ผู้ชมทั้งหมด 17,994
กฟผ. กฟน. และ กฟภ. ผนึกกำลังจัดแสดงผลงานนวัตกรรมด้านพลังงานไฟฟ้าครั้งใหญ่ เปิดเวทีเสวนาโชว์ยุทธศาสตร์พัฒนานวัตกรรมสู่ความมั่นคงด้านพลังงาน พร้อมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้สู่การต่อยอด รองรับการเปลี่ยนผ่านทิศทางพลังงานโลกและสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับคนไทย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2566 3 การไฟฟ้าจัดงานแสดงผลงานนวัตกรรม (Show and Share, Innovation for the better life) เป็นครั้งแรก เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านการวิจัยพัฒนา สิ่งประดิษฐ์ และนวัตกรรม รวมทั้งส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาต่อยอด ตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าของผู้บริโภค โดยมี นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) นายวิลาศ เฉลยสัตย์ ผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และนายศุภชัย เอกอุ่น ผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ร่วมเปิดงานและมีนักประดิษฐ์จากทั้ง 3 การไฟฟ้า พร้อมทั้งหน่วยงานด้านนโยบายและกำกับดูแลกิจการด้านพลังงาน หน่วยงานด้านวิจัยของประเทศ ภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม และประชาชนที่สนใจ เข้าร่วมงานอย่างคับคั่ง ณ ห้องวิภาวดีบอลรูม โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ เซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว
ภายในงานมีการจัดแสดงนิทรรศการผลงานวิจัยพัฒนา สิ่งประดิษฐ์ และนวัตกรรมของทั้ง 3 การไฟฟ้า กว่า 30 ผลงาน ทั้งงานพัฒนาและบำรุงรักษาระบบไฟฟ้า งานด้านสังคมสิ่งแวดล้อมและธุรกิจใหม่ และงานบริการ อีกทั้งมีการเสวนายุทธศาสตร์การพัฒนานวัตกรรมจาก 3 ผู้ว่าการ ในหัวข้อ “ยุทธศาสตร์พัฒนานวัตกรรม 3 การไฟฟ้า ที่นำไปสู่ความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าของประเทศ” การเสวนาโครงการความร่วมมือของ 3 การไฟฟ้า ในหัวข้อ “EV Roaming” รวมถึงการเสวนาย่อยของแต่ละองค์กรอีก 17 หัวข้อ
จากการเสวนาพิเศษหัวข้อ “ยุทธศาสตร์พัฒนานวัตกรรม 3 การไฟฟ้า ที่นำไปสู่ความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าของประเทศ” 3 การไฟฟ้ามีความร่วมมือกันในการพัฒนานวัตกรรม 3 เรื่องใหญ่ ๆ คือ 1) การศึกษาการพัฒนาโรงงานรีไซเคิล และกำจัดซากโซลาร์เซลล์และแบตเตอรี่ 2) Sharing of Energy Information and Technology (Big Data) และ 3) โครงการความร่วมมือ 3 การไฟฟ้า EV Roaming
สำหรับยุทธศาสตร์ด้านนวัตกรรมของ กฟผ. นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการ กฟผ. กล่าวว่า กฟผ. วางยุทธศาสตร์ด้านนวัตกรรมไว้ 4 ด้าน ได้แก่ 1) เพิ่มประสิทธิภาพธุรกิจปัจจุบันด้วยนวัตกรรม 2) นวัตกรรมขับเคลื่อนภารกิจอนาคต 3) นวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน และ 4) สร้างคน กฟผ. ให้เป็นผู้สร้างนวัตกรรม โดย กฟผ. สนับสนุนผู้ปฏิบัติงานวิจัยพัฒนา คิดค้นสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง สำหรับนวัตกรรมโดดเด่นของ กฟผ. ที่นำมาจัดแสดงในครั้งนี้ คือ ระบบแจ้งจุดขัดข้องในสายส่ง แบบติดตั้งภายในสถานี (EGAT Line Fault Locator) เป็นหนึ่งในนวัตกรรมที่มีความพิเศษ ที่สามารถบันทึกเหตุการณ์ของสายส่งได้อย่างแม่นยำ อีกทั้งสามารถควบคุมทางไกลเพื่อเฝ้าระวังตลอด 24 ชั่วโมง มีการแจ้งเตือนไปยังโทรศัพท์มือถือเมื่อเกิดเหตุขัดข้อง จึงสามารถนำไปใช้กับงานตรวจสอบสายส่งก่อนนำเข้าใช้งาน งานบำรุงรักษาสายส่ง หรือการพยากรณ์ระบบสายส่ง ช่วยลดเวลาและกำลังคนในการเข้าถึงพื้นที่ในการตรวจหาจุดขัดข้องได้ เพื่อสร้างความมั่นคงให้กับระบบไฟฟ้าของประเทศ และทำให้ประชาชนได้ใช้ไฟฟ้าอย่างมีคุณภาพและประสิทธิภาพ
