ผู้ชมทั้งหมด 1,215
ไทยออยล์ ชี้ ตลาดกังวลการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์ “โอมิครอน” ขณะที่อุปทานน้ำมันดิบที่อยู่ในระดับต่ำ หนุนราคาน้ำมันดิบสัปดาห์นี้ทรงตัว คาดเวสต์เท็กซัส อยู่ที่ในกรอบ 71-76 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนเบรนท์ อยู่ในกรอบ 74-79 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
บริษัท ไทยออยล์ จำกัด(มหาชน) หรือ TOP เปิดเผยบทวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันประจำสัปดาห์ ระหว่างวันที่ 27 – 30 ธ.ค. 64 พบว่า ราคาน้ำมันดิบทรงตัวจากความกังวลของการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ที่มีการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วกว่าสายพันธุ์อื่น จนทำให้หลายประเทศในยุโรปประกาศใช้มาตรการจำกัดการเดินทาง เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด อย่างไรก็ตาม ราคาก๊าซธรรมชาติที่อยู่ในระดับสูงเนื่องจากปริมาณความต้องการใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้า ทดแทนก๊าซธรรมชาติ ขณะที่อุปทานน้ำมันมีแนวโน้มลดลง หลังปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของกลุ่มโอเปกพลัสเพิ่มขึ้นน้อยกว่าข้อตกลง ประกอบกับปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่อยู่ในระดับต่ำ
สำหรับปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้ ประกอบด้วย
- การแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในหลายประเทศ และอาจส่งผลกระทบต่อปริมาณความต้องการใช้น้ำมัน หลังหลายประเทศ อาทิเช่น เยอรมนี ไอร์แลนด์ เนเธอร์แลนด์ และเกาหลีใต้ เริ่มบังคับใช้มาตรการล็อคดาวน์ เพื่อจำกัดการเดินทางและควบคุมการแพร่ระบาดอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบได้รับแรงสนับสนุนหลังสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐฯ (FDA) อนุญาตการใช้ Paxlovid ซึ่งเป็นยาเม็ดต้านไวรัสโควิด-19 ของ Pfizer ในการรักษาโควิด-19 สำหรับผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป โดยผลการทดลองพบว่ายาเม็ดดังกล่าวมีประสิทธิภาพกว่า 90% ในการป้องกันการเสียชีวิตและป้องกันไม่ให้เกิดอาการรุนแรงจนต้องเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาล
- ปริมาณความต้องการใช้น้ำมันมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงฤดูหนาว หลังราคาก๊าซธรรมชาติยังทรงตัวในระดับสูง ทำให้หลายประเทศในยุโรปหันมาใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิงเพื่อผลิตไฟฟ้าแทนการใช้ก๊าซธรรมชาติเพิ่มมากขึ้น โดยนักวิเคราะห์คาดว่าราคาก๊าซธรรมชาติจะทรงตัวในระดับสูงต่อเนื่องอีกหลายเดือนเนื่องจากปริมาณความต้องการใช้น้ำมัน
- กำลังการผลิตโรงกลั่นน้ำมันจีนในเดือน พ.ย. 64 เพิ่มสูงขึ้นอยู่ที่ระดับ 14.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน นับเป็นระดับสูงสุดในรอบ 5 เดือน โดยเพิ่มขึ้นมาจากโรงกลั่น Rongsheng Phase 2 ขนาด 400 ล้านบาร์เรลต่อวัน ที่เริ่มดำเนินการผลิต หลังได้รับโควต้านำเข้าน้ำมันดิบเพิ่มเติม และปริมาณความต้องการใช้น้ำมันเริ่มฟื้นตัว โดยนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่ากำลังการผลิตโรงกลั่นจีนเฉลี่ยใน ปี 64 จะอยู่ที่ระดับ 14.1 ล้านบาร์เรลต่อ เพิ่มขึ้นเล็กน้อยราว 660,000 บาร์เรลต่อวัน เมื่อเทียบกับปี 63 และคาดว่ากำลังการผลิตโรงกลั่นจะทรงตัวระดับสูงต่อเนื่องจนถึงไตรมาส 1 ปี 65
