ผู้ชมทั้งหมด 2,000
สถานีรถไฟกรุงเทพ หรือที่คุยเคยกันในนาม “สถานีรถไฟหัวลำโพง” นั้นมีอายุกว่า 105 ปี กำลังจะถูลดบทบาทลงจากที่เป็นจุดศูนย์กลางการเดินระบบรางมายาวนาน เนื่องจากกระทรวงคมนาคม โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้เปิดใช้สถานีกลางบางซื่ออย่างเป็นทางการแล้ว ซึ่งสถานีกลางบางซื่อได้ออกแบบไว้รองรับการเป็นศูนย์กลางระบบราง ไม่ว่าจะเป็น รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา), รถไฟความเร็วสูงไทย-จีน, รถไฟชานเมืองสายสีแดง, รถไฟทางคู่, รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิ้งค์ และรถไฟฟ้าใต้ดิน MPT หรือรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ขณะเดียวกันสถานีกลางบางซื่อยังเป็นสถานีที่สามารถเชื่อมต่อกับระบบขนส่งสาธารณะอื่นๆ อีกด้วย
14 ธ.ค. นี้ เปิดเวทีฟังความคิดเห็น
โดยนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ระบุว่า สถานีกลางบางซื่อ เมื่อเปิดให้บริการก็ต้องมีการพัฒนา และใช้งานให้คุ้มประโยชน์กับงบประมาณที่ได้ลงทุนไปกว่า 30,000 ล้านบาท ซึ่งจะต้องพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางการขนส่งระบบรางของภูมิภาคอาเซียน (ฮับระบบราง) ดังนั้นสถานีรถไฟหัวลำโพงก็จะถูกลดบทบาทลง โดยจากแผนเดิมนั้น รฟท.จะทยอยปรับการเดินรถไฟทางไกลเข้าไปยังสถานีหัวลำโพง เริ่มตั้งแต่วันที่ 23 ธันวาคม 2564 จาก 118 ขบวนลดเหลือ 22 ขบวน
อย่างไรก็ตามการจะลดจำนวนหรือหยุดเดินรถไฟเข้าสถานีรถไฟหัวลำโพง รวมทั้งการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์นั้นในวันที่ 14 ธันวาคมนี้ รฟท. จะจัดเวทีสาธารณะเพื่อรับฟังความคิดเห็นในเรื่องสถานีหัวลำโพง ซึ่งจะเชิญผู้ที่ได้มีการแสดงความคิดเห็นทางโซเชียล เช่น นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ นางสาวรสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เป็นต้น พร้อมกันนี้จะมีการรับฟังความเห็นของประชาชนและผู้ที่ต้องการแสดงความเห็นผ่านทางเฟซบุ๊กอีกด้วย
พัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ฟื้นฟูกิจการรฟท.
