29 มี.ค.นี้ รฟท.เซ็นITD UNIQ CAN3สัญญา“ไฮสปีดไทย-จีน”

ผู้ชมทั้งหมด 2,003 

รฟท. เตรียมลงนามกับ ITD  UNIQ และกลุ่มกิจการร่วมค้า CAN ก่อสร้างงานโยธาอีก 3 สัญญาโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน วันที่ 29 มี.ค.นี้ มูลค่าโครงการรวม 2.75 หมื่นล้านบาท ชี้ล่าช้ากว่าแผน 1 ปี

ทั้งนี้แหล่งข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพมหานคร – หนองคาย (รถไฟความเร็วสูงไทย-จีน) ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร – นครราชสีมาระยะทาง 253 กิโลเมตร แบ่งการก่อสร้างงานโยธาออกเป็น 14 สัญญา มีกรอบวงเงินรวมของโครงการ 179,412.21 ล้านบาท โดยระบุว่า ในวันที่ 29 มีนาคม 2564 รฟท.เตรียมลงนามสัญญาโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เพิ่มอีก 3 สัญญามูลค่ารวม 27,527 ล้านบาท ประกอบด้วย สัญญา 4-3 ช่วงนวนคร – บ้านโพ ระยะทาง 23 กม. วงเงิน 11,525 ล้านบาท โดยกลุ่มกิจการร่วมค้า CAN ประกอบด้วย บริษัท ไชน่า สเตท คอนสตรัคชั่น เอ็นจิเนียริ่งคอร์ปอเรชั่น จำกัด, บริษัท เอ.เอส แอสโซซิเอท เอนยิเนียริ่ง (1964) จำกัด และบริษัท เนาวรัตน์พัฒนาการ จำกัด (มหาชน) หรือ NWR

สัญญา 4-4 งานโยธาศูนย์ซ่อมบำรุงเชียงรากน้อย วงเงิน 6,573 ล้านบาท โดยบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD และสัญญา 4-6 ช่วงพระแก้ว – สระบุรี ระยะทาง 31.60 กม. วงเงิน 9,429 ล้านบาท ผู้ได้สิทธิ์ดำเนินโครงการเป็นบริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ UNIQ  

ขณะที่สัญญา 4-2 ช่วงดอนเมือง – นวนคร ระยะทาง 21.80 กม. วงเงิน 8,626 ล้านบาท ผู้ชนะการประมูล โดยกลุ่มกิจการร่วมค้า SST ประกอบด้วย บริษัท ซิโนไฮโดร จำกัด, บริษัท สหการวิศวกร จำกัด และบริษัท ทิพากร จำกัด ได้ข้อสละสิทธิ์ และ รฟท.อยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะเรียกผู้ประกอบการที่เสนอราคาต่ำสุดเป็นอันดับที่ 2 มาต่อรองราคา หรืออาจจะประกวดราคาใหม่ ส่วนสัญญา 4-5 ช่วงบ้านโพ – พระแก้ว จ.อยุธยา ระยะทาง 13.30 กม. วงเงิน 9,913 ล้านบาท นั้นทางกรมศิลปากรแจ้งว่ารูปแบบบสถานีบดบังทัศนียภาพสถานโบราณทางประวัติศาสตร์จ.อยุธยา อาจจะต้องดำเนินการประกวดราคาใหม่ ซึ่งจะต้องเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปีนี้

