ผู้ชมทั้งหมด 601
TOP ปรับโครงสร้างทางการเงินเสริมแกร่งการลงทุนระยะยาว เตรียมขายหุ้นเพิ่มทุนไตรมาส 3/65 ลุยขยายธุรกิจปิโตรเคมีแห่งที่ 2 ในอินโดนีเซีย เล็งร่วมทุนปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ในเวียดนามกับ SCC แย้มโครงการ CFP เสร็จหนุนเป็นฮับส่งออกน้ำมัน
นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP เปิดเผยว่า บริษัทอยู่ระหว่างการเจรจากับบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCC ในการร่วมลงทุนในโครงการปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ที่เวียดนาม เพื่อต่อยอดในธุรกิจปิโตรเคมี ซึ่งความร่วมมือกันจะเป็นรูปแบบไหนก็เป็นเรื่องที่ต้องเจรจากันต่อ ก็เป็นโอกาสที่จะขยายโอกาสความร่วมมือกับ SCC เพิ่มเติม โดยฉพาะการขยายธุรกิจปิโตรเคมี ซึ่ง TOP กับ SCC ก็จับมือกันเป็นพันธมิตรในธุรกิจปิโตรเคมีกันอยู่แล้วในประเทศอินโดนีเซีย โดยการเข้าไปถึงหุ้นในบริษัท PT Chandra Asri Petrochemical (CAP) ก็หวังว่าไม่ใช่แต่ในอินโดนีเซียความร่วมมือก็คงขยายต่อเนื่อง
สำหรับการเข้าไปร่วมทุนในสัดส่วน 15% ของ CAP ซึ่งเป็นผู้ผลิตเคมีภัณฑ์ครบวงจรชั้นนำรายใหญ่ที่สุดของประเทศอินโดนีเซีย ถือเป็นก้าวแรกในการรุกเข้าสู่ธุรกิจปิโตรเคมีสายโอเลฟิน ส่งผลให้โครงสร้างธุรกิจปิโตรเคมีของไทยออยล์ ครอบคลุมทั้งสายอะโรเมติกส์และสายโอเลฟิน สร้างโอกาสในการผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีปลายน้ำที่มีความหลากหลายมากขึ้น โดยบริษัทฯ จ่ายเงินไปแล้วในงวดแรกเมื่อปลายปี 2564 ราว 913 ล้านเหรียญสหรัฐอเมริกา
ทั้งนี้ บริษัท PT Chandra Asri Petrochemical (CAP) อยู่ระหว่างศึกษาการลงทุนโครงการ CAP แห่งที่ 2 ซึ่งคาดว่าจะมีการติดสินใจการลงทุนขั้นสุดท้าย (FID) ในช่วงปลายปีนี้ หลังจากนั้น TOP ก็จะเริ่มใส่เงินลงทุนเพิ่มอีก 270 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในช่วงต้นปี 2566 ซึ่งจะส่งผลให้ CAP มีความสามารถเพิ่มกำลังการผลิตเป็น 8 ล้านตันต่อปีภายในปี 2569 จากเดิมอยู่ที่ 4.23 ล้านตันต่อปี
ส่วนการลงทุนในโครงการพลังงานสะอาด (Clean Fuel Project : CFP) เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จในปี 2566 จะทำให้ TOP มีกำลังการผลิตเพิ่มเป็น 400,000 บาร์เรลต่อวัน มีกำลังการกลั่นน้ำมันและปิโตรเลียมใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน ช่วยเพิ่มโอกาสความสามารถในการแข่งขันของ TOP และสนับสนุนให้ไทยเป็นศูนย์กลาง (ฮับ) การส่งออกน้ำมันและปิโตรเลียมได้เป็นอย่างดี และจะมีส่วนช่วยเพิ่ม GIM ให้กับ TOP ได้อีกกว่า 4-5 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล
อย่างไรก็ตามแผนการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ ยังได้ได้ปรับกลยุทธ์องค์กรเพื่อรับมือกับความท้าทายในอนาคต เพื่อเดินหน้ามุ่งสู่เป้าหมายการเป็นผู้นำในธุรกิจพลังงานและเคมีภัณฑ์ที่ยั่งยืน ภายใต้วิสัยทัศน์ ‘Empowering Human Life through Sustainable Energy and Chemicals’ สอดคล้องแนวโน้มอุตสาหกรรมพลังงานที่กำลังเข้าสู่ช่วงการเปลี่ยนผ่าน Energy Transition เพื่อใช้พลังงานสะอาด และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
