ผู้ชมทั้งหมด 1,538
“พลังงาน” จ่อเกลี่ยโควตานำเข้าก๊าซฯ ปีนี้ 4.5 ล้านตัน ชดเชยแหล่งเอราวัณผลิตต่ำกว่าเงื่อนไข PSC เปิดทาง “ชิปเปอร์แอลเอ็นจี รายใหม่” แข่งขันนำเข้า ปี65 ปริมาณรวม 2.7 ล้านตัน ส่วนปตท. ลุ้นสิทธิ 1.8 ล้านตัน
นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กรณีการเข้าพื้นที่แหล่งเอราวัณล่าช้า หลังเปลี่ยนถ่ายการบริหารจัดการจากระบบสัญญาสัมปทานมาเป็นระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต(PSC) ในเดือนเม.ย.นี้ ซึ่งอาจส่งผลให้กำลังการผลิตก๊าซธรรมชาติจากแหล่งดังกล่าว ต่ำกว่าเงื่อนไขสัญญา PSC ที่กำหนดปริมาณการผลิตก๊าซฯต้องไม่ต่ำกว่า 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันนั้น ทำให้กระทรวงพลังงาน มีการประเมินว่า ในปี 2565 ประเทศไทยจำเป็นต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) เบื้องต้นเพิ่มขึ้นเป็น 4.5 ล้านตัน
โดยปริมาณก๊าซ LNG ดังกล่าวที่จะนำเข้าในปีนี้ อาจเป็นการนำเข้าโดยบริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) ปริมาณ 1.8 ล้านตัน และที่เหลือ 2.7 ล้านตัน จะเป็นการนำเข้าของผู้ได้รับใบอนุญาตจัดหาและนำเข้า(Shipper) รายใหม่ ภายใต้ระบบแข่งขันตลาดเสรี
“ก็ต้องไปดูว่า แหล่งเอราวัณ จะผลิตก๊าซฯได้จริงในปริมาณเท่าไหร่ หากต่ำกว่าที่ประเมินไว้ก็อาจต้องนำเข้า LNG เพิ่มขึ้น ซึ่งการนำเข้าLNG ก็จะมีทั้ง การนำเข้าโดย ปตท.และก็Shipper รายใหม่ด้วย แต่หากราคาLNG ที่จะนำเข้ายังแพง และไม่มี Shipper สนใจนำเข้า ก็จะเป็นหน้าที่ของ ปตท.ที่จะจัดหาก๊าซฯให้เพียงพอกับความต้องการใช้ในประเทศต่อไป”
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของรายละเอียดการจัดหาและนำเข้าก๊าซฯ รวมถึงราคาที่เหมาะสมทางคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) ได้มอบหมายให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เป็นผู้พิจารณา ซึ่งขณะนี้ กกพ.อยู่ระหว่างจัดทำข้อมูลต่างๆ เพื่อดูแลความมั่งคงด้านพลังงานของประเทศไม่ให้เกิดปัญหาขาดแคลน และมีราคาที่กระทบผู้บริโภคน้อยที่สุด
ขณะเดียวกัน ทางกระทรวงพลังงาน ได้กำชับให้ กลุ่ม ปตท.สผ.ซึ่งเป็นผู้ได้รับสิทธิบริหารจัดการแหล่งเอราวัณ ตามเงื่อนไขสัญญา PSC รักษากำลังผลิตก๊าซฯในช่วงเปลี่ยนผ่านให้ได้ 500-600 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน หรือ มากกว่า เพื่อลดผลกระทบการนำเข้าก๊าซ LNG ให้เป็นไปตามแผนฯที่ภาครัฐได้เตรียมความพร้อมไว้
ทั้งนี้ การประชุม กพช. เมื่อวันที่ 6 ม.ค.2565 ได้เห็นชอบ 5 แนวทางดำเนินการอื่นๆ เพิ่มเติม เพื่อรับมือกรณีปริมาณการผลิตก๊าซฯจากแหล่งเอราวัณตำกว่าแผนฯ ดังนี้
1.จัดหาก๊าซธรรมชาติเพิ่มเติมเต็มความสามารถของแหล่ง รวมถึงจัดทำสัญญาซื้อขายก๊าซเพิ่มเติมจากแหล่งก๊าซธรรมชาติที่มีศักยภาพ ทั้งแหล่งก๊าซในอ่าวไทย และในพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย(JDA)
2) การเลื่อนแผนการปลดโรงไฟฟ้าแม่เมาะ เครื่องที่ 8 ออกไปอีก 1 ปี จากเดิมหมดสัญญาวันที่ 31 ธ.ค.2564 เป็นวันที่ 31 ธันวาคม 2565
3) รับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนส่วนเพิ่มจากผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP) และ/หรือผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) จากสัญญาเดิม กลุ่มชีวมวล เพิ่มขึ้น 400 เมกะวัตต์ สามารถทดแทนนำเข้า LNG ได้ 2 แสนตันต่อปี
4) เปลี่ยนมาใช้เชื้อเพลิงน้ำมันดีเซลและน้ำมันเตาทดแทนก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้า ในโรงไฟฟ้าบางปะกงและโรงไฟฟ้าตะวันตก
5) รับซื้อไฟฟ้าจากโครงการพลังน้ำสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ในโครงการน้ำงึม 3 กำลังการผลิต 400 เมกะวัตต์ เพื่อให้สามารถจ่ายไฟฟ้าให้ไทยในปริมาณที่มากขึ้นและเร็วขึ้นกว่าแผนเดิม จากเดิมกำหนด COD กลางปี 2566 ก็อาจเป็นไตรมาส 4 ปี2565 แทน