PRISM คาดปี 65 ราคาดูไบ อยู่ที่ 67 – 75 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลสูงขึ้นจากปี 64

ผู้ชมทั้งหมด 1,393 

นักวิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมันกลุ่ม ปตท. (PRISM) คาดการณ์ ราคาน้ำมันดิบดูไบ ปี65 อยู่ที่ระดับ  67 – 75 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ปรับตัวสูงขึ้นจากปี 2564 รับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และกิจกรรมการเดินทางที่จะกลับมา ภายใต้สมมติฐานโควิด-19 คลี่คลายต่อเนื่อง          

วันนี้ (25 พ.ย. 2564) ทีมนักวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมัน กลุ่ม ปตท. (PRISM Expert) ร่วมกับ กลุ่มอุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จัดงานสัมมนา 2021 The Annual Petroleum Outlook Forum Global Climate Action for A Better World ประสานพลัง สร้างโลกที่ดีกว่า จัดขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 10 เพื่อนำเสนอทิศทางและแนวโน้มราคาน้ำมันในตลาดโลก รวมถึงความท้าทายของอุตสาหกรรมพลังงาน กระแสของพลังงานในอนาคต  และประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมที่ประชาคมโลกต่างจับตามอง

โดย นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เป็นประธานเปิดงานสัมมนาฯ โดยระบุว่า ปี 2021 ถือเป็นปีที่อุตสาหกรรมพลังงานยังคงต้องเผชิญกับความท้าทาย จากผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโควิด-19  ความต้องการการใช้น้ำมันที่เริ่มเห็นสัญญาณฟื้นตัว แต่ก็ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของการควบคุมการระบาดของโควิด-19  รวมถึงนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมที่ทั่วโลกร่วมตั้งเป้าหมายการเป็นกลางทางคาร์บอนและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ที่อาจส่งผลต่อรูปแบบการใช้พลังงานทั่วโลก และความต้องการการใช้น้ำมันที่ไม่แน่นอนนี้ ทำให้ผู้ผลิตฯ บางส่วนยังคงชะลอการผลิตและการลงทุน ส่งผลให้อุปทานไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้พลังงานที่เพิ่มขึ้น  นอกจากนี้ ด้วยสภาพอากาศร้อนจัดและหนาวจัดที่เกิดในหลายประเทศ เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ก่อให้เกิดความผันผวนของราคาพลังงาน ทั้งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในช่วงที่ผ่านมา

ขณะที่ การประชุม COP26 ของสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ผ่านมา ปรากฏให้เห็นถึงเจตนารมณ์ที่ชัดเจนของนานาชาติในการร่วมกันกำหนดทิศทางประเทศ เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายให้การเพิ่มอุณหภูมิของโลกไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียสในปี ค.ศ. 2050  กลุ่ม ปตท. พร้อมเป็นส่วนสนับสนุนนโยบายด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมของภาครัฐ  พร้อมจัดหาพลังงานทางเลือกที่หลากหลาย  เพื่อรักษาสมดุลและความมั่นคงทางด้านพลังงาน   ให้ไทยบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนภายใน ค.ศ. 2050  และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายใน ค.ศ. 2065  ภายใต้วิสัยทัศน์ “Powering Life with Future Energy and Beyond” ขับเคลื่อนทุกชีวิตด้วยพลังแห่งอนาคต”

นายบัณฑิต ธรรมประจำจิต ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม เปิดเผยว่า   “2021 The Annual Petroleum Outlook Forum”  ในปีนี้เป็นการครบรอบ 10 ปี ของ The Annual Petroleum Outlook Forum ที่เกิดจากความร่วมมือของ กลุ่มอุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียมในประเทศไทย กับ บริษัทกลุ่ม ปตท. เพื่อนำเสนอทิศทางราคาน้ำมันและแนวโน้มพลังงานของโลกอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2564 นี้ โลกเรายังได้รับผลกระทบจาก โควิด-19 อย่างต่อเนื่อง แต่ละประเทศต่างก็มีการรับมือและรูปแบบฟื้นตัวที่แตกต่างออกไป  ความต้องการปริมาณพลังงานที่เริ่มกลับมาตามเศรษฐกิจโลกที่เริ่มกลับมาฟื้นตัว 

และมีปัจจัยที่ท้าทาย ที่ส่งผลต่อราคาและทิศทางของอุตสาหกรรมพลังงาน คือ ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม ที่ทุกประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะมหาอำนาจ เช่น สหรัฐอเมริกาสหภาพยุโรป หรือ จีน หันมาตั้งเป้าหมายและกำหนดนโยบาย ที่ช่วยแก้ปัญหา Climate Change  ซึ่ง Theme ของการสัมมนาในปีนี้ “Global Climate Action for A Better World … ประสานพลัง สร้างโลกที่ดีกว่า”  ก็เป็นเหมือนเครื่องย้ำเตือนว่าเรื่องของสิ่งแวดล้อมได้กลายเป็นความ  ท้าทายครั้งใหม่ รวมถึงเป็นสิ่งที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันเพื่อให้สามารถใช้ชีวิตประจำวัน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และรักษาสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกันได้”

การจัดงาน The Annual Petroleum Outlook Forum  ดำเนินการต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2555  โดยทีมนักวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมัน หรือ “PRISM Expert” จากบริษัทในกลุ่ม ปตท. นำเสนอข้อมูลการวิเคราะห์สถานการณ์พลังงานอย่างเป็นประจำผ่านช่องทาง https://prism.pttgrp.com  และ Facebook PRISM

นางสาวดาวรุ่ง ติรวงศ์กุศล บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด(มหาชน) กล่าวในหัวข้อ Sunrise Above the Clouds: Oil Demand ว่า ความต้องการใช้น้ำมันของโลกในปี 2565 จะเพิ่มขึ้น 3 ล้านบาร์เรลต่อวัน ภายใต้คาดการณ์ GDP โลก ขยายตัว 4.9% บนพื้นฐานการฉีดวัคซีนโควิดที่มีอย่างต่อเนื่อง การเดินทางระหว่างประเทศที่กลับมาเพิ่มขึ้น เป็นต้น

นางสาวชณัฐฐา ฤกษ์ชัยรัศมี บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด(มหาชน) กล่าวในห้องข้อ Challenges Facing Oil Titans: Oil Supply โดยคาดการณ์ว่า ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยปี 2565 อยู่ที่ 67 – 75 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ปรับตัวสูงขึ้นจากปี 2564 เนื่องจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในหลายประเทศทั่วโลก ทำให้ความต้องการใช้น้ำมันปรับตัวสูงขึ้น แต่ยังคงมีความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่อาจเกิดการกลายพันธุ์และกลับมาระบาดอีกครั้ง รวมถึงอุปทานในตลาดที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง