43 ราย คว้าสิทธิโรงไฟฟ้าชุมชน 150 เมกะวัตต์แรก

ผู้ชมทั้งหมด 1,166 

กกพ.ประกาศผลผู้ชนะการประมูลโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน 150 เมกะวัตต์แรก จำนวน 43 ราย เผยประเภทเชื้อเพลิงชีวมวล อัตราค่าไฟเสนอขายเฉลี่ย 2.79 บาทต่อหน่วย และเชื้อเพลิงชีวภาพ อัตราค่าไฟเสนอขายเฉลี่ย 3.57 บาทต่อหน่วย กำหนดCOD ภายใน 21 ม.ค.2568

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.)  ในฐานะโฆษกคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า มีผู้ได้รับการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก (โครงการนำร่อง) จำนวนทั้งสิ้น 43 ราย คิดเป็นปริมาณพลังไฟฟ้าเสนอขายรวม 149.50 เมกะวัตต์ (ค่าไฟฟ้าเสนอขายเฉลี่ย 3.1831 บาทต่อหน่วย) แบ่งเป็น

โรงไฟฟ้าชุมชนประเภทชีวมวลจำนวน 16 ราย ปริมาณพลังงานเสนอขายรวม 75.00 เมกะวัตต์ (ค่าไฟฟ้าเสนอขายเฉลี่ย 2.7972 บาทต่อหน่วย)

และโรงไฟฟ้าชุมชนประเภทก๊าซชีวภาพรวม 27 ราย ปริมาณพลังไฟฟ้าเสนอขายรวม 74.50 เมกะวัตต์ (ค่าไฟฟ้าเสนอขายเฉลี่ย 3.5717 บาทต่อหน่วย) ตามกรอบเป้าหมายการรับซื้อไฟฟ้าที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) กำหนดเป้าหมายจากเชื้อเพลิงชีวมวล 75 เมกะวัตต์ และเชื้อเพลิงก๊าซชีวภาพ 75 เมกะวัตต์ ทั้งนี้ สามารถแยกเป็นรายภาคได้ดังนี้

สำหรับรายชื่อผู้ที่ผ่านการคัดเลือกเพื่อเสนอขายไฟฟ้าตามอัตราส่วนลด (%) FITF ในโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก (โครงการนำร่อง) จำนวน 43 ราย มีดังต่อไปนี้

ทั้งนี้ ผู้ที่ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการฯ ทั้งหมดจะต้องยอมรับเงื่อนไขการลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ภายใน 7 วันและลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า ภายใน 120 วัน หลังประกาศรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการฯ โดยกําหนดวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ ภายใน 36 เดือนนับจากวันลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า หรือภายในวันที่ 21 มกราคม 2568

อย่างไรก็ตามหากผู้เสนอราคารายใดมีข้อสงสัยและต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมสำหรับการพิจารณาด้านราคาสามารถติดต่อสำนักงาน กกพ. ได้ที่ 0-2207-3599 ต่อ 855 ในวันทำการ เวลา 09.30 – 15.30 น.

โดยสำนักงาน กกพ. จะดำเนินการจัดสัมมนาผู้ผ่านการคัดเลือกเพื่อชี้แจงแนวทางในการพัฒนาโครงการตาม พ.ร.บ. การประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 และการปฏิบัติตามกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง เช่น การเตรียมเอกสารเพื่อประกอบการลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า การจัดเตรียมเอกสาร COP การจัดรับฟังความเห็นเพื่อทำความเข้าใจกับชุมชนในพื้นที่ การขอรับใบอนุญาต และ การจัดตั้งกองทุนพัฒนาไฟฟ้า เพื่อให้สามารถพัฒนาโครงการได้อย่างราบรื่น  อย่างไรก็ตามปัจจัยที่ทำให้โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนฯ ประสบความสำเร็จและเกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนขึ้นอยู่กับความเข้าใจของชุมชน เกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และผู้ประกอบการโรงไฟฟ้า จึงอยากให้ผู้ที่เกี่ยวข้องพัฒนาโครงการแบบถ้อยทีถ้อยอาศัยเพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการและเป็นต้นแบบของโรงไฟฟ้าชุมชนในระยะต่อไป