กฟผ. ชู “BackEN EV” ระบบบริหารจัดการสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า ดึงผู้สนใจลงทุนธุรกิจสถานีชาร์จรถ EV

ผู้ชมทั้งหมด 349 

ย้อนไปช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยเกิดการเปลี่ยนผ่านทางพลังงาน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมไฟฟ้า และกระทรวงพลังงาน ได้เน้นย้ำถึงการขับเคลื่อนนโยบายพลังงาน ภายใต้แนวทาง 4D1E ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะเข้ามามีบทบาทต่อการเปลี่ยนแปลงทางพลังงาน ไม่ว่าจะเป็น Decarbonization: การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคพลังงาน Digitalization: การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการบริหารจัดการระบบพลังงาน Decentralization: การกระจายศูนย์การผลิตพลังงานและโครงสร้างพื้นฐาน Deregulation: การปรับปรุงกฎระเบียบรองรับนโยบายพลังงานสมัยใหม่ และ Electrification: การเปลี่ยนรูปแบบการใช้พลังงานมาเป็นพลังงานไฟฟ้า

ปัจจัยเหล่านี้ ทำให้หลายประเทศรวมถึงประเทศไทย ได้กำหนดเป้าหมายมุ่งสู่การแก้ปัญหาโลกร้อน โดยแผนพลังงานชาติ กำหนดเป้าหมายมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050 และที่สำคัญเรื่องของการใช้ไฟฟ้าจะมีบทบาทมากขึ้นในการสนับสนุนเป้าหมายดังกล่าว ทำให้เรื่องของการส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านจากรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายใน(ICE) ไปสู่การใช้รถยนต์ไฟฟ้า(EV) จะมีบทบาทมากขึ้น โดยเฉพาะนโยบาย 30@30 จะทำให้มีสัดส่วนการใช้รถ EV มากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากรัฐบาลต้องการใช้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางยานยนต์ไฟฟ้า มีการออกมาตรการจูงใจให้เกิดการพัฒนาธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับรถEV เพิ่มขึ้นในอนาคต

การเปลี่ยนแปลงทางพลังงานดังกล่าว ทำให้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ในฐานะหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่อยู่คู่กับ คนไทยมามากกว่า 55 ปี ตั้งแต่ปี 2512 ในการดูแลความมั่นคงเชื่อถือได้ให้กับระบบไฟฟ้า เริ่มต้นจากกำลังผลิต 908 เมกะวัตต์(MW) จนปัจจุบันมีกำลังผลิต 16,261 MW มีระบบส่งไฟฟ้าที่ส่งจ่ายกระแสไฟฟ้าครอบคลุมทั่วประเทศมากถึง 39,000 วงจรกิโลเมตร และสถานีไฟฟ้าแรงสูง 237 แห่ง

ด้วยบทบาทพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานไฟฟ้าที่มีอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบัน กฟผ. ได้เพิ่มบทบาทใหม่ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านสถานีอัดประจุไฟฟ้า และการสร้างระบบนิเวศด้านยานยนต์ไฟฟ้า ให้แข็งแรง เพื่อทำให้คนไทยมั่นใจในการเปลี่ยนผ่านการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้า และต่างชาติมั่นใจในการเข้ามาลงทุนอุตสาหกรรมด้านยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ โดยตลอด 3 ปี ที่ผ่านมา กฟผ.มุ่งมั่นผ่านการพัฒนาสถานีอัดประจุไฟฟ้า EleX by EGAT การพัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์ม แอปพลิเคลั่น EleXA ที่สามารถเชื่อมโยงกับแอปพลิเคชั่นของผู้ให้บริการสถานีรายใหญ่ในประเทศเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้า การพัฒนาระบบบริหารจัดการสถานีอัดประจุไฟฟ้า BackEN EV ระบบปฏิบัติการที่จะช่วยผู้ประกอบการสามารถบริหารจัดการสถานีได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ เพื่อให้อุตสาหกรรมEV ของประเทศ เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และทำให้กลุ่มธุรกิจ ผู้ประกอบการ และนักลงทุน ได้มั่นใจในการขับเคลื่อนยานยนต์ไฟฟ้าและโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง กฟผ. จึงได้จัดงาน EGAT EV the Journey to Business Solutions งานสัมมนาสำหรับผู้สนใจธุรกิจสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า ขึ้นเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2567 พร้อมเปิดให้คำปรึกษา และให้บริการระบบบริหารจัดการสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า BackEN EV มีผู้ประกอบการให้ความสนใจเข้าร่วมงานกว่า 200 คน ณ อาคาร 50 ปี กฟผ. สำนักงานใหญ่ บางกรวย จ.นนทบุรี

นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ระบุว่า การจัดงานฯดังกล่าว ถือเป็นอีกหนึ่งบทบาทของ กฟผ. และกลุ่ม กฟผ. ในการนำเสนอ Solutions ด้านยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อสนับสนุนให้ภาคธุรกิจ ที่ต้องการเปลี่ยนผ่านการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้า และผู้ประกอบการที่ต้องการลงทุนพัฒนาสถานีอัดประจุไฟฟ้า ตลอดทั้งผู้ที่ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทานของยานยนต์ไฟฟ้า ได้รับประโยชน์สูงสุด

โดยการขับเคลื่อนธุรกิจEV ของกฟผ.ไม่ได้มุ่งเน้นที่การสร้างรายได้ แต่ต้องการดึงผู้สนใจทั้งผู้ประกอบการและผู้ใช้รถให้เข้าสู่อุตสาหกรรมEV เพื่อสนับสนุนนโยบายภาครัฐ พร้อมไปกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมนี้ให้กับประเทศ ซึ่งในปีนี้ กฟผ.จะมุ่งเน้นไปที่ผู้ประกอบการและองค์กรต่างๆเพื่อดึงให้เข้าสู่อุตสาหกรรมEV เพิ่มขึ้น เนื่องจากประเมินว่าในช่วง 2-3 ปีข้างหน้าความต้องการใช้รถEV จะเติบโตมากขึ้นตามนโยบายขับเคลื่อนของภาครัฐ

“วันนี้เราพร้อมแล้วที่จะอยู่เบื้องหลัง เพื่อผลักดันทุกๆ ธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืน เราพร้อมที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ การลงทุน การสร้างงาน ในประเทศผ่านการพัฒนาอุตสาหกรรมด้านยานยนต์ไฟฟ้า และเราพร้อมแล้วที่จะเป็น คู่คิด ให้กับทุกๆ คน”

นายพิชิต พงษ์ประเสริฐ หัวหน้าหน่วยงาน EGAT EV Business Solutions กล่าวว่า กฟผ.มีเป้าหมายที่จะติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้า EleX by EGAT ให้ครบ 364 แห่งภายในสิ้นปีนี้ จากปัจจุบัน ติดตั้งแล้ว 160 แห่ง ครอบคลุม 59 จังหวัด โดยจะเป็นการขยายสถานีอัดประจุไฟฟ้า EleX by EGAT ผ่านความร่วมมือกับบริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี่ จำกัด เพื่อรองรับการเติบโตของผู้ใช้ EV ในประเทศไทย จำนวนกว่า 200 แห่งภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งในจำนวนนี้ ประมาณ 80% จะเป็นระบบ Fast Charge หรือ ระบบชาร์จเร็ว และประมาณ 20% จะเป็นระบบ Normal Charge หรือ ระบบชาร์จแบบธรรมดา

ปัจจุบัน มีผู้สนใจเข้ามาร่วมลงทุนธุรกิจEV แบบครบวงจรกับ กฟผ.แล้วกว่า 70 ราย โดยส่วนใหญ่สัดส่วน 90% เป็นผู้ประกอบการโรงแรมและร้านอาหาร ที่ต้องการติดตั้งสถานีชาร์จ เพื่อดึงดูดลูกค้าเข้ามาใช้บริการหรือต่อยอดธุรกิจหลัก ขณะที่ราว 10% เป็นผู้ประกอบการ Fleet รถ และมหาวิทยาลัย เป็นต้น

ปีนี้ กฟผ.ตั้งเป้าหมายจะเพิ่มเครือข่ายผู้ประกอบการที่เข้าร่วมลงทุนธุรกิจEV แบบครบวงจร อีก 160 ราย ซึ่งปัจจุบันมีผู้สนใจเข้ามาพูคุยกับ กฟผ.วันละไม่ต่ำกว่า 20 ราย โดยหากเป็นการเริ่มต้นจากการติดตั้งสถานีชาร์จขนาดเล็ก เพียงใช้งบประมาณ ราว 2-3 แสนบาท ก็เริ่มลงทุนได้แล้ว”

อย่างไรก็ตาม กฟผ.มั่นใจว่า จากการที่พัฒนาการให้บริการระบบ BackEN EV ที่บริหารจัดการสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพ ที่เกิดขึ้นโดยคนไทย ภายใต้การดำเนินการของ กฟผ.จะเป็นจุดแข็งสำคัญที่ดึงดูดให้ผู้ประกอบการตัดสินใจเข้ามาลงทุนทำธุรกิจกับ กฟผ. เพราะจะช่วยให้ผู้ประกอบการมีสถานีชาร์จได้ง่ายขึ้น แถมยังสร้างรายได้เพิ่มเติมให้กับธุรกิจเดิม และในอนาคต กฟผ. ประเมินว่าความต้องการใช้รถไฟฟ้าในประเทศไทยจะเติบโตขึ้นอีกมาก จากอดีต 3 ปีก่อน มีผู้ใช้รถEV ประมาณ 1,000 คัน และปัจจุบัน มีการใช้กว่า 120,000 คันแล้ว

