ผู้ชมทั้งหมด 1,375
คมนาคม ลุยออกแบบสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 2 หนองคาย-เวียงจันทน์ พร้อมดึงเอกชนร่วมทุนพัฒนารถไฟไทยลาว จีน เชื่องโยงโครงข่ายทางถนน รองรับขนส่งสินค้า ผู้โดยสาร
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมสร้างความเข้าใจร่วมกับภาคเอกชนต่อการดำเนินการเชื่อมโยงทางรถไฟระหว่างไทย ลาว และจีน ว่า กระทรวงคมนาคมได้ตระหนักถึงความสำคัญของโครงการเชื่อมโยงโครงข่ายทางรถไฟ ไทย ลาว และจีน เพื่อรองรับการเดินทางและขนส่งระหว่างประเทศ และเป็นส่วนสำคัญของการพัฒนาในระดับอนุภูมิภาคและภูมิภาคที่ยั่งยืน เพื่อสร้างโอกาสให้ประเทศไทยในการส่งเสริมการขยายตัว ด้านอุตสาหกรรม การเกษตร การค้า การลงทุนและบริการ และเพิ่มขีดความสามารถและโอกาสในการแข่งขันในเวทีการค้าโลก ซึ่งในปัจจุบันประเทศไทยมีโครงสร้างพื้นฐานพร้อมสำหรับที่จะรองรับการขนส่งข้ามแม่น้ำโขงเชื่อมต่อการขนส่งสินค้าไทย-ลาว-จีน จากการพิจารณาปริมาณสินค้าที่ต้องการขนส่ง (demand) ในปัจจุบันนั้น กับโครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่ของไทย ยังสามารถรองรับ ปริมาณการขนส่งดังกล่าวได้
อย่างไรก็ตาม เพื่อให้เกิดการบูรณาการอย่างรอบด้าน กระทรวงคมนาคมจึงได้จัดการประชุมสร้างความเข้าใจร่วมกับภาคเอกชนต่อการดำเนินการเชื่อมโยงทางรถไฟระหว่างไทย ลาว และจีน เพื่อรับฟังความเห็นของภาคเอกชน เพื่อเป็น Team Thailand ร่วมกับภาครัฐของไทยในการจัดทำแผนเชื่อมโยงระหว่างสามประเทศทั้ง ไทย ลาว และจีนให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศไทย
โดยกระทรวงคมนาคมได้ชี้แจงแผนการดำเนินการเชื่อมโยงทางรถไฟระหว่างไทย ลาว และจีน โดยมีรายละเอียดดังนี้
1. โครงการรถไฟทางคู่ ช่วงขอนแก่น-หนองคาย ปัจจุบันอยู่ระหว่างเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 คาดว่าเปิดให้บริการในปี 2569
2. การก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งใหม่ ใกล้กับสะพานเดิมที่มีอยู่แล้ว ซึ่งห่างประมาณ 30 เมตร โดยมีทั้งทางรถไฟขนาดมาตรฐาน และทางขนาด 1 เมตร ซึ่งปัจจุบันได้ข้อตกลงว่าฝ่ายไทยและลาวจะร่วมลงทุนค่าใช้จ่ายร่วมกันในอาณาเขตของแต่ละฝ่าย โดยกระทรวงคมนาคมอยู่ระหว่างดำเนินการของบกลางเพื่อออกแบบสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 2 และเร่งดำเนินการก่อสร้าง
3. การเพิ่มรถไฟจาก 4 ขบวนต่อวันเป็น 14 ขบวนต่อวัน และจากขบวนละ 12 แคร่ เป็น 25 แคร่ ซึ่งจะมีศักยภาพการขนส่งเพิ่มขึ้นประมาณ 8 เท่า
4. ในระยะเร่งด่วน จะพัฒนาสถานีรถไฟหนองคายให้รองรับการขนส่งผ่านสะพานเดิม โดยมีพื้นที่ประมาณ 80 ไร่ ให้เป็นพื้นที่ตรวจปล่อยสินค้าระหว่างประเทศ โดยจะมีเครื่องโมบายเอกซเรย์ ติดตั้งอยู่ในพื้นที่สถานีหนองคาย โดยให้เอกชนเช่าบริหารจัดการพื้นที่ 4 แปลง อีก 1 แปลงเป็นพื้นที่ส่วนกลาง ปัจจุบันอยู่ระหว่างประกาศหาเอกชนในเดือนกุมภาพันธ์ 2565
