ผู้ชมทั้งหมด 182
“ไทย สมายล์ บัส” โชว์ผลงาน 9 เดือน โต 50% เหตุพฤติกรรมนักท่องเที่ยวนิยมใช้บริการขนส่งสาธารณะเพิ่ม ผู้โดยสารแตะ 4 แสนคนต่อวัน ตั้งเป้าปีหน้า 68 โตต่อเนื่อง พร้อมเปิดรับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ บัตรเครดิต วีซ่า มาสเตอร์การ์ด

นางสาวกุลพรภัสร์ วงศ์มาจารภิญญา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทย สมายล์ บัส จำกัด (TSB) เปิดเผยว่า ภาพรวมของการดำเนินธุรกิจในปี 2567 เติบโตขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งการให้บริการเดินรถของ ไทย สมายล์ บัส มียอดผู้โดยสารเพิ่มขึ้น ส่งผลให้รายได้เพิ่มขึ้นได้อย่างชัดเจน โดย 9 เดือนมีรายได้โตขึ้น 50% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา (EBITDA) เป็นบวกตั้งแต่เดือน 9 หรือช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี จากเดิมที่ตั้งเป้าว่า EBITDA จะเป็นบวกในไตรมาสที่ 4 โดยมีปัจจัยหลักมาจากการที่ผู้ประกอบการเดินรถในกรุงเทพฯ – ปริมณฑล ได้มีการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่เส้นทางปฎิรูป 100% ทำให้ผู้ประกอบการทุกรายเข้ามาอยู่ในกฎกติกาเดียวกัน รวมถึงการถอดถอนของกลุ่มผู้ให้บริการรถร่วม
ขณะเดียวกัน TSB มีการปรับปรุงระบบปฎิบัติการภายใน ทั้งการควบคุมคุณภาพการเดินรถ พัฒนาบุคลากร จัดทำให้การเดินรถมีมาตรฐาน มีความแน่นอนมากขึ้นในหลายเส้นทาง สะท้อนได้จากข้อร้องเรียนพฤติกรรมการขับขี่ของกัปตันเมล์ลดลง แต่ก็ยอมรับว่า ยังมีบางกลุ่มเส้นทางที่ผู้โดยสารไม่ตอบสนอง ทำให้รายได้ยังคงอยู่ในระดับต่ำ จึงได้จัดทำแผนพัฒนาให้เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ยอดผู้โดยสารในปัจจุบันเพิ่มขึ้นมาเฉลี่ยวันละ 3.8 – 4 แสนคนต่อวัน จากช่วงต้นปีอยู่ที่ 2.5 แสนคนต่อวันเท่านั้นสอดคล้องกับจำนวนรถของ TSB ที่ได้เติมรถเข้าระบบเพิ่มขึ้นกว่า 32% มีจำนวนรถที่ให้บริการเฉลี่ยวันละ 1,650 คัน (ไม่รวมรถหมุนเวียน) จากเดิมที่มีรถให้บริการในช่วงต้นปีอยู่ที่ 1,251 คันและในปีหน้ายังคงมีแผนเพิ่มรถให้บริการไปอยู่ในระดับ 2,000 คันต่อวัน
อย่างไรก็ตามในปี 2568 บริษัทจะยังยึดแนวทาง 4 ข้อ ได้แก่ 1.การพัฒนาคุณภาพการให้บริการ 2.พัฒนาบุคลากร 3.พัฒนาเป็นระบบเดินรถ และ 4.ใช้เทคโนโลยีเข้ามาส่งเสริมการทำงาน เชื่อว่าจะช่วยให้สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืนแน่นอน


