ผู้ชมทั้งหมด 877
กทพ. เร่งเครื่องโครงการลงทุนก่อสร้างทางด่วนสายฉลองรัช-นครนายก-สระบุรี หลังส่อแววล่าช้า 1 ปี ทยอยตอกเสาเข็มก่อนเฟสแรก ช่วงจตุโชติ-ถนนวงแหวนรอบ 3 เตรียมออกพันธบัตรระดมทุน 1.7 หมื่นล้าน หลังเงินกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานหมด
นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยถึงความคืบหน้า โครงการทางพิเศษ สายฉลองรัช-นครนายก-สระบุรี ระยะทาง 104.7 กม. วงเงินลงทุนราว 8 หมื่นล้านบาท ว่า เป็นโครงการที่ก่อสร้างขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาจราจรติดขัดในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปทุมธานี นครนายก และสระบุรี รวมทั้งเป็นการเพิ่มโครงข่ายทางด่วน เพื่อให้ผู้ใช้รถที่มาจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และสระบุรี สามารถเดินทาง เข้าและออกกรุงเทพมหานคร ได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น
ทั้งนี้กทพ.จะดำเนินการก่อสร้างระยะแรกก่อน คือ ช่วงจตุโชติ-ถนนวงแหวนรอบ 3 โดยในเบื้องต้นจะต้องมีการปรับแบบก่อสร้างใหม่ ในช่วง 2 กิโลเมตรสุดท้ายที่จะไปเชื่อมกับถนนวงแหวนรอบที่ 3 (MR10) ของกรมทางหลวง (ทล.) เพื่อให้สอดคล้องกับแผนการพัฒนาโครงข่ายทางพิเศษระหว่างเมืองและระบบราง (MR–Map) ตามนโยบายของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม
การปรับแบบก่อสร้างใหม่ช่วง 2 กิโลเมตรสุดท้ายนั้นกทพ.จะต้องดำเนินการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เฉพาะช่วงที่ปรับแบบใหม่เท่านั้น เนื่องจากช่วงเดือนมีนาคม 2564 คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.)ได้ให้ความเห็นชอบ EIA ภาพรวมทั้งโครงการไปแล้ว อย่างไรก็ตามการปรับแบบก่อสร้างใหม่จะทำให้ระยะทางก่อสร้างของระยะแรก ช่วงจตุโชติ-ถนนวงแหวนรอบ 3 ลดลงเหลือ 17 กิโลเมตร จาก 19 กิโลเมตร ส่งผลกรอบวงเงินลงทุนรวมปรับลดลงเหลือประมาณ 1.9 หมื่นล้านบาท จากเดิม 2 หมื่นล้านบาท
สำหรับกรอบวงเงินลงทุน 1.9 หมื่นล้านบาทนั้นจะแบ่งวงเงินออกเป็น 2 ส่วน คือ ค่าก่อสร้าง 1.74 หมื่นล้านบาท ซึ่งกทพ.จะลงทุนเองทั้งหมด และค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 1.6 พันล้านบาท ในส่วนนี้จะต้องขอสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาล ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างหารือกับกระทรวงการคลังถึงแหล่งเงินทุน และกรอบวินัยการเงินการคลังเกี่ยวกับสถานะหนี้สาธารณะของไทย
อย่างไรก็ตามในส่วนของกรอบวงเงินลงทุน 1.74 หมื่นล้านบาทที่กทพ. จะต้องลงทุนเองนั้นในขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาการออกพันธบัตรระดมทุน เนื่องจากมีต้นทุนทางการเงินที่ต่ำที่สุดในขณะนี้ คือมีอัตราดอกเบี้ยที่เพียง 2-3% เท่านั้น ประกอบกับเงินทุนที่ กทพ.ระดมทุนผ่านกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย ไทยแลนด์ ฟิวเจอร์ ฟันด์ (TFFIF) ได้นำมาใช้จ่ายดำเนินโครงการอื่นๆ หมดแล้ว
ส่วนระยะเวลาการดำเนินโครงการในเบื้องต้นนั้นคาดว่า การออกแบบก่อสร้างจะแล้วเสร็จ ช่วงเดือนเมษายน 2565 โดยระหว่างนี้ต้องเร่งทำ EIA ช่วง 2 กม. คาดว่าจะใช้เวลาอีก 6 เดือน โดยกทพ.ตั้งเป้าจะเสนอโครงการให้คณะรัฐมนตรีอนุมัติ (ครม.) ในช่วงเดือนพฤษภาคม 2565 ซึ่งการปรับแบบก่อสร้างใหม่นั้นส่งผลให้โครงการเกิดความล่าช้า จากดำเนินจะต้องเสนอให้ครม. พิจารณาภายในปีนี้
ทั้งนี้ภายหลังจาก ครม.อนุมัติแล้วขั้นตอนต่อไปจะเข้าสู่ขบวนการเสนอร่าง พ.ร.ฎ. เพื่อจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินในช่วงเดือนกรกฎาคม 2565 – ธันวาคม 2565 โดยคาดว่าจะสามารถดำเนินการจัดประกวดราคาได้ในเดือนเมษายน 2566 และคาดว่าจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ในเดือนมกราคม 2567 ใช้ระยะเวลาดำเนินการก่อสร้างราว 2 ปี พร้อมเปิดให้บริการในปี 2559 ช้ากว่าแผนเดิมที่ตั้งเป้าจะเปิดบริการในปี 2568