ผู้ชมทั้งหมด 774
สกนช. เยี่ยมชมกระบวนการผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพจากปาล์มน้ำมันที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี เล็งนำข้อมูลดูงานปรับปรุงแผนการลดการจ่ายเงินชดเชยน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพตามนโยบายรัฐ
นายวิศักดิ์ วัฒนศัพท์ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เปิดเผยว่า สกนช. พร้อมคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่เยี่ยมชมกระบวนการผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพจากปาล์มน้ำมัน ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ระหว่างวันที่ 24 – 25 กุมภาพันธ์ 2565 เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจถึงความสำคัญของน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพหรือไบโอดีเซลที่เป็นส่วนผสมในน้ำมันดีเซล และบทบาทของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนช่วยรักษาเสถียรภาพด้านราคาให้กับน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพ ซึ่งตลอดระยะเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมา กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นกลไกของนโยบายกระทรวงพลังงานในการสนับสนุน และพัฒนาเชื้อเพลิงชีวภาพมาอย่างต่อเนื่อง เพราะตระหนักถึงประโยชน์ที่ได้รับหลายประการ ตั้งแต่ช่วยลดการนำเข้าเชื้อเพลิงฟอสซิล ช่วยเพิ่มมูลค่าให้พืชพลังงาน เกิดการสร้างงานสร้างรายได้จากอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพกระจายสู่ภูมิภาค อีกทั้งยังต่อยอดไปสู่เศรษฐกิจแบบ Bio Economy และที่สำคัญมีส่วนช่วยลดการเกิดก๊าซเรือนกระจกด้วย
ทั้งนี้ สถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยประเมินผลประโยชน์จากการพัฒนาอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพไบโอดีเซลที่เกิดขึ้นกับประเทศโดยข้อมูลล่าสุดปี 2563 พบว่า ประโยชน์ในด้านความมั่นคง ช่วยลด
การนำเข้าเชื้อเพลิงน้ำมันดีเซลพื้นฐานได้ประมาณ 20,400 ล้านบาท/ปี ด้านเศรษฐกิจ สร้างรายได้เพิ่มให้เกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมัน 32,700 ล้านบาท/ปี การแปรรูปสินค้าเกษตรมีรายได้เพิ่ม 38,400 ล้านบาท/ปี โรงงานผลิตไบโอดีเซล 62,000 ล้านบาท/ปี และผู้ค้าน้ำมันรายได้เพิ่ม 5,000 ล้านบาท/ปี ขณะที่ด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ช่วยลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลง 3.6 ล้านตัน/ปี
อย่างไรก็ตาม ทิศทางของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง มีบทบาทหลักในการรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันเชื้อเพลิงของประเทศ ในช่วงสถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในตลาดโลกมีความผันผวนเกิดภาวะวิกฤต เพื่อรักษาระดับของราคาไม่ให้สูงเกินไปจนเกิดผลกระทบต่อค่าครองชีพประชาชน และการเติบโตด้านเศรษฐกิจของประเทศ ขณะเดียวกันกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงยังต้องดูแลสนับสนุนเชื้อเพลิงชีวภาพถึงแม้ในทางกฎหมายตามพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562 จะต้องวางแผนลดการอุดหนุนการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพลงภายใน 3 ปี แต่กฎหมายมีความยืดหยุ่นให้ขยายเวลาการลดการชดเชยได้ 2 ครั้งๆละ 2 ปี ซึ่งช่วงนี้เป็นช่วงที่ประเทศไทยยังต้องเผชิญกับสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 และยังต้องคำนึงถึงการปรับตัวของภาคเกษตรกรประกอบด้วย จึงต้องขยายการชดเชยออกไปก่อน ซึ่งการศึกษาดูงานครั้งนี้ สกนช. จะนำข้อมูลที่ได้รับมาปรับใช้และเตรียมจัดทำแผนขอขยายการชดเชยให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบันต่อไป
สำหรับประมาณการสภาพคล่องกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในปัจจุบัน มีรายจ่ายเดือนละประมาณ 7,000 ล้านบาท แบ่งเป็นรายจ่ายน้ำมันเดือนละ 5,000 ล้านบาท และรายจ่ายก๊าซ LPG เดือนละ 2,000 ล้านบาท ส่วนประมาณการฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ณ วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2565 ติดลบ 20,164 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นบัญชีน้ำมัน 6,172 ล้านบาท และบัญชีก๊าซLPG ติดลบ 26,336 ล้านบาท
โดยในการลงพื้นที่ครั้งนี้ ได้มีโอกาสเยี่ยมชมกระบวนการผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพจากปาล์มน้ำมัน ของบริษัทเอส.พี.โอ.อะโกรอินดัสตรี้ส์ จำกัด ประกอบธุรกิจผลิตน้ำมันปาล์มดิบ น้ำมันเมล็ดใน ผลิตกระแสไฟฟ้าจากไบโอแก๊สและผลิตกระแสไฟฟ้าจากไบโอแมส มีกำลังการผลิต 45 ตันผลปาล์ม/ชั่วโมง โรงงานมีจุดเด่นที่นโยบายคุณภาพ ระบบมาตรฐานRSPO (Roundtable on Sustainable Palm Oil) ซึ่งเป็นมาตรฐานการผลิตปาล์มน้ำมันและน้ำมันที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติมากที่สุด โดยเป็นการผลิตปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืน
เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและรับผิดชอบต่อชุมชน มีการรวมกลุ่มเกษตรกร และควบคุมดูแลการปลูกปาล์มน้ำมัน ทั้งด้านการจัดการดูแลสวนปาล์มอย่างเป็นระบบ ควบคู่การรักษาสิ่งแวดล้อมในชุมชน
นอกจากนี้ ยังได้รับความรู้และประสบการณ์จากผู้บริหารบริษัท นิวไบโอดีเซล จำกัด ซึ่งมีจุดเด่นในการบริหารจัดการคือระบบการรับซื้อ-ขายปาล์มน้ำมันอย่างครบวงจร ไม่ว่าจะเป็น ลานเทปาล์ม โรงสกัดปาล์ม และเป็นโรงกลั่นน้ำมันไบโอดีเซลแห่งเดียวในจังหวัดสุราษฎร์ธานี
โดยมีส่วนการผลิต 4 ส่วน 1.โรงสกัดน้ำมันปาล์มดิบ ผลิตผลปาล์มดิบได้วันละ 2,000 ตัน ผลิตไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพได้ 3 เมกะวัตต์ต่อชั่วโมง 2.โรงกลั่นน้ำมันปาล์มดิบ กลั่นได้วันละ 1,800 ตัน 3.การผลิตน้ำมันไบโอดีเซล ผลิตได้วันละ 1,320 ตันหรือ 1,500,000 ลิตร และ4.การผลิตน้ำมันปาล์มโอเลอีน (น้ำมันปาล์มเพื่อบริโภค) ผลิตได้วันละ 300 ตัน โดยโรงงานแห่งนี้ผลิตน้ำมันไบโอดีเซลเป็นพลังงานทดแทนลดการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงจากต่างประเทศ และช่วยเพิ่มเสถียรภาพด้านราคาให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมัน รวมทั้งสร้างความเชื่อมั่นจะสามารถปลูกและขายผลผลิตในราคาที่เหมาะสม