ผู้ชมทั้งหมด 1,103
“ซีอีโอ ปตท.” ประเมิน ไตรมาส 1 ปีนี้ ราคาน้ำมันดิบแกว่งในกรอบ 80-90 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ชี้หากเหตุขัดแย้งการเมืองระหว่างประเทศคลี่คลาย ราคาไม่ทะลุ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ลุ้นเข้าไตรมาส 2 ราคาเริ่มอ่อนตัว
สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงปลายเดือน ม.ค.2565 จากความกังวลต่อสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างยูเครนและรัสเซีย, เหตุประท้วงรุนแรงในคาซัคสถานต่อต้านรัฐบาล และการปิดล้อมแหล่น้ำมันในลิเบีย
ปัจจัยดังกล่าว ส่งผลต่อราคาน้ำมันดิบ ล่าสุด ปิดตลาดเมื่อวันที่ 25 ม.ค.2565 พบว่า เวสต์เท็กซัส เพิ่มขึ้น 2.29 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ปิดที่ 85.60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล , เบรนท์ เพิ่มขึ้น 1.93 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ปิดที่ 88.20 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และดูไบ ลดลง 1.93 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ปิดที่ 85.00 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) หรือ PTT ระบุว่า กลุ่ม ปตท.ได้วิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบเบื้องต้น คาดว่า ราคาไม่น่าจะปรับขึ้นไปแตะระดับ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล หากเหตุการณ์ต่างๆไม่ทวีความรุนแรงไปมากกว่านี้ เพราะหากดูความเป็นไปได้ในด้านของดีมานด์และซัพพลายแล้ว ยังไม่เอื้อต่อการปรับขึ้นราคาไปสู่ระดับดังกล่าว
โดยคาดว่า ในช่วงไตรมาส 1 ปีนี้ ราคาน้ำมันดิบ น่าจะแกว่งตัวในกรอบ 80-90 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เนื่องจากยังอยู่ในช่วงฤดูหนาวในต่างประเทศทำให้ความต้องการใช้น้ำมันยังอยู่ในระดับสูง แต่หากผ่านพ้นฤดูหนาวไปแล้ว และเหตุการณ์ความไม่สงบต่างๆคลี่คลายไปในทางที่ดี ก็เชื่อว่า ราคาน้ำมันดิบจะเริ่มออ่อนตัวลง
“ราคาน้ำมันดิบที่สูงขึ้น ยอมรับว่า มีทั้งที่ส่งผลดีและผลลบต่อกลุ่ม ปตท. เพราะมีธุรกิจที่หลากหลาย เช่น ธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม จะได้รับผลดีจากราคาน้ำมันขาขึ้น โรงกลั่นน้ำมัน จะได้กำไรจากส่วนต่างของราคาน้ำมันดิบ-น้ำมันสำเร็จรูป ซึ่งไม่ได้อยู่ที่การขึ้นลงของราคาน้ำมันดิบ เป็นต้น”
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของธุรกิจค้าปลีกน้ำมัน ที่ดำเนินการภายใต้บริษัทลูก คือ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR ยังคงทำหน้าที่บรรเทาผลกระทบจากราคาน้ำมันดิบที่ผันผวนและอยู่ในช่วงขาขึ้น โดยไม่ได้ปรับขึ้นราคาทันที ซึ่งค่าการตลาดน้ำมันในช่วงนี้อาจไม่ได้สูงนัก แต่ก็พยายามบริหารจัดการธุรกิจเพื่อรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ และOR ยังมีรายได้จากธุรกิจอื่น หรือ non-oil ที่สามารถเข้ามาช่วยเสริมมาร์จินได้
นอกจากนี้ กลุ่ม ปตท.ยังปรับตัวรองรับการเปลี่ยนแปลงด้านพลังงาน โดยมุ่งขยายธุรกิจใหม่ เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า(EV)ครบวงจร โดยบริษัท อรุณ พลัส จำกัด (ARUN PLUS) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ ปตท. ถือหุ้น 100% ก็ได้พัฒนวัตกรรมใหม่ออกสู่ตลาด เช่น EVme (อีวี มี) ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มปิดให้บริการเช่ารถยนต์ไฟฟ้าเเบบครบวงจรรายแรกในประเทศไทย รวมถึงในส่วนของโรงงานประกอบรถยนต์ที่ร่วมมือกับหลายค่าย คาดว่า จะเริ่มสร้างโรงงานได้ภายในปีนี้