ผู้ชมทั้งหมด 1,075
BPP ผนึกบริษัทแม่ “บ้านปู” เข้าลงทุน 2 โรงไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์มในเวียดนาม มูลค่ารวม 883 ล้านบาท กำลังการผลิตรวม 50 เมกะวัตต์ คาดปิดดีลไตรมาส 2/2565 ชี้หนุนพอร์ตพลังงานหมุนเวียนแตะ 800 เมกะวัตต์ เข้าเป้าในปี 2568
นายกิรณ ลิมปพยอม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BPP เปิดเผยว่า บริษัท ได้ลงนามในสัญญาซื้อขาย (SPA) ผ่านบริษัท BRE Singapore Pte. Ltd. (BRES) เพื่อลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 2 แห่งใหม่ในประเทศเวียดนาม ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ชูง็อก (Chu Ngoc) กำลังผลิต 15 เมกะวัตต์ ในจังหวัดเกียลาย (Gia Lai) และโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์น็อนไห่ (Nhon Hai) กำลังผลิต 35 เมกะวัตต์ ในจังหวัดนินห์ถ่วน มูลค่าการลงทุนรวม 26.69 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 883 ล้านบาท โดยการลงทุนดังกล่าวอยู่ในระหว่างการปฏิบัติตามเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องในสัญญา และการรอได้รับอนุมัติจากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง คาดว่าจะเสร็จสิ้นภายในไตรมาสที่ 2/2565
สำหรับการลงทุนครั้งนี้ มีสัดส่วนการลงทุนจาก BPP และบริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ในสัดส่วนที่เท่ากันคือ 50% ซึ่งคิดเป็นเงินลงทุนส่วนของ BPP 13.35 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 442 ล้านบาท ส่งผลให้ BPP มีกำลังผลิตตามสัดส่วนการลงทุน 25 เมกะวัตต์ เป็นการขยายพอร์ตพลังงานหมุนเวียนผ่านการลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในเวียดนามเป็นครั้งที่สองต่อจากโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ฮาติ๋ญที่ลงนามสัญญาซื้อขายไปเมื่อต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา
“โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทั้ง 2 แห่งนี้ มีจุดเด่นทั้งตั้งอยู่ในพื้นที่ความเข้มของแสงอาทิตย์ในระดับดีเยี่ยมและยาวนาน มีราคารับซื้อไฟฟ้า (FiT) ที่ 9.35 เซนต์สหรัฐต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง ซึ่งถือเป็นอัตราที่ดี รวมทั้งมีการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบสายส่งให้แก่การไฟฟ้าเวียดนาม(EVN) ตามสัญญาการซื้อขายไฟฟ้า (PPA) เป็นระยะเวลา 20 ปี ซึ่งทั้ง 2 แห่งเป็นโรงไฟฟ้าที่ดำเนินการผลิตอยู่แล้ว จึงสามารถสร้างกระแสเงินสดได้ทันที”
ทั้งนี้ เมื่อเดือนธันวาคม 2564 ที่ผ่าน บริษัทฯ ได้ลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ฮาติ๋ญ กำลังผลิต 50 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แห่งแรกที่ BPP ลงทุนในเวียดนาม โดยเวียดนามนับเป็นหนึ่งในประเทศยุทธศาสตร์ที่ BPP มุ่งขยายธุรกิจด้านพลังงานหมุนเวียน เนื่องจากมีความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าที่สูงและมีนโยบายสนับสนุนด้านพลังงานหมุนเวียนที่ชัดเจนจากภาครัฐ
อย่างไรก็ตาม การลงทุนในเวียดนาม เป็นตอกย้ำการเติบโตตามแผนกลยุทธ์ที่มุ่งลงทุนในสินทรัพย์ที่ดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้วเพื่อสร้างรายได้อย่างรวดเร็ว สะท้อนความมุ่งมั่นในการขยายกำลังผลิตไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง ในสัดส่วนที่สมดุลระหว่างพลังงานเชื้อเพลิงทั่วไปและพลังงานหมุนเวียน เพื่อบรรลุเป้าหมาย 5,300 เมกะวัตต์ โดยมาจากพลังงานหมุนเวียน 800 เมกะวัตต์ ภายในปี 2568
นายกิรณ กล่าวอีกว่า ตั้งแต่ในช่วงไตรมาส 4/2564 ที่ผ่านมา BPP ยังได้เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในญี่ปุ่นจำนวน 3 แห่ง ได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เคเซนนุมะ (Kesennuma) ขนาดกำลังผลิต 20 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์นิฮอนมัสซึ (Nihonmatsu) ขนาดกำลังผลิต 12 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ชิราคาวะ (Shirakawa) ขนาดกำลังผลิต 10 เมกะวัตต์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ส่งผลให้ปัจจุบัน BPP มีกำลังผลิตไฟฟ้าตามสัดส่วนการลงทุนรวม 3,389 เมกะวัตต์เทียบเท่า อีกทั้ง บริษัทฯ ยังมีโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมหวินเจา (Vinh Chau) ระยะที่ 1 ในเวียดนาม กำลังผลิต 30 เมกะวัตต์ที่กำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้างเพื่อเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ ซึ่งคาดว่าจะ COD ในไตรมาส 1/2565