“พลังงาน” ขอ “กลุ่มรถบรรทุก-รถแท็กซี่” เข้าใจทุกฝ่าย ย้ำมองหามาตรการช่วยเหลือเพิ่ม

ผู้ชมทั้งหมด 1,043 

“พลังงาน” วอน “กลุ่มรถบรรทุก-รถแท็กซี่” บุกชุมชุนกดดันขอใช้มาตรการลดภาษี-ค่าการตลาด กดราคาขายปลีกน้ำมันเหลือ 25 บาทต่อลิตร 1 ปี  ย้ำขอให้เข้าใจ ทุกฝ่ายเดือดร้อนจากวิกฤตโควิดและราคาพลังงานแพงเหมือนกัน ขณะที่กระทรวงฯ ได้ออกหลายมาตรการบรรเทาผลกระทบไปแล้ว พร้อมเร่งหาแนวทางช่วยเหลือเพิ่มเติม ขณะที่การปรับขึ้นราคา LPG ยังต้องพิจารณาหลายปัจจัย

วันนี้ (8 ก.พ. 2565) กลุ่มสหพันธ์รถขนส่งแห่งประเทศไทยและรถแท็กซี่​ เดินทางปิดล้อมกระทรวงพลังงาน เพื่อกดดันให้รัฐบาลลดราคาน้ำมันดีเซล​ พร้อมพลัดกันขึ้นปราศรัยบนรถ เรียกร้องขอให้นายสุพัฒนพงษ์​ พันธ์มีเชาว์​ รองนายกรัฐมนตรี​ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน​  ลาออก​ และขอให้ปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตทั้งระบบ ขณะที่กลุ่มรถแท๊กซี่​ อยากจะให้ปรับราคาก๊าซฯ ​NGV ​เหลือราคา 10.50 บาทต่อกิโลกรัม​จากปัจจุบัน จำหน่ายอยู่ที่ราคา 15.60 บาทต่อกิโลกรัม​ ประมาณ 3-6 เดือน หรือจนกว่าสถานการณ์โควิด-19 จะคลี่คลาย

ขณะที่ทางด้านกระทรวงพลังงาน ได้ส่ง นายสมบูรณ์ หน่อแก้ว รองปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นตัวแทนมารับหนังสือจากนายอภิชาติ ไพรรุ่งเรือง ประธานสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย ที่ได้ยื่นข้อเรียกร้องให้กระทรวงพลังงานลดราคาน้ำมันดีเซลให้เหลือลิตรละ 25 บาทเป็นเวลา 1 ปี เนื่องจากที่ผ่านมาได้รับความเดือดร้อนจากราคาน้ำมันดีเซลที่เพิ่มสูงขึ้นจนส่งผลกระทบต่อต้นทุนในการขนส่ง โดยทางสหพันธ์ฯ ขอให้ลดการเก็บภาษีสรรพสามิต ลดค่าการตลาด และหยุดผสมไบโอดีเซลในน้ำม้นดีเซลชั่วคราวเนื่องจากราคาไบโอดีเซลมีราคาสูง ส่งผลให้ราคาน้ำมันดีเซลมีราคาสูงตามไปด้วย 

​ทั้งนี้ กระทรวงพลังงาน ขอชี้แจงว่า ราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เกิดจากเศรษฐกิจในหลายประเทศเริ่มฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิด ทำให้ในหลายๆ ประเทศ มีการใช้พลังงานเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ราคาพลังงานเพิ่มสูงขึ้นเนื่องจาก supply มีไม่เพียงพอกับความต้องการที่เพิ่มขึ้น นอกจากนั้น เกิดความตึงเครียดทางการเมืองในหลายพื้นที่ในโลกที่หนุนให้ราคาน้ำมันขยับขึ้นอีก รวมทั้งอัตราแลกเปลี่ยนที่ค่าเงินบาทอ่อนตัวลง ก็เป็นอีกสาเหตุที่ทำให้ราคาน้ำมันสูงขึ้นกว่าในอดีตที่ผ่านมา และอีกสาเหตุสำคัญคือ ประเทศไทยเป็นประเทศนำเข้าน้ำมันดิบกว่า 80-90 % ของความต้องการ ทำให้ราคาน้ำมันสำเร็จรูปในไทยจึงขึ้นลงสอดคลัองกับราคาตลาดโลก

