ผู้ชมทั้งหมด 8,927
8 บมจ. รายใหญ่ PTT GULF BEM BCP BTS CP RATCH DMT ซื้อซองที่พักริมทาง มอเตอร์เวย์ สาย 7 ทล.พร้อมกำหนดยื่นข้อเสนอ 22 พ.ย. นี้
นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง เปิดเผยว่า ตามที่กรมทางหลวงได้ออกประกาศเชิญชวนโครงการร่วมลงทุนสำหรับการให้เอกชนร่วมลงทุนในการพัฒนาและบริหารจัดการที่พักริมทาง (Rest Area) บนทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 สายกรุงเทพมหานคร – บ้านฉาง จำนวน 2 โครงการ ประกอบด้วยโครงการศูนย์บริการทางหลวงศรีราชา และโครงการสถานที่บริการทางหลวงบางละมุง และได้จำหน่ายเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน(Request for Proposal: RFP) ของทั้ง 2 โครงการพร้อมกัน ตั้งแต่วันที่ 23 สิงหาคม ถึง 22 กันยายน 2566 ที่ผ่านมานั้น ผลปรากฎว่ามีเอกชนจำนวนมากให้ความสนใจซื้อเอกสารฯ ดังกล่าว เพื่อนำไปศึกษารายละเอียดสำหรับการเตรียมจัดทำข้อเสนอ การร่วมลงทุน สรุปได้ดังนี้
โครงการศูนย์บริการทางหลวงศรีราชา มีผู้สนใจซื้อเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน จำนวน 8 ราย ประกอบด้วย
1.บริษัท ปตท. บริหารธุรกิจค้าปลีก จำกัด 2.บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด มหาชน 3.บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) 4.บริษัท กัลฟ์ อินฟราสตรัค เจอร์ จำกัด 5.บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) 6.บริษัท เจริญโภคภัณฑ์วิศวกรรม จำกัด 7.บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) 8.บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน)
โครงการสถานที่บริการทางหลวงบางละมุง มีผู้สนใจซื้อเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน จำนวน 5 ราย ประกอบด้วย
1. บริษัท ปตท. บริหารธุรกิจค้าปลีก จำกัด 2. บริษัท กัลฟ์ อินฟราสตรัคเจอร์ จำกัด 3.บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) 4. บริษัท เจริญโภคภัณฑ์วิศวกรรม จำกัด 5. บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน)
ขั้นตอนต่อไป กรมทางหลวงได้กำหนดให้มีการจัดประชุมชี้แจงโครงการ (Pre-Bidding Meeting) ในวันที่ 27 กันยายน 2566 เพื่อชี้แจงรายละเอียดโครงการฯ ที่เอกชนควรทราบ พร้อมจัดกิจกรรมเยี่ยมชมโครงการ (Site Visit) ในวันที่ 4 ตุลาคม 2566 และกำหนดให้เอกชนยื่นข้อเสนอในวันที่ 22 พฤศจิกายน 2566 โดยคาดว่าจะดำเนินการคัดเลือกเอกชนแล้วเสร็จในต้นปี 2567 พร้อมลงนามสัญญาและเริ่มต้นก่อสร้างช่วงกลางปี 2567 เพื่อเปิดให้บริการสิ่งอำนวยความสะดวกและบริการบางส่วนในปี 2568 และเปิดให้บริการเต็มรูปแบบในปี 2569 ต่อไป
สำหรับการดำเนินงานโครงการฯ จะเป็นการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (Public Private Partnership: PPP) ในรูปแบบ PPP Net Cost โดยกรมทางหลวงจะส่งมอบพื้นที่โครงการฯ ให้เอกชนเป็นผู้ลงทุนก่อสร้างที่พักริมทางและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ รวมถึงมีหน้าที่บริหารจัดการและดูแลบำรุงรักษาโครงการฯ ตลอดจนเป็นผู้มีสิทธิ์ในการบริหารจัดการเชิงพาณิชย์และเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในรายได้ของโครงการฯ โดยต้องชำระค่าตอบแทนให้กรมทางหลวงตามเงื่อนไขที่กำหนด ภายในระยะเวลาดำเนินโครงการ 32 ปี แบ่งเป็นงาน 2 ระยะ ดังนี้
ระยะที่ 1 การออกแบบและก่อสร้าง เอกชนมีหน้าที่จัดหาแหล่งเงินทุน ออกแบบและก่อสร้างองค์ประกอบและสิ่งปลูกสร้างต่างๆ รวมถึงจัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกและบริการต่างๆ ให้เป็นไปตามเงื่อนไขและข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องระยะเวลาไม่เกิน 2 ปี ระยะที่ 2 การดำเนินงานและบำรุงรักษา เอกชนมีหน้าที่ดูแลและบำรุงรักษา รวมถึงการบริหารจัดการโครงการฯ ให้เป็นไปตามเงื่อนไขและข้อกำหนดที่เกี่ยวข้อง ระยะเวลาไม่เกิน 30 ปี