“ไทย” – “เยอรมนี” ร่วมมือด้านระบบรางหนุนไทยเป็นแหล่งซ่อม แหล่งผลิต

ผู้ชมทั้งหมด 820 

“ไทย” – “เยอรมนี” ร่วมมือด้านระบบราง ช่วยหนุนไทยเป็นแหล่งซ่อมสร้าง แหล่งผลิต และแหล่งรวมวิทยาการระบบราง “ศักดิ์สยาม” ลั่นคมนาคมลุยพัฒนาโครงการรถไฟฟ้ากทม. – ปริมณฑล ภายในปี 75 มี 14 เส้นทาง ขณะที่รถไฟทางคู่ในปี 72 เพิ่มเป็น 3,327 กม. เชื่อมโยงการขนส่งอาเซียน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และนายเกออร์ก ชมิดท์ เอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีประจำประเทศไทย ร่วมปาฐกถาการประชุม German – Thai Conference ในหัวข้อ “The Future is Rail” และร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามความตกลงเพื่อความร่วมมือด้านระบบรางระหว่างสมาคมอุตสาหกรรมระบบรางในเยอรมนี และประธานสมาคมระบบรางเยอรมัน – ไทย

โดยมี นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางราง ผู้แทนสำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วยแขกผู้มีเกียรติ ได้แก่ ศ.ดร.นิสัย เฟื่องเวโรจน์สกุล ประธานสมาคมระบบรางเยอรมัน-ไทย และนายอักเซล ชุพเพ่ (Axel Schuppe) ผู้จัดการสมาคมอุตสาหกรรมระบบรางในเยอรมนี และผู้แทนภาคเอกชนและภาควิชาการที่เกี่ยวข้องกับภาคอุตสาหกรรมระบบรางทั้งของไทยและเยอรมนี

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางระบบรางและการขนส่งสาธารณะเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญภายใต้คำแถลงนโยบายของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยกำหนดให้การคมนาคมทางระบบรางรางเป็นรูปแบบการคมนาคมหลักของประเทศ สามารถรองรับการขนส่งและการเดินทางต่อเนื่องหลายรูปแบบได้อย่างไร้รอยต่อ

โดยคำนึงถึงแนวคิดเรื่องความสะดวก ความปลอดภัย ตรงต่อเวลา และความคุ้มค่า รวมถึงช่วยลดการใช้พลังงานซึ่งอาจบรรเทาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในภาคการขนส่ง และเพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว กระทรวงคมนาคมจึงให้ความสำคัญต่อการกำหนดแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งทางราง ซึ่งเป็นแผนแม่บทในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการรถไฟของไทยตลอดจนระดับการให้บริการ

ทั้งนี้แผนดังกล่าวเป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของระบบรางในอนาคต และการให้บริการระบบรางสาธารณะด้วยการใช้ประโยชน์จากนวัตกรรม เทคโนโลยีใหม่ และเทคนิคการจัดการที่มีประสิทธิภาพ เพื่อลดต้นทุนการขนส่งสินค้ารวมทั้งปรับปรุงประสิทธิภาพการบริการในประเทศไทย โดยกระทรวงคมนาคมได้ร่วมทำงานอย่างใกล้ชิดกับภาคเอกชนในการแก้ปัญหาการขนส่งจากรถบรรทุกเป็นระบบราง นอกจากนี้ยังมีโครงการ MR Map ที่จะส่งเสริมการบูรณาการแนวทางการแก้ปัญหาการขนส่ง และการจราจรทางรถไฟที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ควบคู่ไปกับการเติบโตของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างเป็นระบบเพื่อจัดการกับปัญหาการจราจรติดขัดและมลภาวะในกรุงเทพฯ และจังหวัดใกล้เคียง

พร้อมกันนี้กระทรวงคมนาคมยังคงมุ่งมั่นพัฒนาโครงการรถไฟฟ้าในเขตปริมณฑลต่อไป ปัจจุบันมี 11 เส้นทางและภายในปี 2579 จะมี 14 เส้นทาง รวมระยะทาง 554 กิโลเมตร ระบบรถไฟฟ้าไม่เพียงแต่ลดการใช้ยานพาหนะส่วนบุคคล แต่ยังช่วยปรับปรุงการสัญจรภายในเมืองอีกด้วย นอกจากนี้ เราวางแผนที่จะพัฒนาระบบขนส่งไฟฟ้าในเมืองใหญ่อื่นๆ เช่น จังหวัดเชียงใหม่ ภูเก็ต และนครราชสีมาในการเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ในภูมิภาค

รัฐบาลไทยเล็งเห็นถึงการใช้รถไฟเป็นรูปแบบหลักในการเชื่อมต่อการขนส่งทุกรูปแบบ ตั้งแต่ท่าเรือทางทะเล สนามบิน และท่ารถบรรทุก ภายในปี 2572 กระทรวงคมนาคมจะขยายโครงข่ายรถไฟทางคู่เพิ่มจาก 173 กิโลเมตรเป็น 3,327 กิโลเมตร เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการขนส่งและโลจิสติกส์ภายในประเทศ ปัจจุบันมีโครงการรถไฟความเร็วสูง 2 โครงการอยู่ระหว่างการก่อสร้าง โครงการเหล่านี้เป็นโครงการเชิงยุทธศาสตร์ในการเชื่อมต่อภายในภูมิภาคอาเซียน

ประเทศเยอรมนีเป็นหนึ่งในผู้นำด้านอุตสาหกรรมระบบรางที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โดยได้วิจัยค้นคว้าและผลิตเทคโนโลยีระบบรางมาอย่างยาวนาน โครงการรถไฟฟ้าหลายโครงการได้ใช้เทคโนโลยีจากประเทศเยอรมนี จึงมั่นใจว่าฝ่ายเยอรมนีจะสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบรางของประเทศไทยเพื่อช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย สามารถเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะได้อย่างเท่าเทียมเช่นเดียวกับในเยอรมนี

อย่างไรก็ตามเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2564 กระทรวงคมนาคมของไทยและเยอรมนีได้ลงนามในข้อตกลงขยายระยะเวลาร่วมประกาศเจตจำนง (JDI) ว่าด้วยความร่วมมือในการพัฒนาทางรถไฟในประเทศไทย โดยขยายเวลา JDI 2 ครั้ง นับตั้งแต่ลงนามครั้งแรกเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน ค.ศ. 2016 ความร่วมมือทวิภาคีภายใต้ JDI ได้นำไปสู่ความคิดริเริ่มที่มีแนวโน้มดีหลายประการ รวมถึงการจัดตั้ง GTRA ตลอดจนความร่วมมือทางวิชาการระหว่างมหาวิทยาลัยของไทยและเยอรมนี

โดยทั้งสองฝ่ายจะร่วมแบ่งปันประสบการณ์ รวมถึงการแลกเปลี่ยนให้ความรู้และฝึกอบรมในทุกระดับเพื่อสนับสนุนการพัฒนาระบบรถไฟในประเทศไทย ให้ประเทศไทยเป็นแหล่งซ่อมสร้าง แหล่งผลิตและแหล่งรวมวิทยาการระบบรางที่เป็นรูปธรรมภายใต้นโยบาย Thai First เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของอุตสาหกรรมระบบรางในประเทศไทยในอนาคตอันใกล้นี้ต่อไป