​“ต้องยอมรับว่า ขณะนี้ ประเทศไทยเจอหลายสถานการณ์เกิดขึ้นพร้อมๆ กัน จึงทำให้การแก้ไขสถานการณ์เป็นไปด้วยความยากลำบาก แต่ที่ผ่านมา กระทรวงพลังงาน ก็ได้ดำเนินหลายมาตรการในการช่วยเหลือประชาชน ทั้งลดค่าไฟฟ้า ค่าก๊าซหุงต้ม ส่วนสถานการณ์ราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว กระทรวงพลังงาน ก็ได้ตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร มีการขอความร่วมมือผู้ค้าน้ำมันให้ลดค่าการตลาด มีการปรับลดสัดส่วนการผสมไบโอดีเซลมาอย่างต่อเนื่อง”

ปัจจุบันมีการปรับสัดส่วนผสมไบโอดีเซลในน้ำมัน B7 B10 และ B20 ให้เหลือขั้นต่ำร้อยละ 5 โดยปริมาตร หรือเหลือน้ำมันดีเซลเกรดเดียวคือ B5 และก็ยังได้เตรียมมาตรการทั้งระยะสั้นและระยะยาวสำหรับการปรับสัดส่วนผสมไบโอดีเซลให้มีความเหมาะสมและเป็นธรรมกับทุกฝ่าย

ดังนั้น ขอให้ประชาชนเข้าใจถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน แต่กระทรวงพลังงานก็ขอยืนยันว่าจะดำเนินมาตรการช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง และจะยังคงเตรียมหามาตรการอื่นๆ เพื่อช่วยเหลือประชาชนให้ได้รับผลกระทบให้น้อยที่สุด

ด้านนายสมภพ พัฒนอริยางกูล โฆษกกระทรวงพลังงาน ได้ชี้แจงกรณีราคาก๊าซหุงต้ม หรือ LPG ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยระบุว่า กระทรวงพลังงาน ได้ใช้กลไกเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเข้าไปช่วยเหลือโดยการอุดหนุนราคาขายให้อยู่ที่ 318 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม (ไม่รวมค่าขนส่งและค่าบริการของแต่ละร้านค้า) โดยเริ่มอุดหนุนตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 เป็นต้นมา เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อต้นทุนร้านอาหารและค่าครองชีพของประชาชน ซึ่งหากไม่มีการช่วยเหลือ ณ ปัจจุบัน ราคาขายที่แท้จริงจะสูงถึง 434 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม

ทั้งนี้ โครงสร้างราคา LPG ของไทยจะอ้างอิงตามการปรับขึ้นลงตามราคาตลาดโลกในส่วนของราคา ณ โรงกลั่น โดยกำหนดให้เปลี่ยนแปลงทุก 2 สัปดาห์ เพื่อลดความผันผวน โดยมีสำนักงานนโยบายและแผนพลังงานและกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

“สถานะเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่เป็นกลไกสำคัญในการเข้าไปอุดหนุนราคาเพื่อลดผลกระทบให้กับประชาชนอยู่ในภาวะติดลบค่อนข้างมาก ทำให้มีแนวโน้มว่าต้องมีการปรับขึ้นราคา”

อย่างไรก็ตาม ปลัดกระทรวงพลังงาน ได้ชี้แจงไปแล้วว่า ก่อนถึงช่วงเวลาดังกล่าว กระทรวงพลังงานจะต้องพิจารณาถึงบริบทแวดล้อมด้านค่าครองชีพในขณะนั้น หากมีสถานการณ์ที่ภาพรวมราคาสินค้าและบริการในช่วงดังกล่าวเพิ่มสูงขึ้น ก็จะมีการพิจารณาความเหมาะสมต่อไป อย่างเช่นสถานการณ์เมื่อต้นปีที่ผ่านมา กบง. ก็ได้มีมติขยายการตรึงราคาที่ 318 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม (ไม่รวมค่าขนส่ง) ซึ่งเดิมสิ้น 31 มกราคม 2565 ก็ได้ขยายถึง 31 มีนาคม 2565 รวมทั้งได้ขอความอนุเคราะห์ทางบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ขยายระยะเวลาการช่วยเหลือกลุ่มร้านค้า หาบเร่ แผงลอยอาหาร โดยให้ส่วนลดค่าก๊าซ LPG  ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ไปจนถึง 31 มีนาคม 2565 เช่นกัน