นอกจากนี้ ในปีหน้าบริษัทจะติดตั้งระบบการติดตามการปล่อยรถ ยกระดับให้เหมือนหอบังคับการบิน คือรถทุกคันของ TSB จะสามารถมอนิเตอร์รถได้อย่างเรียลไทม์ ห่างกันกี่นาที เข้าป้ายกี่โมง สภาพการจราจร ไปจนถึงการแจ้งไปยังรถที่อยู่บนถนนให้สามารถรู้ระยะห่างของแต่ละคันได้ พร้อมพัฒนาบุคลากรในส่วนควบคุมควบคู่กันไปด้วย ดังนั้น TSB จะเป็นเจ้าแรกที่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาจับ ไปจนถึงฝึกสอนบุคลากรทั้งระบบ ควบคุมคุณภาพด้วยระบบเทคโนโลยี สร้างการเติบโตให้อุตสาหกรรมรถเมล์ของไทยอย่างยั่งยืน
นางสาวกุลพรภัสร์ กล่าวอีกว่า ในช่วงเทศกาลปีใหม่นี้ เป็นช่วงเวลาที่มีผู้ใช้บริการระบบขนส่งสาธารณะจำนวนมาก โดยเฉพาะการเดินทางออกต่างจังหวัด แต่การจะไปขึ้นรถโดยสารสาธารณะ ย่อมต้องพึ่งพาบริการขนส่งชนิดอื่น ๆ เพื่อฟีดผู้คนเดินทางต่อไปต่างจังหวัด ขณะเดียวกันแม้ผู้โดยสารในกรุงเทพฯ ในช่วงเทศกาลจะลดน้อยลง แต่บริษัทในฐานผู้ให้บริการรถเมล์ไฟฟ้า ยังคงจัดรถโดยสารให้บริการตามปกติเต็มรูปแบบ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่พี่น้องประชาชนที่อยู่ในกรุงเทพฯ – ปริมณฑล โดยตระหนักถึงความปลอดภัยในการเดินทาง จึงได้ดำเนินมาตรการยกระดับความปลอดภัยอย่างเต็มรูปแบบ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้โดยสารและอำนวยความสะดวกในการเดินทางอย่างราบรื่น พร้อมเปิดตัวคลิปวีดีโอสาธิต “ขั้นตอนความปลอดภัยบนรถเมล์ไฟฟ้า ไทย สมายล์ บัส”
สำหรับมาตรการที่ดำเนินการ พนักงานทุกคน โดยเฉพาะกัปตันเมล์ ซึ่งปัจจุบันมีจำนวน 2,500 คน และบัสโฮสเตส มีจำนวน 2,600 คน จะต้องผ่านการตรวจสอบร่างกายและความพร้อมก่อนออกปฏิบัติหน้าที่ทุกครั้ง โดยจะมีการตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์เป็นศูนย์ พร้อมกับตรวจสารเสพติด ก่อนออกขับรถและให้บริการพี่น้องประชาชนในช่วงเทศกาลปีนี้ ทั้งนี้หากพบไม่ปฏิบัติตามมาตรการด้านความปลอดภัย บริษัทฯพร้อมดำเนินการตามกฎระเบียบ จะมีผลให้พ้นสภาพจากการเป็นพนักงานทันที เพราะเรากำหนดนโยบายต้องใส่ใจความปลอดภัยของผู้โดยสารเป็นสิ่งสำคัญ
ขณะเดียวกันตรวจเช็กสภาพรถอย่างละเอียด รถเมล์ไฟฟ้าทุกคันของ TSB จะได้รับการตรวจสอบระบบไฟฟ้า ระบบเบรก ยาง และอุปกรณ์ความปลอดภัยอื่น ๆ โดยทีมช่างผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้มั่นใจว่ารถทุกคันพร้อมใช้งานในช่วงเทศกาลที่มีความต้องการสูง, เพิ่มการอบรมพนักงานขับรถ พนักงานขับรถได้รับการอบรมเกี่ยวกับการขับขี่เชิงป้องกัน (Defensive Driving) รวมถึงการบริหารจัดการความปลอดภัยในสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อเสริมสร้างความมั่นใจในการให้บริการ