การพัฒนาพื้นที่รอบสถานีรถไฟหัวลำโพงตามแผนฟื้นฟูกิจการของ รฟท. โดยรฟท.ได้จัดตั้ง บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ รฟท. มาเป็นผู้พัฒนาพื้นทีเชิงพาณิชย์ ซึ่งแหล่งข่าวจากรฟท. ระบุว่า พื้นที่บริเวณสถานีหัวลำโพงราว 120 ไร่นั้นมีมูลค่าที่ดินราว 1.44 หมื่นล้านบาท หลังจากย้ายการเดินรถไฟไปที่สถานีกลางบางซื่อทั้งหมดแล้วก็จะเริ่มพัฒนาพื้นที่บริเวณสถานีหัวลำโพง ซึ่งตามแผนเดิมนั้นแบ่งการพัฒนาออกเป็น 5 โซน ประกอบด้วย 1.โซน A จำนวน 16 ไร่ บริเวณอาคารสถานีหัวลำโพงและพื้นที่สาธารณะจัดทำเป็นพื้นที่สาธารณประโยชน์และพัฒนาทัศนียภาพ
2.โซน B จำนวน 13 ไร่ ปรับปรุงอาคารให้เป็นไปตามแนวทางอนุรักษ์ 3.โซน C จำนวน 22 ไร่ ปัจจุบันเป็นพื้นที่โรงซ่อมรถรางและรถโดยสาร พัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ในรูปแบบปิดและเปิด เช่น ร้านค้า ร้านอาหาร พื้นที่กิจกรรม และจะปรับปรุงเป็น Water front Promenade เลียบครองผดุงกรุงเกษม ดูต้นแบบจากเวนิส ประเทศอิตาลี
4.โซน D จำนวน 49 ไร่ ปัจจุบันเป็นพื้นที่ชานชาลา ทางรถไฟ และย่านสับเปลี่ยน ซึ่งเป็นศูนย์กลางการเชื่อมต่อทั้งระบบการสัญจรและพื้นที่ฝั่งเมือง มีแผนพัฒนาได้ในหลายรูปแบบ โดยพัฒนาเป็นโครงการผสมผสาน (มิกซ์ยูส) ลักษณะ Lifestyle mixed-use รองรับธุรกิจโรงแรม อาคารสำนักงาน รวมทั้งที่อยู่อาศัยแบบคอนโดมิเนียม ห้างสรรพสินค้าและพื้นที่จัดแสดง โดยยึดต้นแบบโตเกียว มิดทาวน์ (Tokyo Midtown) ประเทศญี่ปุ่น
5.โซน E จำนวน 20 ไร่ บริเวณอาคารสำนักงาน รฟท. ตึกคลังพัสดุเดิม เป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์รูปแบบ Urban mixed-use อาทิ โรงแรม อาคารสำนักงาน ศูนย์กิจกรรม รวมถึงพื้นที่ให้ร่มรื่นผสมผสานความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและเชื่อมต่อรูปแบบสิ่งปลูกสร้างเชิงอนุรักษ์โครงสร้างอาคารเดิม ซึ่งมีระยะห่างกันไม่เกิน 500 เมตร ตลอดแนวคลองและได้ศึกษาชุมชนริมน้ำ โดยยึดต้นแบบโครงการ Suzhou Creek เมืองเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน
อย่างไรก็ตามการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์บริเวณสถานีหัวลำโพงนั้นการพัฒนาเชิงพาณิชย์ยังคงความเป็นอัตลักษณ์เดิมให้สอดคล้องกับความสมัยใหม่ และปรับเข้ากับรูปแบบการดำเนินชีวิตในปัจจุบัน ดังนั้น จะยังคงอนุรักษ์อาคารหัวลำโพงและจุดสำคัญทางประวัติศาสตร์ในบริเวณนี้อย่างครบถ้วน
สหภาพฯ ขอยุติแผนหยุดเดินรถไฟเข้าหัวลำโพง
ด้านนายสราวุธ สราญวงศ์ รักษาการประธาน สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.) กล่าวว่า อยากขอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ยุตินโยบายการหยุดให้บริการรถไฟเข้าสถานีรถไฟหัวลำโพง เนื่องจากจะส่งผลกระทบต่อประชาชนจำนวนมาก และเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายในการใช้บริการสาธารณะประเภทอื่น
โดยในเบื้องต้นทาง สร.รฟท. ได้มีข้อเสนอให้คงการบริการรถไฟชานเมืองทุกสายเช่นเดิม เพื่อรับ – ส่งผู้โดยสารที่สถานีหัวลำโพง และให้มีรถบริการเชิงสังคม (PSO) ทางไกล อย่างน้อยเส้นทางละ 1 ขบวน มีต้นทาง – ปลายทางที่สถานีหัวลำโพง เพื่อเป็นบริการขนส่งสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของรัฐ ที่รองรับประชาชนจำนวนมากจากทั่วทุกส่วนภูมิภาคเข้ามาสู่กรุงเทพมหานคร ส่วนการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ทาง สร.รฟท. มองว่าอาจขัดกับวัตถุประสงค์ตามพระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ.2494