ขสมก.เร่งปรับแผนเชิงพาณิชย์เปิดประมูลพัฒนาพื้นที่อู่รถเมล์

ผู้ชมทั้งหมด 801 

ขสมก.เร่งปรับแผนพัฒนาพื้นที่อู่รถเมล์เป็นเชิงพาณิชย์ เปิดมูลดึงเอกชนร่วมลงทุน นำร่อง อู่บางเขน –  มีนบุรี มูลค่ารวมกว่า 3 พันล้านบาท เน้นเพิ่มพื้นที่สีเขียว และลานกิจกรรม หวังเสริมรายได้นอกเหนือจากการเดินรถ

นายกิตติกานต์ จอมดวง จารุวรพลกุล ผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เปิดเผยว่า แผนการนำที่ดินของอู่จอดรถเมล์ขสมก.ในรูปแบบโครงการผสมผสาน (มิกซ์ยูส) เป็นหนึ่งในแผนฟื้นฟูองค์กรของ ขสมก. เพื่อหารายได้นอกเหนือจากการเดินรถ อย่างไรก็ตามแผนพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ของอู่รถเมล์นั้น ขสมก.อยู่ระหว่างการปรับปรุงแผนใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน เนื่องจากแผนเดิมมีการศึกษาไว้นานแล้ว

โดยการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ของอู่รถเมล์นั้นจะเน้นการเพิ่มพื้นที่สีเขียว สวยสาธารณะและลานกิจกรรมให้มากขึ้น แล้วลดโครงการคอมมูนิตี้มอลล์ลง เพื่อทำให้ประชาชนและผู้โดยสารที่ใช้บริการรถโดยสาร ขสมก.ได้ใช้ประโยชน์จากอู่จอดรถให้มากขึ้น โดยเบื้องต้นคาดว่าจะทบทวนผลการศึกษาโครงการดังกล่าวแล้วเสร็จภายใน 6 เดือน ทำให้ในปี 2565 จะเห็น ขสมก.เริ่มเปิดประกวดราคาจัดหาเอกชนร่วมลงทุนในโครงการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์

“ขณะนี้ ขสมก.ได้นำผลการศึกษาแผนพัฒนาอู่จอดรถเมล์ทั้งหมดมาศึกษาใหม่ จากเดิมแผนจะมีการพัฒนาเชิงพาณิชย์ ส่วนใหญ่เป็นโครงการคอมมูนิตี้มอลล์ โรงแรมและพื้นที่เพื่อการค้า แต่ขณะนี้เล็งเห็นว่าพื้นที่อู่รถเมล์เป็นพื้นที่กว้าง หากปรับแผนพัฒนาพื้นที่สีเขียว และลานกิจกรรมให้มากขึ้น ลดโครงการคอมมูนิตี้มอลล์ลง จะเป็นประโยชน์มากกว่า”นายกิตติกานต์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แผนพัฒนาเชิงพาณิชย์ของ ขสมก. ก่อนหน้านี้มีการศึกษานำพื้นที่อู่จอดรถหลายแห่งในกรุงเทพฯ มาเตรียมเปิดประมูลให้เอกชนร่วมลงทุน อาทิ อู่บางเขน ที่มีพื้นที่ 11 ไร่ อยู่ติดกับรถไฟฟ้า และอู่มีนบุรี ที่มีพื้นที่ 10 ไร่ เป็นย่านชุมชนที่มีการเดินทางผ่านหนาแน่น จึงถือเป็นอู่จอดรถที่มีศักยภาพ คาดว่าจะจูงใจเอกชนร่วมลงทุน

อย่างไรก็ตามขสมก.ได้ประเมินมูลค่าการลงทุนของโครงการเชิงพาณิชย์ทั้งสองแห่งไว้ในเบื้อต้นแล้ว โดยอู่บางเขน ขสมก.จะเป็นผู้ลงทุนที่ดิน ส่วนเอกชนจะลงทุนก่อสร้างอาคารทั้งหมด โดยให้เอกสัมปทานเช่าพัฒนาที่ดินรวม 30 ปีมีมูลค่าลงทุนรวมทั้งสิ้น 2,494 ล้านบาท แบ่งออกเป็น ค่าธรรมเนียมการใช้สิทธิ์ 278 ล้านบาท ค่าตอบแทนระหว่างการก่อสร้าง 13 ล้านบาท ผลตอบแทนจากค่าเช่า 514 ล้านบาท และมูลค่าการลงทุนโครงการ 1,687 ล้านบาท

ส่วนอู่มีนบุรี ผลการศึกษาก่อนหน้านี้ ขสมก.มีแนวคิดจะพัฒนาเป็นตลาดและร้านค้า รวมทั้งการพัฒนาเป็นตลาดและร้านอาหารริมน้ำบริเวณคลองสามวา โดยจะเปิดให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนภายใต้สัมปทานเช่าระยะ 30 ปี หลังสิ้นสุดสัมปทานเอกชนจะต้องโอนที่ดินและทรัพย์สินทั้งหมดคืนให้ ขสมก.เบื้องต้นจะมีการก่อสร้างอาคารเพียงอาคารตลาดและร้านค้าเท่านั้น คาดว่าจะมีมูลค่าลงทุนราว 1,386.88 ล้านบาท