“คมนาคม” จุดพลุเดินเรือสัตหีบ-สงขลา รองรับLand Bridge เชื่อมอ่าวไทย-อันดามัน

ผู้ชมทั้งหมด 944 

กระทรวงคมนาคมเร่งพัฒนาโครงข่ายคมนาคมขนส่งทั่วประเทศอย่างบูรณาการ ทั้งทางบก ราง น้ำ และอากาศให้มีความเชื่อมโยง เพื่อผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านการคมนาคมขนส่งของภูมิภาคอาเซียน ซึ่งการเปิดเดินเรือขนส่งสินค้า และบริการท่องเที่ยวเชื่อมโยงระหว่างภาคตะวันออก และภาคใต้บนเส้นทางเดินเรืออ่าวไทย เชื่อมโยงจากท่าเรือพาณิชย์สัตหีบ (จุกเสม็ด) – ท่าเรือสวัสดิ์ จ.สงขลา การเร่งศึกษาการจัดตั้งสายการเดินเรือแห่งชาติ และแผนพัฒนา โครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย – อันดามัน (Land Bridge ชุมพร – ระนอง) ถือว่าเป็นหัวใจสำคัญที่จะช่วยยกระดับไทยเป็นศูนย์กลางขนส่งของภูมิภาคอาเซียน

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า กระทรวงคมนาคมได้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและบริการด้านคมนาคมในเชิงรุก มุ่งเน้นการบูรณาการระหว่างรูปแบบการขนส่ง กำกับดูแลการพัฒนาระบบคมนาคมให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ เพื่อให้สามารถรองรับการขนส่งและการเดินทางต่อเนื่องหลายรูปแบบ แก้ไขปัญหาการจราจรติดขัด ลดต้นทุน โลจิสติกส์ด้านการขนส่งสินค้าของประเทศ

โดยปรับเปลี่ยนรูปแบบการขนส่ง (shift mode) จากถนนสู่เรือให้มากขึ้น ซึ่งได้มอบให้ กรมเจ้าท่า (จท.) และ การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เร่งพัฒนาโครงการสำคัญ เพื่อสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลและดำเนินการตามแผนพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ในการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออกให้เป็นประตูการค้า เชื่อมโยงพื้นที่เขตเศรษฐกิจภาคตะวันออกและตะวันตกให้เชื่อมต่อและขนส่งสินค้าไปยังกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าจากภาคตะวันออกสู่ภาคใต้

อย่างไรก็ตามเพื่อผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านการคมนาคมขนส่งของภูมิภาคอาเซียน กระทรวงคมนาคมจึงได้ศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งสายการเดินเรือแห่งชาติ ซึ่งผลการศึกษาเบื้องต้น นายศักดิ์สยาม ระบุว่า ควรจัดตั้งสายการเดินเรือแห่งชาติ 2 เส้นทาง ประกอบด้วย เส้นทางที่ 1 การเดินเรือภายในประเทศ (Domestic Marine Line) เชื่อมโยงการเดินทางอ่าวไทย ซึ่งเป็นการร่วมมือกับภาคเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยกระทรวงคมนาคมจะสนับสนุนเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐาน และท่าเทียบเรือ เพื่อรองรับการดำเนินการดังกล่าว รวมทั้งการพิจารณาอนุญาตเกี่ยวกับสายการเดินเรือ

สำหรับการเดินเรือภายในประเทศนั้นล่าสุดได้เปิดให้บริการเดินเรือเชื่อมโยงภาคตะวันออก และภาคใต้ระหว่างท่าเรือพาณิชย์สัตหีบ (จุกเสม็ด) – ท่าเรือสวัสดิ์ จ.สงขลา ซึ่งดำเนินการโดยบริษัท ซีฮอร์ส เฟอร์รี่ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ บริษัท นามยง เทอร์มินัล จำกัด (มหาชน) หรือ NYT ที่นำเอาเรือ Ro-Ro Ferry “The Blue Dolphin” มาให้บริการ โดยได้เริ่มให้บริการเดินเรือเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา และให้บริการเดินเรือแล้ว 8 เที่ยวเรือ ซึ่งในระยะแรกมีผู้โดยสารมาใช้บริการเฉลี่ย 50-60 คนต่อเที่ยว รถบรรทุกมาใช้บริการเฉลี่ย 10 คันต่อเที่ยว รถยนต์ส่วนบุคคล เฉลี่ย 20 คันต่อเที่ยว จากความสามารถในการรองรับผู้โดยสารราว 536 คน สามารถรองรับรถยนต์ส่วนบุคคลและรถบรรทุกได้ประมาณ 100 คัน และใช้ระยะเวลาเดินทางประมาณ 20 ชั่วโมง ให้บริการ 1 เที่ยว ไป – กลับต่อสัปดาห์ ในวันอังคาร – พุธ และจะขยายการให้บริการในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ เพื่อรองรับการท่องเที่ยว

