ผู้ชมทั้งหมด 1,194
กรมธุรกิจพลังงาน เผย โควิด-19 กดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง ปี 2564 (มกราคม-ธันวาคม) หดตัว 3.5% เหตุล็อกดาวน์ฉุดยอดการใช้น้ำมันเครื่องบิน ดีเซล และเบนซิน ขณะที่ เดือรธ.ค.ปี64 น้ำมันเครื่องบิน แตะระดับสูงสุดในรอบเกือบ 2 ปีที่ระดับ 6.76 ล้านลิตรต่อวัน หลังคลายล็อกดาวน์ พร้อมจับตาโอมิครอน ต่อการใช้พลังงานปี65
นางสาวนันธิกา ทังสุพานิช อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน เปิดเผยภาพรวมการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเฉลี่ยต่อวันปี 2564 (มกราคม – ธันวาคม) ลดลงเมื่อเทียบกับปี 2563 ร้อยละ 3.5 โดยการใช้น้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์ (Jet A1) ลดลงร้อยละ 36.0 กลุ่มเบนซินลดลงร้อยละ 8.5 กลุ่มดีเซลลดลงร้อยละ 3.5 น้ำมันก๊าดลดลงร้อยละ 6.3 อย่างไรก็ตาม การใช้น้ำมันเตาเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.6 LPG เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.4 สำหรับการใช้ NGV ลดลงร้อยละ 19.1
สำหรับการใช้น้ำมันกลุ่มเบนซิน ปี 2564 เฉลี่ยอยู่ที่ 29.03 ล้านลิตร/วัน ลดลงจากปี 2563 (ลดลง ร้อยละ 8.5) โดยปริมาณการใช้กลุ่มแก๊สโซฮอล์ลดลงมาอยู่ที่ 28.37 ล้านลิตร/วัน (ลดลง ร้อยละ 8.3) การใช้แก๊สโซฮอล์ 91 แก๊สโซฮอล์ 95 แก๊สโซฮอล์ อี20 และแก๊สโซฮอล์ อี85 ลดลงมาอยู่ที่ 6.90 ล้านลิตร/วัน 14.90 ล้านลิตร/วัน 5.79 ล้านลิตร/วัน และ 0.78 ล้านลิตร/วัน ตามลำดับ สำหรับการใช้น้ำมันเบนซินลดลงมาอยู่ที่ 0.66 ล้านลิตร/วัน เมื่อพิจารณาภาพรวมตลอดทั้งปี พบว่า การใช้กลุ่มเบนซินในเดือนมกราคมอยู่ในระดับต่ำที่ 27.31 ล้านลิตร/วัน เนื่องจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในสมุทรสาครและจังหวัดใกล้เคียง ขณะที่สถานการณ์การแพร่ระบาดในช่วงไตรมาส 4 มีทิศทางดีขึ้นและประชาชนได้รับวัคซีนมากขึ้น ประกอบกับการคลายล็อคดาวน์ นโยบายเปิดประเทศ และการกระตุ้นเศรษฐกิจ ความต้องการใช้น้ำมันจึงเติบโตอีกครั้ง โดยการใช้กลุ่มเบนซินแตะระดับสูงสุดในรอบ 9 เดือน ที่ 33.71 ล้านลิตร/วัน ในเดือนธันวาคม
ส่วนการใช้น้ำมันกลุ่มดีเซล ปี 2564 เฉลี่ยอยู่ที่ 63.13 ล้านลิตร/วัน ลดลงจากปี 2563 (ลดลง ร้อยละ 3.5) สำหรับน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี7 การใช้ลดลงมาอยู่ที่ 39.84 ล้านลิตร/วัน (ลดลง ร้อยละ 9.0) น้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดา ซึ่งเริ่มจำหน่ายตั้งแต่ปลายเดือนพฤษภาคม 2562 ปริมาณการใช้เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 19.25 ล้านลิตร/วัน และน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี20 มีปริมาณการใช้ 0.99 ล้านลิตร/วัน
ภาพรวมการใช้น้ำมันกลุ่มดีเซลปี 2564 มีความผันผวนอย่างมาก โดยในช่วงต้นปีปริมาณการใช้ใกล้เคียงกับปีก่อน อย่างไรก็ตาม กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เป็นไปอย่างจำกัด ส่งผลให้ในช่วงกลางปีการใช้กลุ่มดีเซลอยู่ในระดับต่ำและแตะระดับต่ำสุดในรอบหลายปีที่ 53.27 ล้านลิตร/วัน ในเดือนสิงหาคม ก่อนที่จะกลับมาขยายตัวอย่างมากในช่วงปลายปี โดยแตะระดับสูงสุดที่ 77.01 ล้านลิตร/วัน ในเดือนธันวาคม ทั้งนี้ สัดส่วนการใช้ บี7 บี10 และบี20 ในดีเซลหมุนเร็วอยู่ที่ร้อยละ 92.3 ร้อยละ 7.3 และร้อยละ 0.4 ตามลำดับ
