ผู้ชมทั้งหมด 429
13 สายการบินภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกร่วมขับเคลื่อนธุรกิจการบินพร้อมให้บริการเส้นทางบินเดิมทุกเส้นทางเหมือนช่วงก่อนโควิด-19 ขณะที่ “การบินไทย” จ่อเพิ่มฝูงบินตอบโจทย์ปริมาณผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
เมื่อวันที่ 11 พ.ย. ที่โรงแรมอวานี พลัส กรุงเทพฯ นายสุวรรธนะ สีบุญเรือง รักษาการแทนประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทการบินไทยฯ เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมใหญ่ประจำปี AAPA 66th Assembly of Presidents Bangkok 2022 ระหว่างวันที่ 10-11 พ.ย. 2565 โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมจากสายการบินสมาชิก จำนวน 13 สายการบิน รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมการบิน จำนวนกว่า 120 คน เข้าร่วม
นายสุวรรธนะ กล่าวอีว่า การประชุมดังกล่าวเพื่อให้ผู้บริหารระดับสูงของสายการบินสมาชิก AAPA จำนวน 13 สายการบินชั้นนำในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ได้แก่ ออลนิปปอนแอร์เวย์ แอร์แอสตานา บางกอกแอร์เวย์ คาเธ่ย์แปซิฟิคแอร์เวย์ ไชน่าแอร์ไลน์ อีวีเอแอร์เวย์ การูด้าอินโดนีเซีย เจแปนแอร์ไลน์ มาเลเซียแอร์ไลน์ ฟิลิปปินส์แอร์ไลน์ รอยัลบรูไนแอร์ไลน์ สิงคโปร์ แอร์ไลน์ และการบินไทย รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมการบิน ร่วมประชุมหารือประเด็นต่างๆ รวมทั้งกฎเกณฑ์ด้านการบินที่มีผลกระทบต่อสายการบินสมาชิก ทั้งในปัจจุบันและอนาคต รวมถึงการเสวนา (Panel Discussion) จากผู้เชี่ยวชาญในประเด็นและมุมมองแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่มีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการบินและการท่องเที่ยวในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ทั้งนี้ เพื่อพัฒนาและขับเคลื่อนธุรกิจการบินให้มีประสิทธิภาพทันต่อสถานการณ์ของโลกปัจจุบัน
นายสุวรรธนะ กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์ของสายการบินในเวลานี้ ปริมาณผู้โดยสารเริ่มกลับมาอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดความหนาแน่น ขณะที่การให้บริการของแต่ละสายการบินยังกลับมาไม่เต็ม 100% ซึ่งในส่วนของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีการเติบโตของผู้โดยสารและเที่ยวบินที่ยังช้าอยู่ เมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นๆ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากจีนที่ยังไม่เปิดประเทศ ทำให้ยังไม่มีประชาชนเดินทางออกมานอกประเทศ แต่หากไม่นับรวมจีนก็จะเห็นว่า แนวโน้มธุรกิจการบินกลับมาแล้วประมาณ 70-80% แล้วเมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดไวรัสโควิด-19 ทั้งนี้จากการหารือเบื้องต้นของทั้ง 13 สายการบินเห็นตรงกันว่า ยังไม่ใช่เวลาที่จะเปิดเส้นทางการบินใหม่ แต่เป้นช่วงเวลาที่ควรให้บริการในเส้นทางการบินเดิมที่แต่ละสายการบินเคยเปิดให้บริการอยู่แล้วไปก่อน
นายสุวรรธนะ ล่าวว่า ในส่วนของการบินไทยนั้น ในภาพรวมของธุรกิจนั้นกลับมาทำการบินได้ 70% แล้วเมื่อเทียบกับช่วงปี 2562 หรือก่อนเกิดไวรัสโควิด-19 ซึ่งปัจจุบันการบินไทยเปิดให้บริการในเส้นทางการบินทั้งในและต่างประเทศรวม 68 เส้นทาง ซึ่งยังไม่เท่าช่วงก่อนเกิดไสรัสโควิด-19 ที่เปิดให้บริการกว่า 80 เส้นทาง ส่วนอัตราการบรรทุกผู้โดยสารขณะนี้สูงสุดอยู่ที่ราว 80% และมีปริมาณผู้โดยสารเฉลี่ย 2 หมื่นคนต่อวัน
อย่างไรก็ตามแนวโน้มการฟื้นตัวของปริมาณผู้โดยสารมีอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นการบินไทยได้พิจารณาแผนจัดหาอากาศยานเสริมฝูงบินเพื่อให้เพียงพอต่อการให้บริการจากปัจจุบันที่การบินไทยและไทยสมายล์มีอากาศยานให้บริการรวม 64 ลำ และในปี 2567 น่าจะมีอากาศยานเพิ่มสำหรับให้บริการรวมประมาณ 70 ลำ ซึ่งน่าจะเพียงพอต่อปริมาณของผู้โดยสาร ทั้งนี้การบินไทยได้รับอนุมัติจากกระทรวงคมนาคมให้จัดหาฝูงบินเพิ่มเติมรุ่น A350-900 จำนวน 2 ลำ มีกำหนดทยอยรับมอบลำแรกในเดือน มี.ค.2566 และอีกลำภายในปี 2566
นอกจากนี้ การบินไทยยังได้รับการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ให้จัดหาอากาศยานเพิ่มเติมอีก 4 ลำ และการบินไทยยังมีแผนจะทยอยจัดหาอากาศยานในปีหน้าเพิ่มเติมอีก 5 ลำ โดยจะเป็นการจัดหาในลักษณะเช่า และจะเช่าในอากาศยานรุ่นใหม่ที่มีเทคโนโลยีทันสมัย เพื่อให้บริการผู้โดยสารได้หลากหลายและตอบโจทย์มากขึ้น
นายสุวรรธนะ กล่าวว่า ขณะเดียวกันการบินไทยยังนำเครื่องบินเก่ามาซ่อมบำรุงและนำกลับมาใข้งานจำนวน 5 ลำ คือ โบอิ้ง 777-200ER จำนวน 2 ลำ และแอร์บัส A330 จำนวน 3 ลำ และยังอยู่ระหว่างพิจารณาทบทวนนำเอาอากาศยานที่ปลดระวางแล้วมาซ่อมบำรุงเพื่อกลับมาใช้เพิ่มเติม อาทิ แอร์บัส A380 เนื่องจากขณะนี้ดีมานด์การเดินทางของผู้โดยสารเพิ่มอย่างก้าวกระโดด ขณะที่อากาศยานในตลาดก็มีความต้องการสูง เพราะหลังโควิด-19 คลี่คลายหลายสายการบินทยอยจัดหาอากาศยานเสริมฝูงบินมากขึ้น
ด้าน นายกรกฏ ชาตะสิงห์ ประธานเจ้าหน้าที่สายการพาณิชย์ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า แนวโน้มการเดินทางของผู้โดยสารในขณะนี้เป็นสัญญาณบวก โดยยอดจองล่วงหน้า (บุ๊กกิ้ง) ช่วงวันหยุดยาวปีใหม่ปัจจุบันเฉลี่ยในระดับ 65-70% ซึ่งการบินไทยก็ได้เดินหน้าเปิดเส้นทางบินอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้โดยสาร และมีเป้าหมายที่จะกลับไปทำการบินในทุกเส้นทางบินที่เคยเปิดให้บริการช่วงก่อนเกิดไวรัสโควิด-19 และจะทยอยเปิดให้บริการเป็นเที่ยวบินประจำทุกวันในเส้นทางที่ได้รับความนิยม โดยเฉพาะเส้นทางในยุโรป