ผู้ว่ากฟผ. ยันพร้อมควักเงินเพิ่มทุน RATCH 1.12 หมื่นล้าน

ผู้ชมทั้งหมด 1,034 

ผู้ว่ากฟผ. ยืนยัน มิ.ย. 65 พร้อมเพิ่มทุน 11,250 ล้านบาท รักษาสัดส่วนการถือหุ้นใน RATCH หลัง ครม. มีมติรับทราบ รออนุมัติผู้ถือหุ้น 27 เม.ย.นี้ เปิดจองซื้อหุ้น 6-10 มิ.ย. 65 ด้าน RATCH ลุยลงทุนปีนี้ 30,000 ล้านบาท  

นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)ในฐานะประธานกรรมการบริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH เปิดเผยว่า หลังจากที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติรับทราบการเพิ่มทุนของ RATCH จำนวนไม่เกิน 25,000 ล้านบาท โดยให้กฟผ.เพิ่มทุนใน RATCH ตามสัดส่วนการถือหุ้น 45% จำนวนไม่เกิน 11,250 ล้านบาท นั้นกฟผ.ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ของ RATCH ได้เตรียมความพร้อมในการชำระค่าหุ้นเพิ่มทุนจำนวนดังกล่าวแล้ว โดยแหล่งเงินในการเพิ่มทุนครั้งนี้เป็นเงินทุนหมุนเวียน (Working capital ) ที่มีอยู่ภายใน กฟผ. เอง

อย่างไรก็ตามการเพิ่มทุนนั้นคณะกรรมการบริษัทฯ ได้อนุมัติแผนการเพิ่มทุนจดทะเบียนจาก 14,500 ล้านบาท เป็น 22,192.30 ล้านบาท โดยการออกหุ้นสามัญใหม่จำนวน 769.23 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 10 บาท เพื่อออกและเสนอขายให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมและไม่จัดสรรหุ้นเพิ่มทุนให้กับผู้ถือหุ้นที่จะทำให้บริษัทมีหน้าที่ตามกฏหมายต่างประเทศ (PPO) โดยจัดสรรในอัตราส่วนหุ้นสามัญเดิมไม่ต่ำกว่า 1.885 หุ้นต่อ 1 หุ้นสามัญที่ออกใหม่

ขณะที่ขั้นตอนต่อไป RATCH จะนำเสนอขออนุมัติต่อที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2565 วันที่ 27 เมษายน นี้ โดยกำหนดเปิดจองซื้อหุ้นช่วงวันที่ 6-10 มิถุนายน 2565 สำหรับวัตถุประสงค์ของการเพิ่มทุนครั้งนี้ เพื่อใช้ในการลงทุนในโครงการต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ และเพื่อการชำระหนี้ และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในกิจการของบริษัทฯ

ส่วนภาพรวมตลาดหุ้นที่ค่อนข้างผันผวนในช่วงนี้ เชื่อว่าจะไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อการจำหน่ายหุ้นเพิ่มทุนของ RATCH ถึงแม้ว่าเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครนก็ตาม เนื่องจาก RATCH เป็นบริษัทมหาชนที่มีการจ่ายเงินปันผลอย่างสม่ำเสมอ และมีพอร์ตการลงทุนที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง สามารถสร้างความมั่นใจให้นักลงทุนที่จะมาซื้อหุ้น RATCH อย่างแน่นอน เพราะเป็นการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนเป็นให้กับผู้ถือหุ้นเดิม

ด้านนางสาวชูศรี เกียรติขจรกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ RATCH กล่าวว่า การเพิ่มทุนดังกล่าวเพื่อใช้ลงทุนในโครงการต่างๆ ของบริษัททั้งในและต่างประเทศทั้งที่มีอยู่แล้วในปัจจุบัน และที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต รวมถึงการลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าในสาธารณรัฐอินโดนีเซีย การชำระหนี้ของบริษัท และเพื่อใช้เป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานทั่วไป รวมถึงเงินทุนหมุนเวียนในกิจการของบริษัท

ทั้งนี้ราช กรุ๊ปตั้งบลงทุนในปีนี้ 30,000 ล้านบาทเพื่อใช้ลงทุนขยายธุรกิจผลิตไฟฟ้าราว 28,000 ล้านบาท แบ่งเป็นโครงการใหม่ 26,500 ล้านบาท และโครงการเดิม 1,500 ล้านบาท ส่วนงบลงทุนในธุรกิจอื่นนอกเหนือธุรกิจไฟฟ้า วงเงิน 2,000 ล้านบาท ประกอบด้วยโครงการใหม่ 1,400 ล้านบาท และโครงการเดิม 600 ล้านบาท

โดยปีนี้ บริษัทตั้งเป้าเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่ 700 เมกะวัตต์ โดยอยู่ระหว่างการเจรจาควบรวมและซื้อกิจการ (M&A ) อย่างน้อย 5 โครงการ อาทิ โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนและโครงการโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซฯเป็นเชื้อเพลิง ทำให้สิ้นปี2565 บริษัทมีกำลังการผลิตตามสัดส่วนการลงทุนเพิ่มเป็น 9,815.14 เมกะวัตต์