ผู้ชมทั้งหมด 1,004
ปตท.สผ. อัดงบลงทุน 5 ปี จำนวน 23,637 ล้านเหรียญสหรัฐ ทยอยลงทุนต่อเนื่องตั้งแต่ปี 64 – 68 ขณะปี 64 ตั้งงบลงทุนไว้ 4,196 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยยังคงรักษากำลังการผลิตจากโครงการหลัก พร้อมเร่งพัฒนาโครงการสำคัญ เพื่อเริ่มการผลิตให้ได้ตามแผน รวมถึงใช้ลงทุนในกิจกรรมสำรวจ พร้อมแสวงหาโอกาสการลงทุนในธุรกิจใหม่ ตั้งเป้าปริมาณการขายปิโตรเลียมเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 6
นายพงศธร ทวีสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. เปิดเผยว่า บริษัทตั้งงบลงทุน 5 ปี (2564-2568) ไว้ 23,637 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยแบ่งเป็นรายจ่ายลงทุน (Capital Expenditure หรือ CAPEX) จำนวน 14,020 ล้านเหรียญสหรัฐ รายจ่ายดำเนินงาน (Operating Expenditure หรือ OPEX) จำนวน 9,617 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งการขยายการลงทุนส่วนใหญ่จะเป็นการลงทุนต่อเนื่องจากปี 64
สำหรับงบลงทุนในปี 64 บริษัทตั้งงบลงทุนไว้ที่ 4,196 ล้านเหรียญสหรัฐ (เทียบเท่า 132,174 ล้านบาท) โดยแบ่งเป็นรายจ่ายลงทุน CAPEX จำนวน 2,588 ล้านเหรียญสหรัฐ (เทียบเท่า 81,522 ล้านบาท) และรายจ่ายดำเนินงาน OPEX จำนวน 1,608 ล้านเหรียญสหรัฐ (เทียบเท่า 50,652 ล้านบาท) เพื่อรองรับแผนงานหลัก ดังนี้
- รักษาปริมาณการผลิตจากโครงการผลิตหลักที่สำคัญ ได้แก่ โครงการเอส 1 โครงการบงกช โครงการอาทิตย์ โครงการในประเทศมาเลเซีย และโครงการซอติก้าในประเทศเมียนมา รวมถึง เตรียมความพร้อมสำหรับการดำเนินการโครงการจี 1/61 (แหล่งเอราวัณ) และโครงการจี 2/61 (แหล่งบงกช) โดยได้จัดสรรรายจ่ายลงทุน จำนวน 1,943 ล้านเหรียญสหรัฐ (เทียบเท่า 61,204 ล้านบาท)
- เพิ่มปริมาณการผลิตในอนาคต โดยมุ่งเน้นและผลักดันโครงการหลักที่อยู่ในระหว่างการพัฒนา ได้แก่ โครงการโมซัมบิก แอเรีย วัน และโครงการแอลจีเรีย ฮาสสิ เบอร์ ราเคซ ให้สามารถเริ่มการผลิตได้ตามแผน และเร่งการพัฒนาโครงการมาเลเซีย ซาราวัก เอสเค 410 บี ซึ่งประสบความสำเร็จในการเจาะสำรวจเมื่อปลายปีที่แล้ว ให้สามารถเข้าสู่ขั้นตอนของการตัดสินใจลงทุนขั้นสุดท้าย (Final Investment Decision) โดยบริษัทได้จัดสรรรายจ่ายลงทุนในส่วนนี้ เป็นจำนวนเงิน 493 ล้านเหรียญสหรัฐ (เทียบเท่า 15,530 ล้านบาท)
- เร่งกิจกรรมการสำรวจเพื่อค้นหาทรัพยากร รองรับการเติบโตในระยะยาว โดยได้จัดสรรรายจ่ายลงทุน จำนวน 152 ล้านเหรียญสหรัฐ (เทียบเท่า 4,788 ล้านบาท) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรายจ่ายในการเจาะหลุมสำรวจและประเมินผลสำหรับโครงการสำรวจในประเทศมาเลเซีย และประเทศเม็กซิโก
อย่างไรก็ตามจากแผนงานดังกล่าว ปตท.สผ. คาดว่าจะสามารถเพิ่มอัตราการเติบโตของปริมาณการขายโดยเฉลี่ยต่อปีแบบทบต้น (Compound Annual Growth Rate: CAGR) ในช่วง 5 ปี ที่ประมาณร้อยละ 6 ดังนี้ ในปี 64 ตั้งเป้าปริมาณปิโตรเลียม 375,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน ปี 65 ตั้งเป้าไว้ที่ 436,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน ปี 66 ตั้งเป้าไว้ที่ 446,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน ปี 67 ตั้งเป้าไว้ที่ 466,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน และในปี 68 ตั้งเป้าไว้ที่ 462,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน
“ปี 64 ยังคงเป็นปีที่ท้าทายสำหรับธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมจากความไม่แน่นอนของสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งมีผลโดยตรงต่อความต้องการใช้พลังงานและราคาน้ำมัน ที่ผ่านมา ปตท.สผ. มีการปรับตัวทั้งในส่วนของโครงสร้างองค์กรและการดำเนินงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลดต้นทุนโดยรวม เพื่อให้บริษัทมีความแข็งแกร่งพร้อมรับกับความผันผวน โดยในปีนี้เราได้ทบทวนแผนการลงทุน 5 ปีภายใต้กลยุทธ์ Execute and Expand ซึ่งจะส่งผลให้เรามีการผลิตที่สามารถตอบสนองความต้องการพลังงานของประเทศและยังเติบโตได้ และด้วยโครงสร้างการเงินที่แข็งแกร่ง ประกอบกับกระแสเงินสดจากการดำเนินงานในแต่ละปี จะสามารถรองรับแผนการลงทุนดังกล่าว รวมทั้ง โอกาสทางธุรกิจที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตแม้ในสถานการณ์ราคาน้ำมันตกต่ำ” นายพงศธร กล่าว
นอกจากนี้ ปตท.สผ. ยังเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับการดำเนินธุรกิจที่เปลี่ยนไป โดยศึกษาโอกาสการลงทุนในธุรกิจใหม่ เช่น โครงการ Gas to Power ในประเทศเมียนมา เพื่อต่อยอดและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับแหล่งก๊าซธรรมชาติที่บริษัทมีการดำเนินการอยู่แล้ว, การขยายธุรกิจของบริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด (เออาร์วี) รวมทั้ง การแสวงหาโอกาสการลงทุนในโครงการพลังงานหมุนเวียนอีกด้วย