EGCO เล็งโอกาสราคาก๊าซ-น้ำมันแพง เจรจารัฐยืดอายุโรงไฟฟ้าบีแอลซีพี

ผู้ชมทั้งหมด 1,279 

เอ็กโก กรุ๊ป เผยเหตุขัดแย้งยูเครน-รัสเซีย กดดันราคาพลังงานโลกพุ่ง จ่อเจรจารัฐขอยืดอายุโรงไฟฟ้าบีแอลซีพี หลังรัฐบาลหลายประเทศกลับมาฟื้นฟูโรงไฟฟ้าถ่านหิน ลั่นต้นทุนค่าเชื้อเพลิงแพงไม่กระทบบริษัท ลุยเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้าใหม่ 1,000 เมกะวัตต์ตามเป้าปีนี้

นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ EGCO “เอ็กโก กรุ๊ป” เปิดเผยในงาน Oppday Year End 2021 บริษัท เมื่อวันที่ 8 มี.ค.2565 โดยระบุว่า จากสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงทางด้านพลังงานของโลกอันเป็นผลสืบเนื่องมาจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างยูเครนกับรัสเซีย ที่ส่งผลให้เชื้อเพลิงต่างๆจากปรับราคาสูงขึ้น ทำให้ภาครัฐหลายประเทศกลับมาให้ความสำคัญกับโรงไฟฟ้าถ่านหิน บริษัทเล็งเห็นว่าเป็นโอกาสให้กับ โรงไฟฟ้าบีแอลซีพี ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างเอ็กโก กรุ๊ป และบ้านปู ถือหุ้นสัดส่วนละ 50% ที่อาจจะต้องขอเจรจากับภาครัฐเพื่อขอยืดอายุโรงไฟฟ้าออกไป

“วันนี้ หลายประเทศก็กลับไปฟื้นฟูโรงไฟฟ้าถ่านหินกันหมดแล้วเนื่องจากสถานการณ์ยูเครนและรัสเซีย ถึงแม้ถ่านหิน จะมีราคาที่สูงขึ้น แต่ก็ยังมีเสถียรภาพมากกว่าและมีปริมาณสำรองในโลกอยู่ในระดับสูง”

ส่วนโรงไฟฟ้าบีแอลซีพี(ส่วนขยาย) ที่เดิมมีแผนจะนำเสนอภาครัฐ เพื่อพิจารณาใช้พื้นที่ข้างๆโรงไฟฟ้าเฟสที่ 1พัฒนาเป็นโรงไฟฟ้า เฟสที่ 2 นั้น ขณะนี้ความต้องการใช้ไฟฟ้าในประเทศยังมีน้อยกว่ากำลังผลิตไฟฟ้า ประกอบกับภาครัฐไม่มีนโยบายสนับสนุนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงถ่านหินเพิ่มขึ้นในประเทศ ดังนั้น บริษัท จึงปรับเปลี่ยนแผนและพร้อมที่จะพัฒนาโรงไฟฟ้าโดยหันไปใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติแทน หากภาครัฐเปิดประมูลแข่งขันในอนาคต

ขณะที่โรงไฟฟ้าเคซอน ในประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงถ่านหิน และใกล้จะหมดอายุลงในปี 2568 หรือ อีก 3 ปีข้างหน้านั้น บริษัท อยู่ระหว่างศึกษาทางเลือกที่เหมาะสมและเจรจากับรัฐบาลฟิลิปปินส์ต่อไป ซึ่งขณะนี้มีอยู่ประมาณ 2-3 แนวทาง คาดว่ายังต้องใช้เวลาพิจารณาแนวทางที่จะเป็นประโยชน์ต่อบริษัทมากที่สุด

สำหรับต้นทุนค่าเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าที่ปรับเพิ่มขึ้นนั้น มีผลกระทบต่อบริษัทน้อยมาก เนื่องจากโรงไฟฟ้าส่วนใหญ่ของบริษัทจะมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า(PPA)รองรับ เกือบ 80% ส่วนอีก 19% เป็นการขายไฟฟ้าในตลาดกลางซื้อขายไฟฟ้า(POWER POOL) ซึ่งสามารถส่งผ่านต้นทุนค่าเชื้อเพลิงได้ ขณะที่ 2% หรือ ประมาณ 92 เมกะวัตต์ เป็นการขายไฟฟ้าตรงให้กับลูกค้าอุตสาหกรรม(IU) จึงถือว่ามีผลกระทบค่อนข้างน้อย  

นายเทพรัตน์ กล่าวอีกว่า ทิศทางการดำเนินงานในปีนี้ บริษัทตั้งไว้ที่ 3 หมื่นล้านบาท โดยเน้นการเสริมความแข็งแกร่งในธุรกิจไฟฟ้า ด้วยการตั้งเป้าหมายเพิ่มกำลังผลิตใหม่อีก 1,000 เมกะวัตต์ในปีนี้ จากปัจจุบันบริษัทมีกำลังผลิตตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าตามสัดส่วนการถือหุ้นรวมทั้งสิ้น 5,959 เมกะวัตต์ ซึ่งกำลังการผลิตใหม่ที่จะเพิ่มเข้ามาในปีนี้ อยู่ระหว่างการเจรจาหลายโครงการ และน่าจะเห็นการปิดดีลได้ตามเป้า

ส่วนแนวโน้มผลการดำเนินงานปีนี้ คาดว่าจะเติบโตต่อเนื่องจากปีก่อน เนื่องจากจะรับรู้รายได้จาก 3 โครงการใหม่ จะเปิดดำเนินการและเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ ได้แก่ โครงการขยายระบบขนส่งน้ำมันทางท่อไปยังภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แล้วเสร็จไตรมาส 1/2565 ,โรงไฟฟ้าน้ำเทิน 1 ใน สปป.ลาว กำลังการผลิต 650 เมกะวัตต์(บริษัทถือหุ้น 25%) COD กลางปีนี้ รวมถึงการทยอยเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ของโรงไฟฟ้าหยุนหลิน ในไต้หวัน กำลังการผลิต 640 เมกะวัตต์ (บริษัทถือหุ้น 25%) ทยอย COD ในปีนี้ ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสมดุลในพอร์ตโฟลิโอและจะสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับผู้ถือหุ้นในระยะยาว

อีกทั้ง คาดว่ากำไรจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้นตามการรับรู้รายได้จากการดำเนินงานแบบเต็มปีจากโรงไฟฟ้าลินเดน โคเจน ที่สหรัฐฯ กำลังการผลิต 972 เมกะวัตต์(บริษัทถือหุ้น 28%) และการลงทุนเอเพ็กซ์ คลีน เอ็นเนอร์ยี โฮลดิ้ง  ในสหรัฐฯ สัดส่วน 17.46% ซึ่งจะรับรู้กำไรเต็มปีประมาณ 400 ล้านบาท

นอกจากนี้ ในส่วนของปริมาณน้ำในเขื่อน สปป.ลาวนั้น หากพิจารณาจากโรงไฟฟ้าที่เป็นเขื่อนใหญ่สุด คือ โรงไฟฟ้าน้ำเทิน 2 จะพบว่าระดับเก็บกักน้ำดีกว่าปีก่อน ทำให้คาดว่าปีนี้ ผลการดำเนินงานจะค่อนข้างดี และปี64 ที่ผ่านมา ก็สร้างรายได้ให้กับบริษัทมากพอสมควร