- อุปทานน้ำมันดิบมีแนวโน้มตึงตัวต่อเนื่อง หลังกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันดิบและพันธมิตร หรือกลุ่มโอเปกพลัส ปรับเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันดิบน้อยกว่าข้อตกลง เนื่องจากหลายประเทศไม่สามารถผลิตได้ตามเป้าหมาย เพราะการลงทุนด้านการขุดเจาะที่มีอยู่จำกัด และการซ่อมบำรุงแท่นขุดเจาะที่ยังไม่แล้วเสร็จ ล่าสุดความร่วมมือการปรับลดกำลังการผลิต (Compliance rate) ของกลุ่มโอเปกพลัสในเดือน พ.ย. 64 ปรับเพิ่มขึ้น 1% จากเดือนก่อนหน้า สู่ระดับ 117%
- ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากปริมาณความต้องการใช้น้ำมันที่เพิ่มขึ้นในช่วงฤดูหนาว และมาตรการลดภาระด้านภาษีในช่วงปลายปี หลังสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ณ สัปดาห์สิ้นสุด 17 ธ.ค. 64 ปรับลดลง 4.7 ล้านบาร์เรล สู่ระดับ 423.6 ล้านบาร์เรล มากกว่าที่คาดว่าจะลดลงเพียง 2.7 ล้านบาร์เรล
- Baker Hughes รายงานจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบและก๊าฐธรรมชาติสหรัฐฯ ณ สัปดาห์สิ้นสุด 17 ธ.ค. 64 ปรับเพิ่มขึ้น 3 แท่น แตะระดับ 579 แท่น ซึ่งนับเป็นระดับสูงสุดตั้งแต่เดือน เม.ย. 63
- เกาหลีใต้ มีแผนที่จะปล่อยน้ำมันจากคลังสำรองน้ำมันเชิงยุทธศาสตร์จำนวน 3.17 ล้านบาร์เรล ภายในไตรมาส 1 ปี 65 ประกอบด้วยน้ำมันดิบราว 2.08 ล้านบาร์เรล จะเป็นการขายให้กับโรงกลั่นภายในประเทศ และน้ำมันสำเร็จรูปราว 1.09 ล้านบาร์เรลจะเป็นขายผ่านการประมูล เพื่อลดความร้อนแรงของราคาน้ำมัน และตอบสนองกับปริมาณความต้องการใช้น้ำมันที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในช่วงฤดูหนาว โดยปริมาณน้ำมันดังกล่าว คิดเป็นเพียง 3% ของปริมาณคลังสำรองน้ำมันเชิงยุทธศาสตร์ราว 97 ล้านบาร์เรล
- เศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตจีน เดือน ธ.ค. 64 ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมญี่ปุ่น เดือน พ.ย. 64
ทั้งนี้ ไทยออยล์ คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 71-76 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 74-79 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ส่วนสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา ระหว่างวันที่ 20 – 24 ธ.ค. 64 พบว่า ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาเพิ่มขึ้น 2.93 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 73.79 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เช่นเดียวกันกับราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับเพิ่มขึ้น 2.62 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 76.14 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบ ปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 74.50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เนื่องจากความกังวลต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ที่ทำให้หลายประเทศเริ่มประกาศใช้มาตรการล็อคดาวน์และจำกัดการเดินทาง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อปริมาณความต้องการใช้น้ำมัน อย่างไรก็ตาม ราคาก๊าซธรรมชาติที่อยู่ในระดับสูง เป็นปัจจัยหนุนให้โรงไฟฟ้าเปลี่ยนมาใช้เชื้อเพลิงจากน้ำมันแทนที่ก๊าซธรรมชาติ