ด้าน นายวิลาศ เฉลยสัตย์ ผู้ว่าการ กฟน. กล่าวว่า กฟน. มีการวางยุทธศาสตร์ด้านบริหารจัดการนวัตกรรมไว้ 3 กลยุทธ์ เพื่อให้วิถีชีวิตเมืองมหานครดียิ่งขึ้น ได้แก่ 1) การวางโครงสร้างพื้นฐานให้เอื้อต่อการสร้างสรรค์นวัตกรรม 2) การเสริมสร้างวัฒนธรรมที่มุ่งเน้นความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม และ 3) การพัฒนานวัตกรรมเพื่อตอบสนองลูกค้าผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและความยั่งยืนขององค์กร หนึ่งในผลงานเด่น ๆ ที่ กฟน. นำมาจัดแสดงในครั้งนี้คือโครงการ Smart Metro Grid ที่เปลี่ยนมิเตอร์จานหมุนและมิเตอร์อิเล็กทรอนิกส์ในปัจจุบันให้เป็นสมาร์ทมิเตอร์ที่สามารถอ่านหน่วยได้อัตโนมัติและลูกค้าสามารถตรวจสอบการใช้ไฟฟ้าได้ รวมถึงสามารถวิเคราะห์ข้อมูลไฟฟ้าขัดข้องและจ่ายไฟฟ้าคืนพื้นที่ที่ไม่เกี่ยวข้องได้อย่างรวดเร็ว ช่วยวางแผนขยายระบบจำหน่าย รองรับการให้บริการการขอใช้ไฟฟ้าใหม่ อีกทั้งยังรองรับการเป็นผู้รวบรวมโหลด (Load Aggregator) ลดปัญหาด้านพลังงานไฟฟ้าไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ไฟฟ้าในสภาวะฉุกเฉิน และสามารถสื่อสาร แลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างระบบต่าง ๆ ของ กฟน. ได้
ด้านนายศุภชัย เอกอุ่น ผู้ว่าการ กฟภ. กล่าวว่า กฟภ. สร้างบรรยากาศและทรัพยากรให้เพียงพอต่อการส่งเสริมผู้ปฏิบัติงานให้เกิดความคิดสร้างสรรค์และสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน ขยายผลสู่การใช้งานภายในองค์กรและเชิงพาณิชย์ จึงได้วางยุทธศาสตร์ด้านนวัตกรรมไว้ 3 ประการ ได้แก่ 1) การพัฒนายกระดับกระบวนการจัดการนวัตกรรม 2) การสร้างค่านิยมและเสริมสร้างวัฒนธรรมด้านความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม และ 3) การนำความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมมาใช้ประโยชน์ โดยในงานนี้ กฟภ. โชว์ผลงาน PEA VOLTA DC25 ซึ่งเป็นเครื่องอัดประจุไฟฟ้ากระแสตรง สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าขนาด 25 kW สามารถนำไปติดตั้งในพื้นที่สาธารณะได้ โดยให้บริการอัดประจุไฟฟ้าผ่าน PEA VOLTA Application สร้างความสะดวกสบายและความเชื่อมั่นให้ผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ลดการนำเข้าเทคโนโลยีต่างประเทศ ลดต้นทุนการผลิต ส่งเสริมระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้า
3 การไฟฟ้ามุ่งส่งเสริมงานวิจัยพัฒนา สิ่งประดิษฐ์ และนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง โดยบูรณาการความร่วมมือระหว่างกัน พร้อมขยายความร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน ให้การผลิต จัดหา และส่งจ่ายไฟฟ้าของประเทศมีคุณภาพ เสถียรภาพ และความมั่นคง สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับคนไทยอย่างยั่งยืน