สำหรับ ไฮไลท์สำคัญของงานนี้ คือการเปิดรับให้คำปรึกษาพร้อมเจรจาธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการที่สนใจลงทุนธุรกิจสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า โดยผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจ EV กฟผ. ช่วยสร้างความมั่นใจให้ผู้ประกอบการในการเริ่มต้นในการลงทุนในธุรกิจ ตั้งแต่รูปแบบโมเดลการลงทุนติดตั้งสถานีชาร์จ ผลตอบแทนจากการลงทุน การเลือกตำแหน่งสถานีที่เหมาะสมกับสถานที่ พร้อมให้บริการระบบ BackEN EV ที่บริหารจัดการสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยให้ผู้ประกอบการมีสถานีชาร์จได้ง่ายขึ้น สร้างรายได้เพิ่มเติมให้กับธุรกิจเดิมของผู้ประกอบการ

อีกทั้ง ภายในงานมีการสัมมนาภายใต้หัวข้อที่น่าสนใจ อาทิ EleX by EGAT: ที่ 1 ในใจ คนใช้ EV โดยนายพิชิต พงษ์ประเสริฐ หัวหน้าหน่วยงาน EGAT EV Business Solutions ที่มาร่วมพูดคุยถึงประสบการณ์ในการดำเนินงานธุรกิจสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าและเป้าหมายในการขยายสถานีชาร์จ พร้อมรองรับ EV Fleet Solutions ผู้ช่วยจัดการธุรกิจ สำหรับทุกการขนส่งด้วยยานยนต์ไฟฟ้า

EleXA: ผู้ช่วยคู่ใจ คนใช้ EV โดยนายอภิสิทธิ์ ณัฐวรวโรตม์ หัวหน้าทีมออกแบบประสบการณ์และพัฒนาผลิตภัณฑ์ และนายวาริท ทวีกาญจน์ นักพัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์ม ที่มาเล่าถึงฟีเจอร์ใหม่ของแอพลิเคชัน EleXA ที่พัฒนาอย่างต่อเนื่อง ตอบรับความต้องการของกลุ่มลูกค้า

และ BackEN EV: ระบบบริหารจัดการที่ทำให้การเป็นเจ้าของสถานีชาร์จเป็นเรื่องง่าย โดยนางสาววรางคณา อินเอียว หัวหน้าทีมพัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์ม และนางสาวภาวินี จันทร์ลอย หัวหน้าทีมขายโซลูชั่นยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่ง BackEN EV เป็นระบบบริหารจัดการสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าที่ กฟผ. พัฒนาขึ้น พร้อมให้บริการสำหรับผู้สนใจธุรกิจสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า

นอกจากนี้ ยังมีการเสวนาในหัวข้อ ก้าวต่อไปของผู้ใช้ EV ในประเทศไทย โดยนายชัชวาลย์ วัฒนะโชติ Kim Property Live ที่มาร่วมเปิดมุมมองถึงโอกาสและการเติบโตของตลาดรถยนต์ไฟฟ้าที่จะขยายไปสู่ภาคธุรกิจและภาคขนส่ง ที่คำนึงถึงรักษาสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยคาร์บอน จึงได้ปรับเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น

และ Total Solutions ประสบการณ์ตรงจากเจ้าของสถานีชาร์จ โดยนายอรรถพล ทะแพงพันธ์ iMOD ที่ร่วมกับกลุ่มผู้บริการสถานีชาร์จ ผู้ประกอบการที่ใช้บริการ Total Solutions ของ กฟผ. ในการออกแบบและติดตั้งสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าแบบครบวงจร (one-stop service) ด้วยมาตรฐานความปลอดภัยจาก กฟผ. รวมถึงรูปแบบโมเดลการลงทุนติดตั้งสถานีชาร์จที่เหมาะสมกับธุรกิจแต่ละประเภท ผลตอบแทนจากการลงทุน การเลือกตำแหน่งสถานีที่เหมาะสมกับสถานที่ การควบคุมสถานีด้วยระบบบริหารจัดการ BackEN EV และใช้งานผ่านแอปพลิเคชัน EleXA

สำหรับ ผู้สนใจธุรกิจสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า สามารถติดต่อรับคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจ EV กฟผ. ฟรี และติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ทาง LINE OA: @BackenEV https://egatev.egat.co.th หรือ FB Page: EGAT EV