โดยอาศัยรากฐานที่มั่นคงจากธุรกิจหลัก (Building on Our Strong Foundation) อย่างธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันและธุรกิจอะโรเมติกส์ต่อยอดการเติบโตสู่ธุรกิจใหม่ ได้แก่ ธุรกิจโอเลฟิน ธุรกิจผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูง (High Value Products: HVP) ธุรกิจไฟฟ้า จากพลังงานหมุนเวียน การขยายตลาดสู่ระดับภูมิภาค จนถึงการลงทุนธุรกิจใหม่ ๆ ที่เป็น New S-Curve สอดคล้องกับเป้าหมายที่จะมีสัดส่วนของกำไรจากธุรกิจปิโตรเลียม 40% ธุรกิจปิโตรเคมี 40% ธุรกิจไฟฟ้า 10% และธุรกิจใหม่อีก 10% ภายในปีพ.ศ. 2573 เพื่อเป็นการกระจายการเติบโต และสร้างรายได้ที่มั่นคง
ปรับโครงสร้างทางการเงิน เสริมแกร่งการลงทุนในระยะยาว
นางวนิดา บุญภิรักษ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ด้านการเงินและบัญชี TOP กล่าวว่า บริษัทฯ เตรียมความพร้อมรองรับการขยายธุรกิจเพื่อสร้างโอกาสเติบโตในอนาคต โดยมีแผนปรับโครงสร้างทางการเงินระยะยาว ผ่านการเพิ่มทุน และปรับลดสัดส่วนการลงทุนใน บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC
ทั้งนี้การขายหุ้น GPSC จำนวน 304 ล้านหุ้น คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 10.78% ของจำนวนหุ้นที่ออกและจำหน่ายแล้วทั้งหมดของ GPSC เป็นมูลค่ารวมประมาณ 22,351 ล้านบาท คาดบริษัทฯ จะบันทึกกำไรจากการขายหุ้น GPSC ในครั้งนี้ประมาณ 11,000 ล้านบาทในช่วงไตรมาส 2/2565
ส่วนการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุน จำนวนรวมทั้งสิ้นไม่เกิน 275 ล้านหุ้น โดยจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุน จำนวนไม่เกิน 239 ล้านหุ้น เพื่อออกและเสนอขายหุ้นให้กับประชาชนทั่วไป (Public Offering: PO) และอีกจำนวนไม่เกิน 35.885 ล้านหุ้น เพื่อรองรับการใช้สิทธิซื้อเพิ่มทุนของผู้จัดหาหุ้นส่วนเกิน (Greenshoe) คาดว่าจะสามารถกำหนดราคาและออกขายหุ้นเพิ่มทุนได้ภายในไตรมาส 3/2565
อย่างไรก็ตามการดำเนินการเพิ่มทุนและขายหุ้น GPSC นั้นมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อนำเงินที่ได้รับไปชำระคืนเงินกู้ยืมระยะสั้น (Bridging Loan) จากการเข้าลงทุนใน PT Chandra Asri Petrochemical Tbk (CAP) จำนวน 30,000 ล้านบาท รวมถึงรองรับการลงทุนขยายธุรกิจในอนาคตของไทยออยล์ด้วย
ขณะเดียวกันการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนจะช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นให้โครงสร้างการเงินระยะยาวของบริษัทฯ โดยลดอัตราส่วนระหว่างหนี้สินสุทธิต่อทุนของบริษัทฯ (Net Debt-to-Equity Ratio: D/E) ให้น้อยกว่าหรือเท่ากับ 1 เท่า จากปัจจุบันอยู่ที่ 1.4 เท่า และคงอันดับความน่าเชื่อถือด้านเครดิต (Credit rating) ให้อยู่ในเกณฑ์กลุ่มระดับลงทุน (Investment grade) ทำให้บริษัทมีความคล่องตัวมากขึ้นในการดำเนินธุรกิจ