ทั้งนี้การเปิดให้บริการเดินเรือดังกล่าว จะทำให้ประชาชนและผู้ใช้บริการที่ต้องการเดินทางหรือขนส่งสินค้าระหว่าง ภาคตะวันออก – ภาคใต้ มีทางเลือกในการเดินทาง การขนส่งสินค้าและการท่องเที่ยวมากยิ่งขึ้น รวมทั้งช่วยลดปัญหาการจราจรทางบก โดยช่วยลดปริมาณรถในการขนส่งสินค้าได้ประมาณ 90,000 คันต่อปี และยังลดความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุทางถนน ลดต้นทุนการบำรุงรักษาถนน เสริมศักยภาพสายการเดินเรือภายในประเทศ และสนับสนุนการพัฒนาระบบขนส่งเชื่อมโยงพื้นที่ EEC

ส่วนเส้นทางที่ 2 การเดินเรือในระดับ International แบ่งเป็น สายการเดินเรือฝั่งตะวันออก (East) ตั้งแต่กัมพูชา เวียดนาม เกาหลีใต้ จีน ญี่ปุ่น และฝั่งตะวันตก (West) ได้แก่ แอฟริกา และยุโรป หรือกลุ่ม BIMSTEC สำหรับการเดินเรือระหว่างประเทศนั้นคาดว่าจะศึกษาแล้วเสร็จในไตรมาสที่ 2/2565 อย่างไรก็ตามแผนการจัดตั้งสายการเดินเรือแห่งชาติ โดยการเปิดให้บริการเดินเรือระหว่างประเทศ และการบริการเดินเรือ ภายในประเทศจะต้องพิจารณาถึงการเชื่อมโยงกับโครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย – อันดามัน (Land Bridge ชุมพร – ระนอง) ด้วย เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการขนส่ง

สำหรับโครงการ Land Bridge นั้นจะพัฒนาให้เป็นเส้นทางหลักในการขนส่งสินค้าเชื่อมโยงมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิก ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการศึกษา ซึ่งล่าสุดบริษัทที่ปรึกษาได้เข้ามารายงานความคืบหน้า​แล้ว​ ซึ่งเส้นทางยังเป็นตามแนวการศึกษาแผนพัฒนาโครงข่าย MR-MAP​ ชุมพร-ระนอง​ โดยมีแนวทาง 2 แบบ คือ ระยะทาง 72 กิโลเมตร และระยะทาง 93 กิโลเมตร ซึ่งทั้งหมดมีทั้งข้อดีและข้อด้อย​ในการดำเนินการก่อสร้างที่กระทบสิ่งแวดล้อม​ แต่จะพิจารณาเรื่องเส้นทางที่ประหยัดเวลา​ สะดวก​ และมีความปลอดภัย​

ส่วนรูปแบบการลงทุนนั้น นายศักดิ์สยาม ระบุว่า ภาครัฐบาลจะไม่เป็นผู้ลงทุนเอง แต่จะเปิดให้เอกชนที่สนใจเข้ามาลงทุนร่วมกับภาครัฐ ในรูปแบบการร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (Public Private Partnership หรือ PPP) ​โดยคาดจะศึกษาแล้วเสร็จในไตรมาส 2/2565 ทั้งนี้เมื่อผลการศึกษาแล้วเสร็จ​ก็จะดำเนินการจัดทำ Road show ในงานแสดงสายการเดินเรือระดับโลก ซึ่งในเบื้องต้นจากที่ได้พบปะกับเอกอัครราชทูตในหลายประเทศก็ได้แสดงความสนใจในการร่วมลงทุน ไม่ว่าจะเป็น ญี่ปุ่น ตุรกี ฝรั่งเศส และอังกฤษ