“ไทย – สหรัฐฯ” ถกความร่วมมือด้านพลังงานสะอาด รับเทรนด์ปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์

ผู้ชมทั้งหมด 950 

ไทย – สหรัฐฯ หารือสร้างความร่วมมือด้านพลังงาน มุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero  ขณะที่ สหรัฐฯ พร้อมหนุนถ่ายทอดองค์ความรู้ การศึกษาวิจัย เทคโนโลยี และเงินทุน พัฒนานวัตกรรมด้านพลังงาน รวมถึงการจัดตั้งโครงการนำร่องด้านพลังงานสะอาดในไทย หวังส่งเสริมไทยเร่งเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดได้ราบรื่น

วานนี้ (31 สิงหาคม 2565) นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน เปิดเผยว่า  กระทรวงพลังงานได้มีการประชุมหารือทวิภาคีร่วมกับกระทรวงพลังงานสหรัฐอเมริกา นำโดย นาย David Turk Deputy Secretary, U.S. Department of Energy เกี่ยวกับความร่วมมือด้านพลังงานไทย – สหรัฐฯ ภายใต้กรอบความร่วมมือต่าง ๆ ที่มีอยู่ อาทิ เวทีหารือเชิงนโยบายด้านพลังงานระหว่างสหรัฐอเมริกาและไทย (United States-Thailand Energy Policy Dialogue: UTEPD) ข้อริเริ่มความต้องการใช้พลังงานสะอาด ระหว่างรัฐบาลไทยและภาคเอกชนของสหรัฐฯ (Clean Energy Demand Initiative: CEDI) และความร่วมมือภายใต้กรอบความร่วมมือหุ้นส่วนด้านพลังงานแม่น้ำโขงระหว่างญี่ปุ่น-สหรัฐฯ (Japan-U.S. Mekong Power Partnership: JUMPP) เป็นต้น

โดย ฝ่ายไทยได้นำเสนอนโยบายด้านพลังงานที่มุ่งเน้นการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดเพื่อบรรลุเป้าหมายการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ อาทิ การพัฒนาพลังงานสะอาด การอนุรักษ์พลังงาน เชื้อเพลิงไฮโดรเจน เทคโนโลยีการดักจับ กักเก็บและใช้ประโยชน์คาร์บอน และยินดีที่จะร่วมมือกับฝ่ายสหรัฐฯ ภายใต้ข้อเสนอข้อริเริ่ม “Net Zero World Initiative” ที่สหรัฐฯ ได้เสนอในระหว่างการประชุม ซึ่งเป็นข้อเสนอความร่วมมือที่จะให้การสนับสนุนไทยในด้านการถ่ายทอดองค์ความรู้และสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญ การศึกษาวิจัย เทคโนโลยี และเงินทุนสำหรับพัฒนานวัตกรรมด้านพลังงาน รวมถึงการจัดตั้งโครงการนำร่องด้านพลังงานสะอาดในประเทศไทย เพื่อช่วยส่งเสริมให้ไทยสามารถเร่งการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานได้อย่างราบรื่น

อย่างไรก็ตาม ทั้งสองประเทศมุ่งส่งเสริมประเด็นความร่วมมือด้านพลังงานที่สำคัญร่วมกัน ได้แก่ การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน การพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลในภาคไฟฟ้า น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ LNG การพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานสะอาด ระบบกักเก็บพลังงาน ไฮโดรเจน ยานยนต์ไฟฟ้า และการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน

ทั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องร่วมกันว่า การร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนของทั้งสองประเทศ (Public Private Partnership: PPP) รวมถึงบทบาทของสถาบันทางการเงินเพื่อการพัฒนาของสหรัฐอเมริกา จะเป็นกุญแจสำคัญนำไปสู่โอกาส ทางการค้าและการลงทุนร่วมกันต่อไปในอนาคต ซึ่งทั้งสองประเทศจะมีการหารือและทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดต่อไป