5. ในระยะยาว จะมีการพัฒนาพื้นที่ย่านนาทา จังหวัดหนองคาย ให้สามารถรองรับการขนส่งจากจีนและลาว และส่งออกไปยังลาวและจีน โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จะเร่งกระบวนการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ(Public Private Partnership หรือ PPP) ตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ให้แล้วเสร็จในปีนี้ และก่อสร้างใช้เวลาประมาณ 2 ปี ซึ่งภาคเอกชนได้แสดงความเห็นต่อที่ประชุมดังนี้
1. ปัจจุบันรถไฟลาว – จีน สามารถรองรับ 30 ขบวนต่อวัน โดยให้กระทรวงคมนาคมปรับแผนรองรับจำนวนการขนส่งให้มีปริมาณมากขึ้น และเร่งรัดการก่อสร้างรถไฟทางคู่ช่วงขอนแก่น – หนองคาย รวมถึงสถานีนาทาในแผนระยะเร่งด่วน พร้อมเสนอให้มีการเปิดด่าน 24 ชั่วโมง และให้บูรณาการร่วมกันระหว่างสถานีนาทา และท่านาแล้ง
2. เสนอให้ออกแบบสะพานรถไฟให้สามารถรองรับการใช้งานของรถไฟ และรถยนต์ เพื่อใช้ควบคู่กัน และพิจารณาก่อสร้างสถานีสำหรับขนถ่ายสินค้าและผู้โดยสารที่สถานีหนองคายเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวและสินค้าด้วย
3. เสนอให้ รฟท. เตรียมพื้นที่สำหรับการรองรับการขนส่งสินค้าเกษตรที่เป็นผักและผลไม้ รวมถึงการจัดเตรียมระบบโลจิสติกส์แบบควบคุมอุณหภูมิ ( Cold – Chain) เพื่อรองรับสินค้าเกษตร
4. เสนอให้มีการกำหนดจุดตรวจร่วมพิธีทางศุลกากร (CCA) และพิจารณาเพิ่มจุดผ่อนปรนบริเวณพื้นที่ชายแดน โดยให้กระทรวงคมนาคมประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการต่อไป
5. ปัจจุบันค่าขนส่งสินค้าทางรางจากจีนมาไทยพบว่ามีค่าระวางที่ไม่สูง แต่กรณีการขนส่งสินค้าจากไทยไปจีน ยังมีค่าระวางที่สูง โดยให้ รฟท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหา
6. พิจารณาจัดทำแผนการเชื่อมโยงผ่านลาว และจีนไปยังเอเชียกลาง ยุโรป และเส้นทางในบริเวณทางใต้ของประเทศไทย เพื่อส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในการขนส่ง รวมถึงพิจารณาเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าผ่านระบบรางมายังกรุงเทพ และท่าเรือแหลมฉบังด้วย
7. พิจารณาปรับปรุงมาตรฐานด้านสัญญาการขนส่งทางรถไฟ และปรับปรุงข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องและให้ภาคเอกชนมามีส่วนร่วมในการเดินรถไฟร่วมกับ รฟท.
8. ภาคเอกชนยินดีร่วมเป็น Team Thailand ร่วมกับภาครัฐของไทย ในการจัดทำแผนเชื่อมโยงระหว่างสามประเทศทั้งไทย ลาว และจีนให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ
ทั้งนี้ตนเได้สั่งการในที่ประชุมให้รับความเห็นของภาคเอกชนไปดำเนินการที่เกี่ยวข้อง เพื่อใช้ประโยชน์ในการจัดทำแผนเชื่อมโยงระหว่างสามประเทศทั้ง ไทย ลาว และจีน รวมถึงได้สั่งการให้ รฟท. จัดทำ Action Plan สำหรับดำเนินการจัดทำลานกองเก็บตู้สินค้า (CY) และเตรียมแคร่สำหรับ Cold – Chain พร้อมนี้ได้สั่งการให้มีการแต่งตั้งคณะทำงานร่วมกับภาคเอกชน เพื่อให้ภาครัฐได้รับทราบความต้องการของภาคเอกชน โดยจะให้มีการประชุมร่วมกันทุกเดือน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศไทยต่อไป