – 120 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ส่วนสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา ระหว่างวันที่ 11 – 15 เม.ย. 65 พบว่า ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับเพิ่มขึ้น 8.69 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 106.95 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เช่นเดียวกันกับราคาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ปรับเพิ่มขึ้น 8.92 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 111.70 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 105.98 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หลังตลาดกังวลอุปทานน้ำมันดิบมีแนวโน้มตึงตัว เนื่องจากปริมาณส่งออกน้ำมันดิบรัสเซียมีอาจจะลดลงจากมาตรการคว่ำบาตร อย่างไรก็ตามสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ในจีน กดดันปริมาณความต้องการใช้น้ำมัน