ส่วนสัญญาที่ 4-1 ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ระยะทาง 15.21 กม. วงเงิน 18,000 ล้านบาททางรฟท.รอความชัดเจนการออกแบบโครงสร้างในการก่อสร้างที่จะต่อเชื่อมกับโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน คาดว่าจะมีความชัดเจนภายในไตรมาส 2/2564 หลังจากนั้นจะดำเนินการในขั้นตอนการประกวดราคาต่อไป โดยในสัญญานี้คาดว่าจะต้องโอนงานในส่วนความรับผิดชอบของผู้ชนะการประกวดราคาโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินที่รับผิดชอบงานก่อสร้างตอม่อให้เป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เพื่อไม่ให้เกิดความล่าช้าในการก่อสร้าง ส่วนสัญญา 3-1 ช่วงแก่งคอย – กลางดง และช่วงปางอโศก – บันไดม้า ระยะทาง 30.21 กม. วงเงิน 11,000 ล้านบาทอยู่ในขั้นตอนขอการวินิจฉัยของศาลปกครองกลางว่าจะให้เอกชนที่ชนะการประกวดราคาดำเนินโครงการได้ หรือให้รฟท.ยกเลิกสัญญาแล้วเริ่มดำเนินการประกวดราคาใหม่

สำหรับสัญญาที่อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างในปัจจุบัน 6 สัญญา ประกอบด้วย สัญญา 2-1 ช่วง สีคิว-กุดจิก ระยะทาง 11 กม. มูลค่า 3,114 ล้านบาท บริษัท ซีวิลเอนจีเนียริง จำกัด (มหาชน) หรือ CIVIL เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง โดยการก่อสร้างมีความคืบหน้า 60% ส่วนอีก 5 สัญญาที่ได้ลงนามเมื่อเดือน พฤศจิกายน 2563 ที่ผ่านมานั้นอยู่ระหว่างดำเนินการปรับพื้นที่ก่อสร้าง ซึ่งประกอบด้วย สัญญาที่ 3-2 งานโยธาสำหรับงานอุโมงค์ (มวกเหล็กและลำตะคอง) มูลค่า 4,279 ล้านบาท ดำเนินการ โดย บริษัท เนาวรัตน์พัฒนาการ จำกัด (มหาชน) NWR สัญญาที่ 3-3 งานโยธาสำหรับช่วงบันไดม้า-ลำตะคอง มูลค่า 9,837 ล้านบาท ดำเนินการโดยบริษัท ไทยเอ็นยิเนียร์และอุตสาหกรรม จำกัด

สัญญาที่ 3-4 งานโยธาสำหรับช่วงลำตะคอง-สีคิ้ว และช่วงกุดจิก-โคกกรวดมูลค่า 9,848 ล้านบาท ดำเนินการโดยบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD สัญญาที่ 3-5 งานโยธาสำหรับช่วงโคกกรวด-นครราชสีมา มูลค่า 7,750 ล้านบาท ดำเนินการโดย บริษัท กิจการร่วมค้าเอสพีทีเค จำกัด (ซึ่งประกอบด้วย บริษัท นภาก่อสร้าง จำกัด บริษัท ทิมเซคาร์ตาร์ เอสดีเอ็น บีเอชดีจำกัด และบริษัท บิน่า พูรี่ เอสดีเอ็น บีเอชดี จำกัด และสัญญาที่ 4-7 งานโยธาสำหรับช่วงสระบุรี-แก่งคอย มูลค่า 8,560 ล้านบาท ดำเนินการโดย บริษัท ซีวิลเอนจีเนียริง จำกัด (มหาชน) หรือ CIVIL

อย่างไรก็ตามโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีนระยะที่ 1 ที่ผ่านมานั้นดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จเพียง 1 สัญญา คือ สัญญา 1-1 ช่วงกลางดง-ปางอโศก อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ระยะทาง 3.5 กิโลเมตร มูลค่า 362 ล้านบาท โดยในภาพรวมทั้งหมด 14 สัญญานั้นถือว่าการดำเนินงานก่อสร้างล่าช้า 1 ปี เนื่องจากบางสัญญาติดปัญหาการฟ้องร้อง บางสัญญาติดปัญหาเรืองแบบ ซึ่งรฟท.จะเร่งดำเนินโครงการเพื่อไม่ให้ล่าช้ากว่าแผนไปมากกว่านี้ โดยคาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปี 2569 จากแผนเดิมกำหนดเปิดบริการในปี 2568