การใช้น้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์ (Jet A1) เฉลี่ยอยู่ที่ 4.67 ล้านลิตร/วัน ลดลงจากปี 2563 (ลดลง ร้อยละ 36.0) เนื่องจากสถานการณ์ COVID-19 โดยปริมาณการใช้อยู่ในระดับต่ำตลอดทั้งปีที่ 4-5 ล้านลิตร/วัน อย่างไรก็ตาม การใช้ Jet A1 ปรับตัวสูงขึ้นในเดือนพฤศจิกายนและเดือนธันวาคม หลังการปรับลดพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด การผ่อนคลายมาตรการการบินและการเดินทางเข้าประเทศ และการมีวันหยุดยาวและเทศกาลปีใหม่ โดยการใช้ Jet A1 ในเดือนธันวาคมแตะระดับสูงสุดในรอบเกือบ 2 ปีที่ 6.76 ล้านลิตร/วัน อย่างไรก็ตาม ความต้องการใช้ Jet A1 ได้รับแรงกดดันจาก COVID-19 สายพันธุ์โอมิครอน ทำให้สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ประกาศห้ามเที่ยวบินจาก 8 ประเทศในแอฟริกาเข้าไทยตั้งแต่ 1 ธันวาคม และ ศบค. มีมติให้ระงับการลงทะเบียนขอเข้าไทยแบบ Sandbox (ยกเว้นภูเก็ต) และ Test and Go ตั้งแต่วันที่ 21 ธันวาคม
นอกจากนี้ การใช้ LPG เฉลี่ยอยู่ที่ 16.52 ล้านกก./วัน เพิ่มขึ้นจากปี 2563 (เพิ่มขึ้น ร้อยละ 7.4) เนื่องจากการใช้ในภาคปิโตรเคมีที่สูงขึ้นมาอยู่ที่ 7.26 ล้านกก./วัน (เพิ่มขึ้น ร้อยละ 19.1) และการใช้ในภาคอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1.87 ล้านกก./วัน (เพิ่มขึ้น ร้อยละ 11.6) สำหรับภาคครัวเรือนมีการใช้อยู่ที่ 5.65 ล้านกก./วัน (เพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.6) อย่างไรก็ตาม การใช้ในภาคขนส่งลดลงมาอยู่ที่ 1.74 ล้านกก./วัน (ลดลง ร้อยละ 14.8)
และการใช้ NGV เฉลี่ยอยู่ที่ 3.12 ล้านกก./วัน ลดลงจากปี 2563 (ลดลง ร้อยละ 19.1) โดยเป็นผลจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ประกอบกับจำนวนสถานีบริการและรถ NGV ที่ลดลง
ทั้งนี้ การนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงปี 2564 เฉลี่ยอยู่ที่ 898,054 บาร์เรล/วัน เพิ่มขึ้นจากปี 2563 (เพิ่มขึ้น ร้อยละ0.9) โดยการนำเข้าน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 863,232 บาร์เรล/วัน (เพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.1) มูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 60,672 ล้านบาท/เดือน (เพิ่มขึ้น ร้อยละ 63.0) สำหรับการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูป (น้ำมันเบนซินพื้นฐาน น้ำมันดีเซลพื้นฐาน น้ำมันเตา น้ำมันอากาศยาน และ LPG) ลดลงมาอยู่ที่ 34,822 บาร์เรล/วัน (ลดลง ร้อยละ 22.7) คิดเป็นมูลค่าการนำเข้า 2,343 ล้านบาท/เดือน (เพิ่มขึ้น ร้อยละ 20.4)
และการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปปี 2564 เป็นการส่งออกน้ำมันเบนซิน น้ำมันดีเซล ไบโอดีเซล น้ำมันเตา น้ำมันอากาศยาน น้ำมันก๊าด และ LPG โดยปริมาณส่งออกเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 203,182 บาร์เรล/วัน (เพิ่มขึ้น ร้อยละ 9.3) คิดเป็นมูลค่าส่งออกรวม15,141 ล้านบาท/เดือน (เพิ่มขึ้น ร้อยละ 81.7)