ด้านนายวรวิทย์ ชาญชญานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ฝ่ายปฏิบัติการและกลยุทธ์ บริษัท ไทย สมายล์ บัส จำกัด กล่าวว่า การให้บริการของบริษัทฯ ที่ปัจจุบันได้รับใบอนุญาตอยู่ 124 เส้นทาง พร้อมกับได้ให้บริการช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่เป็นการชั่วคราว (ใบอนุญาต ม.41) จำนวน 8 เส้นทาง โดย TSB พร้อมขยายช่วงจากเส้นทางใกล้เคียงเดิม ให้พี่น้องประชาชนได้รับความสะดวกมากที่สุด หรือหาก กรมการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคม มีการเปิดเส้นทางเพิ่มเติมบริษัทฯ ก็พร้อมพิจารณาเข้าร่วมต่อไปเพื่อสร้างโครงข่ายคมนาคมขนส่งที่มีประสิทธิภาพ
ขณะเดียวกันเครือ ไทย สมายล์ บัส เตรียมเดินหน้าขยายการเปิดรับชำระค่าโดยสาร ด้วยบัตรสวัสดิการแห่งรัฐในช่วงต้นปี 2568 ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการหารือกับ กรมการขนส่งทางบก และธนาคารกรุงไทย เบื้องต้นจะมีการใช้แอปพลิเคชัน “ถุงเงิน” เป็นตัวรับเงินก่อน คาดได้ใช้จริงในช่วงไตรมาส 1 ปี
นอกจากนี้ TSB ได้วางแผนขยายระบบชำระเงิน (Payment) ด้วยการเปิดรับบัตรเดบิต เครดิต จากสองค่ายใหญ่อย่าง Visa กับ Master Card ให้ผู้ใช้บริการมีทางเลือกมากขึ้น รวมถึงการเจาะกลุ่มนักท่องเที่ยวจีนเพิ่มเติมผ่านระบบ China T-Union รองรับบริการแก่นักท่องเที่ยวจีน ชำระค่าโดยสารอัตรา (Flat Rate) เพียง 25 บาทต่อเที่ยว รวมค่าทางด่วน ค่าจอดรับ-ส่งสนามบิน
ดังนั้นในปี 2568 จึงตั้งเป้าตัวเลขผู้โดยสารอยู่ที่ 4.5-4.8 แสนคนต่อวันคาดว่าส่วนหนึ่งจะมาจากนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะชาวจีน ที่มีพฤติกรรมในการเดินทางเปลี่ยนไปจากเดิมที่มาเป็นกรุ๊ปทัวร์ก็มาเดี๋ยวหรือเป็นคู่มากขึ้น ซึ่งคนกลุ่มนี้นิยมใช้บริการขนส่งสาธารณะ เนื่องจากช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้ จึงจะส่งผลต่อตัวเลขผู้โดยสารที่จะเพิ่มขึ้น
นายวรวิทย์ กล่าวอีกว่า สำหรับเส้นทางที่ทำรายได้มากสุด 5 สาย ได้แก่ สาย2-38 หรือสาย8เดิม มีรายได้ต่อวันอยู่ที่ 358,328 บาท และมีผู้โดยสาร 20,500คน , สาย 4-25 หรือสาย 147L เดิม มีรายได้ต่อวันอยู่ที่ 250,421 บาท และมีผู้โดยสาร 14,000 คน, สาย 4-46 หรือสาย 84 เดิม มีรายได้ต่อวันอยู่ที่ 240,000 บาท และมีผู้โดยสาร 13,000 คน , สาย 4-23E หรือสาย 140เดิม มีรายได้ต่อวันอยู่ที่ 237,192 บาท และมีผู้โดยสาร 12,000 คน และสาย 1-18E หรือสาย 504 เดิม มีรายได้ต่อวันอยู่ที่ 177,159 บาท และมีผู้โดยสาร 9000 คน
ทั้งนี้ปัจจุบัน TSB ให้บริการอยู่ที่ 2.3-2.4 แสนเที่ยวต่อเดือน มีอัตราการเกิดอุบัติเหตุทั้งหมดทั้งเป็นฝ่ายถูกและผิด จำนวน 400 กรณี หรือ คิดเป็น 0.21% แต่อัตราการเกิดอุบัติเหตุจากพนักงาน TSB มีเพียง 0.1% เท่านั้น แต่บริษัทก็ยังตั้งเป้าให้อุบัติเหตุเป็นศูนย์